logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ใส่ใจสักนิดกับการลงทุนในตราสารหนี้

โดย คุณนิพจน์ ไกรลาศโอฬาร นักวางแผนการเงิน CFP®, CFA, FRM

 

ปัจจุบันนักลงทุนมีทางเลือกในการออมและการลงทุนที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของตนเองและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองเป็นสำคัญ “ตราสารหนี้” โดยเฉพาะตราสารหนี้ภายในประเทศ น่าจะเป็นสัดส่วนการลงทุนหลักของนักลงทุนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนที่จัดสรรเงินลงทุนเพื่อปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ นอกเหนือจากนี้ เหตุผลที่พอจะสรุปได้เพิ่มเติมที่นักลงทุนมักที่จะกล่าวถึงเวลาลงทุนในตราสารหนี้ ได้แก่

  1. เป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงน้อยกว่าตราสารทุนโดยทั่วไป
  2. ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป
  3. ได้รับผลตอบแทนที่คงที่และสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เผชิญกับความผันผวนทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ และอัตราผลตอบแทนทั่วไปในตลาดตราสารหนี้ที่ลดต่ำมากเมื่อเทียบกับในอดีต ทำให้นักลงทุนต้องใส่ใจในรายละเอียดการลงทุนมากขึ้น บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจึงขอสรุปเป็น 4 ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้

  1. ลงทุนโดยตรงหรือผ่านกองทุนรวม?: หากเป็นผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ระดับสูง และมีความรู้ความชำนาญในการลงทุน การลงทุนโดยตรงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมการจัดการไปได้พอสมควร อย่างไรก็ดี ควรคำนึงถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังผู้ออกตราสารที่ต่างธุรกิจกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับผู้ออกตราสาร สำหรับผู้ลงทุนที่มีสินทรัพย์ไม่มากนัก หรือมีการลงทุนสม่ำเสมอทุกๆ เดือน การลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถกระจายความเสี่ยงตั้งแต่บาทแรกของการลงทุน
  2. อันดับความน่าเชื่อถือและสภาพคล่อง: อันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับมีผลกระทบโดยตรงต่ออัตราผลตอบแทนและสภาพคล่องหากมีการเปลี่ยนมือ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ โดยเฉพาะผู้ออกที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือประเภท non-investment grade (ระดับต่ำกว่า BBB ลงไป) มีความเสี่ยงที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้สูง นักลงทุนควรให้ความระมัดระวังต่อการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือที่แย่ลง โดยเฉพาผู้ลงทุนที่ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะถือตราสารจนครบอายุ
  3. ธุรกิจของบริษัทผู้ออกกับความสามารถในการชำระหนี้: นักลงทุนหลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสภาพคล่องของตราสารที่ถือและความผันผวนของราคา โดยมีความเชื่อที่ว่า ถ้าถือจนครบอายุ ปัจจัยเหล่านี้ก็จะหมดความกังวลไปได้มาก อย่างไรก็ดี ในหลายๆ กรณีผู้ออกตราสารอาจมีช่วงเวลาที่ผลประกอบการตกต่ำและนำไปสู่การขาดสภาพคล่อง และทำให้ผู้ออกผิดนัดชำระหนี้หรือไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นของตราสารหนี้ได้ ซึ่งกรณีนี้นักลงทุนต้องให้ความระมัดระวังและคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ผู้ออกในแง่ของลักษณะการประกอบธุรกิจและแนวโน้มผลประกอบการเสมือนการวิเคราะห์การลงทุนในตราสารทุนทั่วไป และที่สำคัญที่สุด พยายามหลีกเลี่ยงตราสารที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงมากๆ ที่ผู้ออกมีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ และ/หรือ ผลประกอบการที่ไม่สู้ดีนัก
  4. ค่าเสียโอกาสของการลงทุนเชิงเปรียบเทียบ: หากเป็นการลงทุนตรง นักลงทุนควรพิจารณาอายุของตราสารที่เข้าลงทุน และอัตราผลตอบแทนที่เข้าลงทุนให้มีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อ้างอิงทั่วไปปรับด้วยอันดับความน่าเชื่อถือเทียบเคียง เช่น นักลงทุนไม่ควรถือตราสารหนี้ที่มีอายุยาวกรณีที่มีความเชื่อว่า อัตราผลตอบแทนในตราสารหนี้ทั่วไปจะปรับตัวสูงขึ้นมากในอนาคต เพราะจะเสียโอกาสในการเข้าลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และทำให้ราคาของตราสารเดิมที่อยู่ปรับตัวลงจนอาจขาดทุนด้านราคา เป็นต้น

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ด้วยอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของการลงทุนในตราสารหนี้ภายในประเทศ ที่นับวันก็ยิ่งปรับตัวลดลง ตัวอย่างเช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ที่ช่วงต้นปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 2.40% เทียบกับ ระดับปัจจุบันที่ระดับ 1.40% เพื่อลดค่าเสียโอกาสของการลงทุนเชิงเปรียบเทียบ นักลงทุนจึงสมควรพิจารณาถึงการทำ Asset Allocation และผสมสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาว เช่น Property Funds / REITs / Infrastructure Fund, หุ้นปันผลสูง หรือหุ้นต่างประเทศ ทั้งนี้นักลงทุนควรสำรวจตนเองอยู่เสมอในแง่ของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th