logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

เอาชนะเงินเฟ้อที่แท้จริงผ่านการลงทุน

โดย คุณชัยสิทธิ์ นพรุจชโนดม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ถ้าพูดถึงเงินเฟ้อทุกคนจะเข้าใจว่าเงินเฟ้อคือราคาสินค้าที่แพงขึ้น ก็อาจจะใช่แต่อยากจะให้ทำความเข้าใจความหมายอย่างนี้ คือ อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) คือ ดัชนีชี้วัดราคาสินค้าและบริการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น คนชอบเปรียบเทียบกับอาหารประเภท ข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยวในอดีตซัก 20-30 ปีก่อน ราคาประมาณ 5-10 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 40-50 บาท ราคาแพงขึ้น หรือจะเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันในช่วงเวลาเดียวกัน ไม่ทราบว่ามีใครพอทันตอนน้ำมันราคา 8-9 บาทต่อลิตรบ้าง น้ำมันเคยไปแพงสุดๆ ประมาณเกือบ 50 บาทต่อลิตรมาแล้ว แต่ราคาน้ำมันมีการปรับขึ้นลงตามปริมาณอุปสงค์อุปทานของตลาดโลก ถึงอย่างนั้นก็ตามราคาน้ำมันในปัจจุบันก็ไม่ได้กลับไปที่ราคาเดิมในอดีต เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นถึงมูลค่าเงินเราลดลงนั่นเอง ขออธิบายต่อเรื่องอัตราเงินเฟ้อว่าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ 7 หมวด ได้แก่ อาหาร-เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า เคหสถาน การรักษา-บริการ พาหนะขนส่ง-การสื่อสาร บันเทิง การอ่าน การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า Inflation จะรวมการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทุกประเภท จึงจะมีความผันผวนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน
  2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) หมายถึง อัตราเงินเฟ้อจากราคาสินค้าและบริการ ที่ไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด และพลังงาน มารวมคำนวณ จึงมีความผันผวนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

 

การดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อไม่ให้ราคาสินค้าและบริการเกิดความผันผวนเกินไป ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) และการที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้ ก่อนอื่นเราต้องทราบว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นเท่าไร จากข้อมูลสรุปประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (www.bot.or.th) ดังตารางด้านล่าง

 

ร้อยละ

2562*

2563

2564

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

2.4

-5.3 (2.8)

3.0

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

0.7

-1.0 (0.8)

0.3

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน

0.5

-0.1 (0.7)

0.1

หมายเหตุ : * ข้อมูลจริง ( ) รายงานนโยบายการเงิน ธันวาคม 2562

 

อย่างไรก็ตาม การจะเอาชนะเงินเฟ้อควรใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยย้อนหลังที่ผ่านมาหรือเป้าหมายเงินเฟ้อของนโยบายการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ เนื่องจากถ้าดูเฉพาะตัวเลขในปี 2563 ที่เป็นตัวเลขประมาณการจะเห็นว่าเป็นตัวเลขติดลบ เนื่องจากผลกระทบจากไวรัส Covid-19 ที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกปรับตัวลงอย่างรุนแรง รวมถึงปัญหาระหว่างประเทศซาอุดิอาระเบียกับรัสเซีย ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับลดลง เป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2563 กนง. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาทบทวนความเหมาะสมของเป้าหมายเงินเฟ้อร่วมกันและเห็นชอบที่จะใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ต่อปี เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงิน แทนที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 ± 1.5 ต่อปี ซึ่งเป้าหมายใหม่นี้มีองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ดังนั้น การออมหรือการลงทุนเพื่อให้ชนะเงินเฟ้อ หรือทำให้มูลค่าของเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะบั่นทอนให้มูลค่าของเงินลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่แต่ละท่านยอมรับได้ เริ่มจากผลิตภัณฑ์ที่ทุกท่านรู้จักกัน คือการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ มีตั้งแต่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากปลอดภาษี อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับแตกต่างกันตามระยะเวลาแต่ละบัญชีเงินฝากแต่ละประเภทและแต่ละสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยสำหรับบุคคลทั่วไปตั้งแต่ร้อยละ 0.75 – 1.30 ต่อปี ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับขอบล่างคือร้อยละ 1 ต่อปี การเลือกฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะพอเพียงสำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ แต่ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับขอบบนคือร้อยละ 3-4 ต่อปี การฝากเงินเพียงทางเดียวผลตอบแทนที่ได้รับไม่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อได้ บางครั้งอาจจะต้องเปลี่ยนจากการออมเงินเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนผ่านกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือจะเลือกการลงทุนโดยตรงด้วยตัวท่านเอง มีทั้งที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงินหรือสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ตามระดับความเสี่ยงตั้งแต่ระดับต่ำไปจนถึงระดับสูง ขึ้นกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละท่าน สินทรัพย์ในการลงทุนมีตั้งแต่ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน ตราสารทุน ทั้งในและต่างประเทศ ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนและความเสี่ยง รวมถึงสภาพคล่องในแต่ละสินทรัพย์ย่อมไม่เท่ากัน

 

ดังนั้น จากสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน การลงทุนในแต่ละสินทรัพย์มีความผันผวนค่อนข้างมาก ทางเลือกในการลงทุนที่เหมาะสม ควรจัดพอร์ตลงทุนแบบ Global Asset Allocation คือ การจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่หลากหลาย และจัดสรรเงินลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้ความผันผวนในพอร์ตลงทุนโดยรวมลดลงเป็นการกระจายความเสี่ยง สร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่เป็นบวก เนื่องจากผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ในแต่ละปี ไม่มีสินทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดหรือแย่ที่สุดทุกปี ขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเลือกน้ำหนักการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ทุกท่านยอมรับได้ และปรับสมดุลของพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ผลตอบแทนในระยะยาวจึงจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อที่แท้จริงได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th