บทความ: เกษียณ
ท่านกล้าไหม? ทดสอบ ความสามารถ “พร้อมเกษียณ” ด้วย 5 คำถามสำคัญ
โดย คุณกมล กระจ่างวงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
Robert Louis Stevenson (นักประพันธ์) กล่าวว่า “ท่านไม่ควรประเมินแต่ละวันเพียงผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ แต่ควรประเมินจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้เพาะปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวในอนาคต” ดังนั้น เช่นเดียวกัน ท่านจึงควรทบทวนและประเมินความสามารถในการเพาะปลูกความมั่งคั่งเพื่อพร้อมเกษียณสุขด้วยคำถามต่อไปนี้
- ท่านมีเป้าหมายและแผนเพื่อการเกษียณแล้วใช่หรือไม่ (เช่น ได้มีการลงทุนเดือนละ 10,000 บาท 20 ปี เพื่อจะได้มีเงินใช้เมื่อเกษียณ 5 ล้านบาท)
ถ้าตอบ “ใช่” ท่านอาจได้รับตัวเลขเบื้องต้นพร้อมรายละเอียด จากการปรึกษานักวางแผนการเงิน/ผู้รู้จริงจากสถาบันการเงิน จากการอบรมเรื่องการเงินการลงทุน จากงาน SET in the City หรือท่านคำนวณด้วยตนเองโดยใช้โปรแกรมวางแผนการเงินจาก web ของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดี หากแผนนั้นมีความครบถ้วนถูกต้อง เหมาะสมกับท่าน สามารถทำได้ผลจริง และสะกิดให้ท่านทำทันที
ข้อดี คือ “ผู้ที่มีการวางแผนจะทำได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้วางแผน ถึงแม้บางทีพวกเขาอาจไม่ยึดติดกับแผนนักก็ตาม” ตามที่ Sir Winston Churchill กล่าวไว้
- ท่านมั่นใจว่ามีแหล่งรายได้ที่พอเก็บพอใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายเกษียณใช่หรือไม่
ถ้าตอบ “ใช่” ท่านมีทักษะ เก่งในงาน อาจอยู่ในอาชีพ/ธุรกิจที่มั่นคง ได้เปรียบเชิงการแข่งขัน หรือท่านอาจมีฐานะ/รายได้มั่งคั่งเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ถ้าตอบ “ไม่มั่นใจ” ท่านอาจใช้โอกาสนี้สะกิดกระตุ้นให้ท่านไม่ประมาท รีบจัดการงาน จัดการเงินและจัดการดำเนินชีวิตให้บรรลุเป้าหมายเกษียณสุขได้เช่นกัน และบางทีอาจจะทำสำเร็จได้เท่ากัน หรือ มากกว่าผู้ที่ตอบว่า “มั่นใจ”
- ท่านจ่ายเงินให้ตนเองลงทุนก่อนใช้ เป็นลำดับแรก (Pay Yourself First) ใช่หรือไม่
ถ้าตอบ “ใช่” ท่านรักและห่วงใยตนเอง ท่านจึงให้ความสำคัญและทำ 2 สิ่งนี้เป็นลำดับแรกด้วยตนเอง
- ลงทุนเพื่อการเกษียณ โดยสะสมเงินเพื่อสวัสดิการภาคบังคับ/สมัครใจ ครบถ้วนทุกประเภทตามสิทธิและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และยินดีจัดสรรเงินลงทุนเพิ่มเติมเพื่อบรรลุเป้าหมายตัวเงินเพื่อการเกษียณด้วยพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ท่านรับได้
- ลงทุนในตนเอง Warren Buffett แนะนำว่าในบรรดาสินทรัพย์ทั้งหมดที่ท่านมี ตัวท่านมีค่ามากที่สุด ดังนั้น การลงทุนที่ดีที่สุด คือการลงทุนในตัวท่านเอง เช่น ลงทุนเพื่อสุขภาพและจิตใจที่ดี ลงทุนในความรู้ ลงทุนในสิ่งที่ท่านรัก เช่น งานอดิเรก และอาจขยายความถึงการลงทุนเพื่อสร้างมิตรภาพ ความรักความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวและผู้อื่น ความถูกต้องดีงามและประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น
- ท่านมีการใช้จ่ายต่ำกว่าฐานะ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเกษียณใช่หรือไม่
ถ้าตอบ “ใช่” ท่านดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านใช้เงินใช้ชีวิตด้วยสติปัญญาความพอดี เหมาะกับทุกภาวะเศรษฐกิจ เป็นภูมิคุ้มกันในช่วงผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในระดับต่ำ หรือเมื่อประสบวิกฤติทางการเงิน รวมถึงวิกฤติอื่นในชีวิต
ควรทำ การทำบัญชีรับจ่าย งบดุลและงบประมาณค่าใช้จ่าย ร่วมกับวินัยทางการเงิน และการอดทนรอคอย จะช่วยให้ท่านประเมินและควบคุมระดับการใช้จ่ายให้เหมาะสมหรือต่ำกว่าฐานะได้ดีที่สุด
- ท่านมองเห็น และพร้อมรับมือกับอุปสรรค/ความเสี่ยงที่อาจทำให้เป้าหมายเกษียณล้มเหลวใช่หรือไม่
ถ้าตอบ “ใช่” ท่านตั้งมั่นในความไม่ประมาท ท่านเข้าใจความเสี่ยง ความไม่แน่นอนในชีวิต ท่านควรทำดังนี้
- ท่านทำประกันชีวิต/สุขภาพ ของตนเองและประกันภัยสำหรับทรัพย์สิน โดยเลือกแบบ ทุนประกัน เงื่อนไขที่เหมาะสมและจำเป็นตามความสามารถการชำระเบี้ยประกัน ที่สำคัญคือ แม้มีประกันอยู่แล้วท่านก็ไม่ประมาทในการใช้ชีวิตและสุขภาพ ลดความเสี่ยงด้วยการป้องกัน และควบคุมหรือหลีกเลี่ยงตามสมควรแก่กรณี
- ท่านติดตามข่าวสารและรู้เท่าทันกลลวงทางการเงิน ทั้งรูปแบบเดิมและกระแสนิยม เช่น แชร์ลูกโซ่ที่อ้างอิงกับ การลงทุน ขายตรง ขายทัวร์ ลงทุนพืชพันธุ์ forex เงินดิจิตอล บิทคอยน์ จ้างกดไลค์กดแชร์ ฯลฯ การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต เช่น สแกนบัตรเครดิต การถูกรางวัล การชำระค่าสินค้า การแสร้งรักออนไลน์ ฯลฯ ตามแต่มิจฉาชีพจะปั้นแต่ง ซึ่งอาจดูเกินจริงหรือเหมือนจริง จนในที่สุดก็ตรงกับใจและจุดอ่อนของท่าน
- ท่านใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในเรื่องเงิน เช่น ท่านใช้จ่ายตามลำดับความจำเป็น (Need) ก่อนความต้องการ (Want) แม้จะใช้กลยุทธ์การตลาดยุคดิจิตอลสร้างอารมณ์ หรือผู้มีชื่อเสียง ผู้น่านับถือชักชวน ก็ไม่สามารถทำให้ท่านละเลยการใช้เหตุผลก่อนการใช้จ่ายหรือการลงทุนได้ ท่านสามารถแยกเรื่องความสัมพันธ์และเรื่องเงิน เช่น หลีกเลี่ยงการค้ำประกัน ให้ยืมเงิน ให้เพราะความหลง เป็นต้น โดยสรุปคือ ท่านถูกชักจูงหรือหลอกในเรื่องเงิน (และเรื่องอื่น) ยากนั่นเอง
คำถามข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง ท่านควรทบทวนและค้นหาอุปสรรคความเสี่ยงต่อเป้าหมายเกษียณเฉพาะตัวท่าน และหาทางแก้ไขอยู่เสมอ
เฉลยและสรุป ท่านควรตอบ “ใช่” ทุกข้อ (ข้อ 2 ตอบได้ทั้ง ใช่ หรือ ไม่ใช่) แต่ผู้เขียนมีความเห็นว่า ขอเพียงท่านมีความรักตนเอง หวังพึ่งตนเอง ทำสิ่งดีงามให้ตนเอง (ข้อ 3) และมี “ความไม่ประมาท” (ข้อ 5) ทั้ง 2 ข้อน่าจะผลักดันให้ท่านทำทุกข้อเพื่อ “พร้อมเกษียณ” ครับ