บทความ: ลงทุน
บริหารเงินลงทุนอย่างไร หากบริษัทปิดตัว ในช่วง โควิด-19!!!
โดย คุณอรพรรณ บัวประชุม นักวางแผนการเงิน CFP®
ตั้งแต่โรคโควิด-19 จากเชื้อโคโรนาไวรัส เกิดขึ้นมาเมื่อปลายปี 2019 เป็นที่กล่าวขานกันมาตลอด เนื่องจากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลก ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนเมืองที่มีผู้คนคับคั่งให้กลายเป็นเมืองร้าง เปลี่ยนการจราจรที่เป็นอัมพาตให้กลายเป็นถนนว่างเปล่า เปลี่ยนตลาดหุ้นจากหลักพันให้เหลือหลักร้อย และการกักตุนอาหารทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสารปลากระป๋อง น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แม้กระทั่งไข่และขนมปังที่ไม่ใช่ของแห้ง เหตุการณ์แบบนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้บ่อย ดังนั้นด้วยภาวะไม่ปกติแบบนี้ พวกเราต้องคุม “สติ” ให้ดี นอกจากสติแล้ว ในภาวะแบบนี้ หากบริษัทที่ทำงานอยู่ปิดตัวลง เราจะบริหารเงินอย่างไร
พี่จิตสาวใหญ่ใจห้าวผ่านร้อนผ่านหนาวมา 45 ปี ก็หนีไม่พ้นโดนพิษโควิด-19 เข้าไปเต็ม ๆ แบบไม่ทันตั้งตัว ยังดีที่บริษัทที่ทำงานจ่ายเงินชดเชยมาให้ก้อนหนึ่ง ประกอบกับพี่จิตส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงานรวมเบ็ดเสร็จได้เงินมาร่วม 2,500,000 บาท สิ่งที่ต้องจัดการกับเงินก้อนนี้ คือ บริหารจัดการให้มีเงินพอใช้ในระหว่างที่เร่งหางานใหม่ และจะบริหารเงินก้อนนี้อย่างไร ให้พอมีดอกผลมาช่วยเสริมรายได้ สำหรับใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โชคดีที่ผ่านมาพี่จิตไม่เคยก่อหนี้จึงไม่มีเรื่องหนี้สินให้กังวล ในฐานะนักวางแผนการเงินขอแนะนำการบริหารจัดการเงิน ดังนี้
เรื่องสำคัญและจำเป็นที่ต้องคิดถึงแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- ส่วนที่ 1: สำหรับใช้จ่ายในเรื่องกินอยู่ ช่วงนี้ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด แนะนำให้แบ่งเงินจำนวน 300,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายประมาณ 6 เดือน โดยแบ่งเป็นเงินสด 50,000 บาท ส่วนที่เหลือนำไปฝากออมทรัพย์ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนบ้าง
- ส่วนที่ 2: สำหรับลงทุน ในส่วนนี้ต้องกันเงินไว้ก้อนใหญ่หน่อย เพื่อให้เงินมีโอกาสเติบโตขึ้นมาบ้าง ให้จัดสรรเงินจำนวน 2 ล้านบาทไปลงทุน แต่หากกลัวจะขาดทุน แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรแบงค์ชาติ และตั๋วเงินคลัง 500,000-1,000,000 บาท สลากออมสิน 500,000 บาท ส่วนที่เหลือนำไปฝากออมทรัพย์แบบ E-Saving และลงทุนในทองคำ เพื่อรอดูสถานการณ์การลงทุน เงินลงทุนในส่วนนี้เป็นเงินเย็นที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว จึงสามารถรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 1-3% ต่อปี
- ส่วนที่ 3: สำหรับค่าใช้จ่ายในสิ่งที่คาดไม่ถึง เช่น ประกันโควิด-19 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน เพราะก่อนหน้านี้ที่ทำงานมีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเอง และสิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม คือประกันสุขภาพแม้ว่าในปัจจุบันจะมีสุขภาพแข็งแรงก็ตาม
จากการที่บริษัทปิดกิจการพี่จิตยังสามารถใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลจากประกันสังคมได้อีก 6 เดือนและใช้สิทธิว่างงานในส่วนของเงินชดเชยการขาดรายได้เดือนละ 10,500 บาท ระยะเวลา ไม่เกิน 200 วัน* เงินส่วนนี้อาจดูไม่มากนักแต่ก็พอช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของพี่จิตได้บ้าง
แนะนำให้พี่จิตหารายได้เพิ่มเติมให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แม้ว่าจะมีเงินเก็บบ้างก็ตาม งานใหม่ในช่วงนี้ก็หายาก แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ในช่วงนี้สามารถใช้ฝีมือเย็บปักถักร้อยที่ชอบมานานแต่ไม่มีเวลา จัดการปัดฝุ่นจักรเย็บผ้าตัวเก่ง แล้วเริ่มเย็บหน้ากากผ้า เพื่อใช้เอง แจกจ่ายญาติพี่น้อง และเป็นรายได้เสริมได้อีกทาง
นอกจากนี้ ในช่วงพักจากการเย็บหน้ากาก พี่จิตมีเวลาจัดบ้านให้เข้าที่เข้าทาง เจออะไรที่ยังใหม่ไม่ได้ใช้ ก็เลือกเอาไว้ ดีที่พี่จิตชอบสะสมของแปลก ๆ เก๋ ๆ จึงคิดหาช่องทางขายของออนไลน์เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังเป็นการป้องกันตัวเอง ไม่ต้องออกจากบ้านไปพบผู้คน
สำหรับแผนการลงทุนของพี่จิต แม้ว่าจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูงก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ พี่จิตตั้งใจว่าหากสามารถเก็บออมเงินได้มากขึ้น เงินส่วนที่เก็บออมได้จะทยอยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไทย เนื่องจากหุ้นไทยปรับตัวลงมาเยอะ และจากสถานการณ์ในครั้งนี้ พี่จิตยังมองว่าประเทศไทยจะฝ่าวิกฤติไปได้ ในส่วนของการลงทุนในหุ้นรายตัวนั้น พี่จิตคิดว่าต้องหาเวลาศึกษาหุ้นทีละบริษัท ซึ่งใช้เวลานานเกินไป ให้คนที่คุ้นเคยลงทุนให้น่าจะดีกว่า สำหรับเงินลงทุนในส่วนนี้พี่จิตคิดเสมอว่าถ้าขาดทุนจะถือรอเพราะมองว่าในอนาคตน่าจะเติบโตขึ้นได้ และจะไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจในการซื้อขาย
การตกงานครั้งนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อน ที่ยังพอเปิดท้ายขายของ เอาของที่บ้านมาวางขายได้ หรือ เอาเสื้อผ้าที่เคยใส่มาขายมือ 2 ได้ พี่จิตพยายามสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง และให้กำลังใจเพื่อนที่เคยทำงานด้วยกันและประสบปัญหาตกงานด้วยกัน ในตอนนี้สำคัญที่สุดคือมีเงินออมให้เพียงพอ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น พยายามหารายได้ ฝ่าฟัน แล้วเราจะผ่านพ้นไปด้วยกัน
*คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 กรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง รับเงินกรณีว่างงาน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน (บังคับใช้ 2 ปี)