บทความ: เกษียณ
แผนลงทุนหลังเกษียณ “ไม่จำเป็นต้องสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเสมอไป”
โดย คุณเสาวลักษณ์ บ่อศิลป์ นักวางแผนการเงิน CFP®
กลุ่มผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น จากสถิติกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 10.67 ล้านคนหรือคิดเป็น 16.06% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด (จำนวนประชากรทั้งหมด 66.42 ล้านคน) (ที่มา: สำนักงานสถิติ ปี 2561 http://www.dop.go.th) และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แนวทางการใช้ชีวิตหลังเกษียณหากปราศจากการวางแผนชีวิตที่ดีแล้ว การจะเกษียณอย่างเกษมอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ดังนั้น ต้องมีหลักในการบริหารจัดการลงทุนที่มีคุณภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเงินก้อนสุดท้ายก่อนลาจากโลกนี้ไป
การวางแผนการเงินหลังเกษียณ แตกต่างจากการวางแผนการลงทุนช่วงก่อนเกษียณ ในแง่ของการสร้างรายได้ เพราะวัยเกษียณเป็นวัยที่หยุดการทำงาน ไม่มีรายได้ประจำ และใช้ชีวิตด้วยเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต ในแง่ของการลงทุน บางท่านอาจจะคิดว่าต้องลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเท่านั้น เพราะกลัวว่าเงินต้นจะสูญหายหากนำเงินก้อนสุดท้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง แต่การทำเช่นนี้ถือเป็นการลดศักยภาพการลงทุนที่ดี เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงต่ำผลตอบแทนมักน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ อันจะส่งผลทำให้มูลค่าของเงินที่ออมสะสมไว้มีค่าน้อยลง อำนาจการซื้อลดลง ดังนั้น หากมีการวางแผนการลงทุนที่ดีเหมาะสมกับเป้าหมาย และระดับความเสี่ยงที่รับได้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายหลังเกษียณสุขได้
เป้าหมายหลังเกษียณ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้เราบริหารเงินได้ง่ายขึ้น เช่น ต้องการใช้เงินต่อเดือน เดือนละ 20,000 บาท ไปตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณเป็นเวลา 25 ปี (คิดเป็นจำนวนเงิน 9 ล้านบาท ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3%) เมื่อเราทราบเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วจะทำให้เราเลือกเครื่องมือการลงทุนได้ง่ายขึ้น
เครื่องมือการลงทุนหลังเกษียณ การจะเก็บเงินสะสม รักษาเงินให้ได้ 9 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอในการใช้จ่ายตามเป้าหมายของเราแล้ว อาจจะเป็นเรื่องที่ยาก บางท่านอาจจะคิดว่า “ทำไมต้องเก็บเยอะจัง” เก็บน้อยกว่านี้ได้ไหม? จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นต้องเก็บเยอะขนาดนั้น เพียงแต่เลือกเครื่องมือการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 5% ต่อปี จากเงินที่ต้องเตรียมไว้ 9 ล้านบาท ก็เตรียมไว้แค่ 4.8 ล้านบาทและนำเงินที่เราเก็บก้อนนี้ไปจัดสรรการลงทุนที่เหมาะสม ก็มีเงินครบ 9 ล้านบาท เห็นไหมละคะว่า “การเลือกเครื่องมือการลงทุนนั้นสำคัญมาก” มันทำให้เราเหนื่อยน้อยลงในการบริหารจัดการเงิน!
รู้จักสินทรัพย์เพื่อการลงทุน สินทรัพย์ที่สามารถใช้ลงทุนได้นั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท หลักๆ คือ
- สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Physical asset) เช่น ที่ดิน คอนโดมิเนียม นาฬิกา เครื่องประดับ กระเป๋า รถยนต์
- สินทรัพย์ทางการเงินที่จับต้องไม่ได้ (Financial asset) ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามระดับความเสี่ยงและผลตอบแทน เช่น สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ (เงินสด เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ) สินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง (ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน) สินทรัพย์เสี่ยงสูง (หุ้นสามัญ ตราสารอนุพันธ์ สินทรัพย์ทางเลือก)
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลังเกษียณ การลงทุนในตราสารที่มีสภาพคล่อง เป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้อยู่ในวัยเกษียณจึงต้องมีการจัดสรรแบ่งเงินบางส่วนเป็นเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากรูปแบบแหล่งที่มาของรายได้ของคนสูงวัยที่ยังทำงานได้ โดยส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 60 ปี วัยเริ่มเกษียณ วัยนี้ยังพอมีรายได้ เช่น ค่าที่ปรึกษา วิทยากร อาจารย์ หรืองานอดิเรก แต่เมื่อเข้าสู่วัยที่ไม่สามารถทำงานได้แล้วโดยส่วนมากจะอยู่ในช่วงอายุ 70 ปี ขึ้นไป ความต้องการด้านสภาพคล่องของเงินสดก็สูงขึ้น ตามตารางด้านล่างนี้
วัยเกษียณ |
เงินสำรอง |
ช่วงเกษียณที่กำลังทำงาน (Active – Retirement) |
6 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ย + ค่ารักษาพยาบาล |
ช่วงเกษียณที่ไม่ได้ทำงาน (Passive – Retirement) |
12 เท่าของรายจ่ายเฉลี่ย + ค่ารักษาพยาบาล |
แนวทางการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) สำหรับพอร์ตหลังเกษียณอายุ
Strategic Asset Allocation (SAA) |
|||
เป้าหมาย |
เงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉิน |
พอร์ตเพื่อใช้จ่ายสำหรับ 1 ปี |
พอร์ตเพื่อสร้างรายได้ |
Cash/Money Market |
50% |
100% |
|
ตราสารหนี้ |
50% |
|
65% |
ตราสารทุน |
|
|
25% |
สินทรัพย์ทางเลือก |
|
|
10% |
ผลตอบแทนคาดหวังต่อปี |
1-2% |
1-2% |
5% |
ความเสี่ยงของผลตอบแทน |
|
|
3% |
ทางเลือกการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย |
กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น |
กองทุนรวมตราสารหนี้ ระยะสั้น |
กองทุนผสมหุ้น (หุ้น 20 - 40%) |
Tip: แนวทางจัดสรรเงินลงทุนเป็นเพียงตัวอย่างของวิธีบริหารเงินลงทุนสำหรับวัยเกษียณเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเงินลงทุนเป็นสำคัญและสามารถใช้เป็นแนวทางสร้างผลตอบแทนตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของวัย 60 กะรัตได้อีกด้วย !