บทความ: บริหารจัดการเงิน
เจ้าของธุรกิจบริหารเงินอย่างไรให้ธุรกิจมั่นคง เจ้าของมั่งคั่ง
โดย คุณรัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
หลายท่านที่เป็นเจ้าของธุรกิจอาจพบว่า ขายสินค้าได้มาก มีกำไรเยอะ แต่ทำไมไม่มีเงินจ่ายค่าสินค้าหรือเงินเดือนพนักงาน และรู้สึกว่าจะต้องหมุนเงินอยู่ตลอดเวลา บางรายก็อาจขอวงเงินกู้จากธนาคารได้ และบางรายที่ไม่สามารถขอวงสินเชื่อจากธนาคารได้ ก็อาจต้องหาเงินทุนหมุนเวียนจากแหล่งเงินทุนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งหลายท่านอาจเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ขายดีจนเจ๊ง” หรือผู้ประกอบการหลายรายประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทำไม่ไหว และอาจไม่เคยคิดว่าจะเกษียณหรือส่งมอบธุรกิจให้กับลูกหลาน บทความนี้จึงหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เจ้าของธุรกิจอาจใช้ในการบริหารการเงินสำหรับธุรกิจของตัวเองให้มั่งคั่ง โดยที่ตนเองและครอบครัวมีฐานะการเงินที่มั่งคั่งแข็งแรงไปพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจ
บทความนี้ผู้เขียนจึงนำมุมมองการบริหารการเงินของเจ้าของธุรกิจร้านอาหารเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งก่อตั้งมากว่า 40 ปี สืบทอดจากรุ่นที่ 1 มาจนปัจจุบันบริหารร่วมกันโดยรุ่นที่ 2 โดยผู้เขียนได้ไปสัมภาษณ์เจ้าของร้านมาแลกเปลี่ยนซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของธุรกิจบ้าง
กำไรก็สำคัญ แต่กระแสเงินสดสำคัญกว่า
การบริหารธุรกิจไม่ควรดูแต่เพียงกำไร ควรพิจารณาถึงการบริหารเงินทุนหมุนเวียน ให้มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะจ่ายชำระค่าสินค้า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ เงินเดือนพ่อครัวและพนักงาน ค่าซ่อมแซมปรับปรุงร้าน ฯลฯ เพื่อให้ไม่เกิดการขาดสภาพคล่อง กรณีธุรกิจร้านอาหาร โดยส่วนใหญ่ซื้อขายเป็นเงินสด (ไม่มีเครดิต) เช่น ต้องซื้อวัตถุดิบรายวันเป็นเงินสด และรับเงินจากลูกค้าที่มารับประทานเป็นเงินสดเช่นกัน หากร้านอาหารอยู่ในทำเล ที่รายได้มีความไม่แน่นอนขึ้นกับช่วงเวลา และช่วงวันทำงานหรือวันหยุด การประมาณการซื้อวัตถุดิบให้เพียงพอกับการจำหน่ายอาหาร โดยไม่มากน้อยเกินไปจนเสียโอกาสที่ไม่มีของขาย และไม่มากเกินไปจนเกิดการเน่าเสีย โดยเงินหมุนเวียนจากการซื้อขายจะต้องเพียงพอ ที่จะสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ต่างๆ เช่น เงินเดือนพ่อครัวและพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ได้ กรณีที่ต้องกู้เงินมาจากธนาคาร จะต้องคำนึงว่ามีกระแสเงินสดที่จะสามารถจ่ายค่าผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยได้ นอกจากนี้ ควรมีการแยกเงินจากการใช้จ่ายในธุรกิจกับเงินที่เจ้าของนำไปใช้อย่างชัดเจน ไม่ปะปนกัน เช่น หากเจ้าของนำเงินจากการขายไปใช้ซื้อของส่วนตัว ไปจ่ายค่าเรียนบุตร อาจส่งผลให้เกิดการขาดสภาพคล่องของธุรกิจ ดังนั้น ควรมีการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือนให้เจ้าของชัดเจน
การทำบัญชีรับจ่าย รายงานต่างๆ เพื่อให้ทราบผลประกอบการที่แท้จริง
เนื่องจากการซื้อวัตถุดิบ อาจจะไม่มีเอกสารการซื้อ ทำให้อาจลงบันทึกรายการไม่ครบถ้วน ส่งผลให้ไม่ทราบกำไร (ขาดทุน) ที่เกิดจริง และที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการบางราย อาจไม่ได้แยกเงินจากการประกอบการกับเงินส่วนตัวของเจ้าของ นอกจากจะทำให้ไม่ทราบกระแสเงินสดรับจ่ายที่แท้จริง ยังส่งผลให้ไม่ทราบกำไร (ขาดทุน) ที่แท้จริงของกิจการ จึงควรมีการกำหนดค่าตอบแทนที่จ่ายให้เจ้าของ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปเงินเดือน โบนัส หรือเงินปันผลให้ชัดเจน
เงินสำรองเพื่อขยายธุรกิจและเงินฉุกเฉิน
การจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของ ควรมีความเหมาะสม โดยอาจกันเงินสำรองจากกำไรรายปี เพื่อขยายธุรกิจ และการปรับปรุงซ่อมแซมร้าน โดยอาจใช้เงินกู้ลดลง เพื่อลดภาระการผ่อนชำระรายเดือนและค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย
การบริหารบุคลากรหลัก (Keyman) และการส่งต่อกิจการจากรุ่นสู่รุ่น
ควรมีแผนบริหารบุคลากรหลัก เช่น คนประกอบอาหารหลัก ควบคุมสูตรอาหาร เพื่อให้รสชาติและคุณภาพอาหารคงที่ รวมถึงแผนการส่งต่อกิจการสู่รุ่นถัดไป เนื่องจากวิธีการบริหารในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันและช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ควรมีการจัดการหน้าที่ความรับผิดชอบและค่าตอบแทนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชัดเจนและเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดแย้งทางผลประโยชน์ นำไปสู่ผลเสียในการประกอบธุรกิจ ในบางธุรกิจ อาจไม่มีผู้สืบทอดกิจการ อาจพิจารณาถึงแผนการจำหน่ายธุรกิจออกไป เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ธุรกิจต้องมั่นคง เจ้าของต้องมั่งคั่ง
นอกจากการบริหารการเงิน สภาพคล่องสำหรับธุรกิจแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การบริหารการเงินสำหรับเจ้าของและครอบครัว ซึ่งกรณีกิจการมีการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนให้เจ้าของอย่างชัดเจนแล้ว เจ้าของกิจการควรนำมาบริหารการเงินส่วนบุคคล เพื่อให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอ มีผลตอบแทนที่งอกเงยสำหรับการเกษียณอายุของตัวเองในวันที่ส่งมอบกิจการไป รวมถึงการศึกษาบุตร และการบริหารความเสี่ยงจากเหตุไม่คาดฝัน เช่น อุบัติเหตุ การเจ็บป่วย หรือ การเสียชีวิต ซึ่งหากมีการวางแผนที่เหมาะสมแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ก็จะไม่ส่งผลร้ายต่อครอบครัว รวมถึงธุรกิจ
โดยทั่วไป การบริหารการเงินสำหรับบุคคล ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ
- เตรียมเงินฉุกเฉิน เจ้าของควรมีการเตรียมเงินฉุกเฉินไว้สำหรับตนเองและครอบครัว กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วมต้องซ่อมบ้าน ซ่อมรถ เป็นต้น โดยทั่วไป ควรเตรียมไว้ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยเก็บเงินในที่ที่สามารถนำมาใช้ได้รวดเร็ว เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
- มีแผนบริหารความเสี่ยง เจ้าของควรมีการบริหารความเสี่ยงโดยการถ่ายโอนความเสี่ยงออกไป หากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นมีมูลค่าสูง และอาจส่งผลกระทบต่อเงินออม เช่น การทำประกันรถ การทำประกันอัคคีภัย การทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ รวมถึงการประกันชีวิต ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันสำหรับผู้หารายได้หลัก จะส่งผลกระทบที่น้อยลงสำหรับการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัว และการศึกษาของบุตร เป็นต้น
- เตรียมเงินที่เพียงพอต่อเป้าหมายสำคัญต่างๆ เช่น การศึกษาบุตร และการเกษียณของตนเองและครอบครัว กล่าวคือ เจ้าของกิจการอาจวางแผนการบริหารการเงินเพื่อส่งบุตรเรียนไปจนถึงปริญญาตรีหรือปริญญาโท โดยคำนวณเงินที่จะต้องเตรียมสำหรับค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายในช่วงศึกษา ในระดับการศึกษาต่างๆ ในแต่ละทางเลือกที่ต้องการ เช่น เรียนในประเทศ หรือ เรียนที่ต่างประเทศ เป็นต้น นอกจากการเตรียมเงินให้บุตรแล้ว ควรมีแผนการเงินสำหรับตัวเอง สำหรับวันที่ไม่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ เช่น หากต้องการมีเงินหลังเกษียณใช้จ่าย เป็นจำนวน 100,000 บาทต่อเดือนไปจนถึงอายุ 80 ปี จะต้องคำนวณว่าควรจะมีเงินออม ณ อายุ 60 ปี เท่าใดเป็นต้น
กล่าวโดยสรุป การบริหารธุรกิจในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทั้งจากปัจจัยภายใน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่ายพนักงาน การบริหารทรัพยากรเงินทุนและบุคลากรและการบริหารภาษีแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องพิจารณาเพื่อบริหารความเสี่ยงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐกิจสังคม หรือแม้แต่โรคระบาด ดังนั้นเจ้าของกิจการจึงควรพิจารณาวางแผนให้รอบด้านทั้งแนวรุก และแนวรับ ในการบริหารการเงินสำหรับธุรกิจ และการบริหารเงินสำหรับครอบครัว เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งที่ยั่งยืนสู่ทายาทธุรกิจต่อไป