logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

ประกันสะสมทรัพย์กับวิกฤต COVID-19

โดย คุณบุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

วิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลให้หลายๆ ท่านต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อของออนไลน์มากขึ้น ลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ค่าใช้จ่ายบางอย่างก็เปลี่ยนไป เช่น ค่าเดินทางอาจลดลง แปรเปลี่ยนไปเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคและอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นแทน ท่านที่บริหารเงินได้ดีมีเงินสำรองฉุกเฉินที่เคยเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน คงรู้สึกอุ่นใจว่าหากมีความจำเป็นก็สามารถนำเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายได้ แต่ท่านที่ยังกังวลกับสถานการณ์ COVID-19 ว่าอาจยืดเยื้อไปอีกหลายเดือนจนถึงเป็นปี แล้วต้องการเตรียมเงินฉุกเฉินให้มากขึ้น ในเวลานี้ท่านผู้อ่านสามารถสำรวจแหล่งเงินออมหรือทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งนี้ บทความนี้ขอเสนอแนวทางสำหรับท่านที่ได้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มาหลายปี โดยสามารถนำเงินจากประกันออกมาใช้และกระทบกับสัญญาประกันให้น้อยที่สุด

 

อย่างแรกที่ท่านผู้ถือกรมธรรม์สามารถทำได้ คือ ตรวจสอบเงินคืนรายงวดระหว่างสัญญา รวมถึงเงินปันผล ที่เลือกสะสมไว้ในกรมธรรม์ว่าเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ ตัวอย่างเช่น นายคิดดีได้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และชำระเบี้ยทุกปีเป็นเวลา 10 ปี ต่อมานายคิดดีประสบวิกฤตเศรษฐกิจจาก COVID-19 ธุรกิจได้รับผลกระทบ และรายได้ที่นำมาจุนเจือครอบครัวก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นายคิดดีสามารถตรวจสอบมูลค่าเงินสะสมในกรมธรรม์ว่าปัจจุบันมีมูลค่าเท่าใด ถ้าเพียงพอกับความต้องการ นายคิดดีสามารถถอนเงินจากกรมธรรม์ในส่วนนี้ออกมาได้ สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้ยังคงครบสมบูรณ์ นายคิดดีและครอบครัวยังคงได้รับผลประโยชน์จากกรมธรรม์นี้เช่นเดิม

 

แต่หากผลกระทบทางการเงินในยามวิกฤตนี้มีมาก ทำให้นายคิดดีต้องการปรับปรุงหรือพัฒนากิจการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่ามูลค่าเงินที่สะสมไว้ในกรมธรรม์ ขณะที่การทำเรื่องขอกู้ธนาคารอาจใช้เวลาในการพิจารณา ด้วยความจำเป็นนี้ นายคิดดีสามารถกู้ยืมเงินจากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ของตัวเองได้ โดยยังได้รับความคุ้มครองชีวิตจากประกัน ถ้านายคิดดีจากไปก่อนวัยอันควร ครอบครัวจะไม่เดือดร้อนมากนัก ซึ่งการกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตนั้น บริษัทประกันส่วนใหญ่จะให้วงเงินไม่เกิน 80-90% ของมูลค่ากรมธรรม์ปัจจุบัน และคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% จากอัตราดอกเบี้ยที่นำมาคำนวณเบี้ยประกัน

 

สมมติว่านายคิดดีได้ทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มีทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยในการคำนวณเบี้ยประกันอยู่ที่ 5% ต่อปี มูลค่ากรมธรรม์ปัจจุบัน 600,000 บาท และสามารถกู้ยืมได้วงเงิน 80% ของมูลค่ากรมธรรม์ นั่นคือนายคิดดีสามารถกู้เงินได้จำนวน 480,000 บาท (600,000 x 80%) ที่อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี (5%+2%) ซึ่งอัตรานี้น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตที่มักจะมีอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 18% ต่อปี

 

นอกจากนี้ การกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในวันทำการเมื่อมีเล่มกรมธรรม์และหลักฐานการแสดงตัวตนของเจ้าของกรมธรรม์ครบถ้วน ซึ่งช่วยลดความกังวลกับระยะเวลารอคอยจากแหล่งเงินอื่นเพื่อมาจุนเจือครอบครัวหรือธุรกิจ ทั้งนี้ผู้กู้ควรชำระคืนเงินกู้จากกรมธรรม์ให้เร็ว เพื่อรักษาหลักประกันในอนาคตให้กับครอบครัว เพราะเงินประกันชีวิตที่ครอบครัวได้รับจะถูกหักด้วยจำนวนเงินกู้และดอกเบี้ย เช่น ทุนประกันชีวิต 1 ล้านบาท เงินกู้ยืม 480,000 บาท และดอกเบี้ยสะสม 20,000 บาท เมื่อผู้กู้หรือเจ้าของกรมธรรม์ได้จากไป ครอบครัวจะได้รับเงินทั้งหมด 500,000 บาท (1,000,000 – 480,000 – 20,000) แต่หากก่อนเสียชีวิต ผู้กู้ได้ชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ครบแล้ว ครอบครัวก็จะได้รับทุนประกันชีวิตเต็มจำนวน 1 ล้านบาท

 

วัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ของหลายๆ คนคือ การได้รับเงินก้อนใหญ่เมื่อครบกำหนดสัญญา รวมถึงมีหลักประกันให้กับครอบครัว แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่ชัดเจนนักรวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจ และครอบครัว หากจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน เจ้าของกรมธรรม์สามารถกู้เงินที่เข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และดอกเบี้ยต่ำกว่าแหล่งเงินกู้แหล่งอื่น และเมื่อนำเงินมาชำระคืน ท่านยังคงมีแผนประกันที่ตั้งใจทำไว้เพื่อความมั่นคงทางการเงินของท่านและครอบครัว

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th