logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

ต้องรู้อะไรก่อนสร้างหนี้ และยามเป็นหนี้

โดย คุณรัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®

 

หลายท่านอาจเคยเห็น คำเตือนบนฉลากของสินค้าบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภาพ หรือ ข้อความต่างๆ ว่า ถ้าบริโภคหรือเสพเข้าไป จะมีข้อเสีย หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่นต่างๆ นานา แต่ลองสังเกตไหมคะ ว่าทำไมคนบางกลุ่มก็ยังบริโภคอยู่ทั้งที่ตระหนักว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพของเขา ใช่ค่ะ สาเหตุหนึ่งก็คงเพราะสินค้าเหล่านั้นอาจมีสารเสพติด ผู้เขียนเคยสงสัยว่านอกเหนือจากสารที่ทำให้เสพติดแล้ว ยังมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เรายังบริโภคสิ่งเหล่านี้อยู่ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่ดี หรือ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวมากขึ้น เช่น การบริโภคชานมไข่มุกในปริมาณมากเกินไปในแต่ละวัน อาจทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูงและส่งผลทำให้เกิดโรคตามมา เช่นโรคเบาหวาน แต่ก็พบว่า มีหลายท่านก็ยังบริโภคจำนวนหลายแก้วต่อวัน หรือ กรณีการก่อหนี้มากเกินตัว หรือ การก่อหนี้นอกระบบมีผลเสีย แต่ก็พบว่ามีบุคคลที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ไม่ใช่น้อยในสังคม เป็นต้น

 

หรืออาจลองพิจารณาในสิ่งที่ตรงข้ามกันก็ได้ เช่น การออกกำลังกาย หรือ การบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เป็นต้น เราต่างได้รับข้อมูลมาตั้งแต่เราเป็นเด็กๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ดี แต่ทำไมมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ทำตาม ขณะที่คนบางกลุ่มไม่ทำ หรือ กรณีวันขึ้นปีใหม่ เราลิสต์รายการสัก 2-3 ข้อ ที่เราตั้งใจว่าเราจะทำให้สำเร็จสำหรับปีนี้ (New Year’s Resolution) แต่อาจพบว่า เราทำสิ่งนั้นได้สัก 1 – 2 เดือนและก็เลิกทำ โดยให้กำลังใจตัวเองว่า เดี๋ยวไปเริ่มใหม่ปีหน้าก็แล้วกัน

 

ผู้เขียนได้ไปอ่านเจอบทความหนึ่ง ซึ่งนำมาจากหนังสือชื่อ Nudge : Improving Decisions About Health, Wealth, and Happiness (2008) ของ Richard Thaler และ Cass Sunstein ที่ได้พูดเกี่ยวกับระบบการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งมี 2 ระบบ คือ ระบบของสมองที่ตัดสินใจตามประสบการณ์หรือสัญชาตญาณ และระบบของสมองที่ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล อย่างไรก็ตามโดยมากการตัดสินใจของมนุษย์มักจะใช้จากระบบแรกเป็นหลัก คือใช้สัญชาตญาณ ความรู้สึก มากกว่าการใช้เหตุและผล หรือการพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน จากเหตุผลนี้ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เรามักพบพฤติกรรมของมนุษย์ที่ยังคงบริโภคสิ่งที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพทั้งที่ทราบว่ามันไม่ควรกระทำ

 

ดังนั้น หากลองพิจารณาถึง พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงการสร้างหนี้ เราอาจพบว่าบ่อยครั้งที่เราใช้ความรู้สึกเป็นตัวตัดสิน และไม่ได้ตัดสินใจในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองในระยะยาว เช่น เมื่อเราไปห้างสรรพสินค้า บ่อยครั้งเราเห็นสิ่งของหลายสิ่งและรู้สึกอยากได้ และมักจบลงที่เราได้ซื้อสิ่งของเหล่านั้นมามากมาย โดยเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะ เราอาจพบว่ามีสินค้าบางอย่างที่ซื้อมาและไม่ได้ใช้ และที่มากไปกว่านั้นคือเราอาจพบว่าได้ก่อหนี้ขึ้นแล้ว

 

 ต้องรู้อะไรก่อนสร้างหนี้ 

 

ก่อนที่เราจะจับจ่ายใช้สอย ซึ่งอาจนำมาซึ่งการก่อหนี้ในที่สุด ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองใช้เวลาสักครู่เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ก่อนจะจ่ายเงินหรือรูดบัตรเครดิตออกไปค่ะ

 

จำเป็นจริงหรือแค่อยากได้

โดยทั่วไปเราไม่ควรก่อหนี้เกินร้อยละ 30 ของรายได้ ดังนั้น ก่อนจะใช้จ่ายเราควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ ความจำเป็นในที่นี้นอกจากพิจารณาถึงสิ่งที่เราจะต้องบริโภคในการดำรงชีพ ประกอบกับความเหมาะสมกับฐานะ ความพอเพียง เป็นต้น และอาจดูว่าหนี้ที่จะก่อนั้นเป็นหนี้ที่ดี หรือหนี้ที่ไม่ดี เช่น กรณีการกู้เพื่อศึกษาต่อ ถือเป็นการก่อหนี้ที่ดี เพราะเมื่อเรียนจบการศึกษาแล้ว จะทำให้เรามีอาชีพการงานและสร้างรายได้ได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การกู้ยืมเพื่อเปลี่ยนโทรศัพท์ทุกครั้งที่มีการออกรุ่นใหม่ อาจเป็นการก่อหนี้ที่ไม่ดี เป็นต้น เทคนิคง่ายๆ ที่สามารถลองนำไปใช้ คือ หากเราไปห้างสรรพสินค้าและพบสิ่งที่ต้องการซื้อ รวมถึงได้พิจารณาถึงความจำเป็นของสินค้านั้นแล้ว ให้ลองไปเดินเล่นที่อื่นสัก 15-20 นาที และกลับพิจารณาอีกครั้งว่า สิ่งนั้นจำเป็นจริงๆ สำหรับเราหรือไม่ ในบางครั้งเราอาจพบว่า สินค้านั้นไม่ได้จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องซื้อในการพิจารณาครั้งที่ 2

 

กรณีใช้สอยเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการ มีบทความที่น่าสนใจที่กล่าวถึงคำว่า hedonic treadmill ของ CBS Interactive Inc และยกตัวอย่างว่า หากเราได้รถคันใหม่ เราคิดว่าเราจะมีความสุขระดับใด และเราก็คงคิดว่าเราต้องมีความสุขมาก อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่าความสุขนั้นมันอยู่แค่เพียงชั่วคราวและสั้นกว่าที่เราคาด และพบว่าความสุขนั้นก็ลดลงในเวลาต่อมา

 

ดังนั้น หากเราพิจารณาความรู้สึกของเราในเวลาที่ซื้อสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น เมื่อเราได้มา เราพบว่าเราจะมีความสุขเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และความสุขนั้นไม่คงที่อยู่ตลอดไป นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไมหลายครั้งเราจึงมีความต้องการซื้อสินค้าใหม่เรื่อยๆ หรือผู้หญิงบางกลุ่มอาจสร้างความสุข คลายเครียดหรือบำบัดความทุกข์ ด้วยการไปช้อปปิ้ง เป็นต้น ดังนั้น หากเราตระหนักว่า ความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยเพียงเพื่อสนองความสุขนั้น เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว และยังส่งผลให้เรามีหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกด้วย อาจจะทำให้เราลดการใช้จ่ายลงได้

 

ในการบริหารการเงินส่วนบุคคล การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินส่วนบุคคล เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยประเมินศักยภาพทางการเงินของบุคคล โดยประกอบด้วยอัตราส่วนทางการเงินพื้นฐาน ดังนี้

  • อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน* (คำนวณจาก สินทรัพย์สภาพคล่อง / ค่าใช้จ่ายต่อเดือน) แนะนำว่า โดยทั่วไปบุคคลควรดำรงสภาพคล่องไว้เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย 3-6 เดือน กรณีนี้หากมีเหตุฉุกเฉิน เช่น รถเสีย หรือต้องซ่อมบ้านกะทันหัน จะได้ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินด่วนหรือเงินนอกระบบ ซึ่งอาจมีดอกเบี้ยสูง เช่น ร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นต้น

  • อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์* (คำนวณจาก หนิ้สิน / สินทรัพย์) แนะนำว่า เพื่อความมั่นคงทางการเงิน อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ ไม่ควรมากกว่าร้อยละ 50

  • อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้* (คำนวณจาก จำนวนหนี้ที่ต้องชำระ / รายได้) แนะนำว่า อัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำยิ่งดี เพราะแสดงว่าเรามียอดหนี้ที่ต้องชำระน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ เช่น โดยทั่วไปยอดผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต ไม่ควรเกินร้อยละ 10 - 20 ของรายได้ หรือ กรณีหนี้ผ่อนบ้าน ยอดผ่อนชำระไม่ควรเกินร้อยละ 30 ของรายได้ หรือ กรณีหนี้ผ่อนรถ ยอดผ่อนชำระไม่ควรเกินร้อยละ 20 ของรายได้ ทั้งนี้ยอดผ่อนของหนี้ทั้งหมด ไม่ควรเกินร้อยละ 50 ของรายได้
    * ที่มา : เอกสารประกอบ หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP และเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

 ต้องรู้อะไรยามเป็นหนี้ 

 

หากเราเป็นหนี้แล้ว ก่อนอื่นผู้เขียน อยากแนะนำให้ยอมรับและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาค่ะ ผู้เขียนขอแบ่งกลุ่ม ดังนี้

  • มูลหนี้มากกว่าทรัพย์สินที่มีในปัจจุบัน (และไม่มีเงินออม) โดยจำนวนที่ต้องผ่อนชำระมากกว่าเงินคงเหลือรายเดือน หรือ รายได้ที่หักรายจ่ายในแต่ละเดือน ยังไม่เพียงพอที่จะชำระยอดผ่อนรายเดือน กรณีนี้ อาจพิจารณาดูว่าสามารถเจรจากับผู้ให้กู้เพื่อขอผ่อนปรนการชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้หรือไม่ หรือสมัครเข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ของสำนักงานโครงการคลินิกแก้หนี้ และไม่ควรไปกู้ยืมจากแหล่งอื่นที่มีดอกเบี้ยสูง หรือ หนี้นอกระบบ เพื่อมาชำระหนี้ที่มีในปัจจุบันจะส่งผลให้มีหนี้มากขึ้นเป็นลูกโซ่แบบไม่จบสิ้น

  • มูลหนี้น้อยกว่าทรัพย์สินที่มีในปัจจุบัน (มีเงินออม) โดยยังมีรายได้สุทธิจากรายจ่ายรายเดือน เพียงพอที่จะผ่อนชำระรายเดือน กรณีนี้ ผู้เขียนเคยได้รับคำถามจากผู้เข้ารับคำปรึกษาหลายท่านค่ะ ว่าควรเอารายได้สุทธิทั้งหมดไปจ่ายหนี้ หรือ นำเงินออมที่มีอยู่ทั้งหมดไปจ่ายหนี้ดีไหม ประเด็นนี้ เราอาจพิจารณาอัตราส่วนทางการเงินข้างต้นก่อน กรณีเราการดำรงสภาพคล่องพื้นฐานแล้ว เราสามารถดูว่า เงินที่เหลือสร้างผลตอบแทนได้เท่าใด เมื่อเทียบกับดอกเบี้ย เช่น หากเงินออมของเราไปฝาก โดยได้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 1 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของหนี้สินที่มีอยู่ มีอัตราที่สูงกว่า เช่น ร้อยละ 8 ในกรณีนี้ การนำเงินออมบางส่วนไปจ่ายหนี้สินถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

โดยสรุป ก่อนการใช้จ่าย เราควรพิจารณาถึงความจำเป็น และวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อพิจารณาว่า มีสภาพคล่องที่เพียงพอหรือไม่ หนี้สินไม่สูงจนเกินไป รวมถึงมีความสามารถในการชำระหนี้ และเมื่อเราจำเป็นจะต้องก่อหนี้ เราควรบริหารเงินให้มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีมูลหนี้มาก และไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายชำระ ผู้กู้อาจพิจารณาเข้าสู่กระบวนการแก้ไขหนี้ เช่น ขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือเข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้สินลุกลามต่อไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th