logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ลงทุนอย่างไรไม่ให้ล้มเหลวโดยอาศัย Rules of Thumb

โดย คุณศุมาลิน  อินนุพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

 

 

ประโยค “Rule of thumb” นั้น โดยทั่วไปหมายถึงหลักการง่ายๆ คำแนะนำเบื้องต้นหรือวิธีคิดคร่าวๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับวันนี้เราจะมาเรียนรู้ Rule of thumb ที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ เพื่อเป็นการช่วยเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการง่ายๆในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถนำความรู้นี้ไปปรับใช้ในการลงทุนได้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความล้มเหลวที่อาจเกิดกับการลงทุนของท่าน

 

หลักการ Rule of thumb สำหรับการเงินและการลงทุนนั้นมีมากมาย ในที่นี้จะขอยกเอากฎบางส่วนมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางให้กับนักลงทุนนะคะ

  • Rule of 72 เป็นกฎที่ช่วยในการคำนวณอย่างง่ายๆ เพื่อหาระยะเวลาในการลงทุนที่จะทำให้มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยการนำตัวเลข 72 หารด้วยผลตอบแทนจากการลงทุน ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านนักลงทุนนำเงิน 100 บาท ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปี มูลค่าของเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น 200 บาทในเวลา 7.2 ปี (72÷10)
  • กฎ “120 Minus Your Age” เป็นกฎที่ช่วยผู้ลงทุนในการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (asset allocation) แบบคร่าวๆ โดยผู้ลงทุนควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากับ 120 ลบอายุของผู้ลงทุน เช่น ถ้านักลงทุนอายุ 50 ปี นักลงทุนท่านนี้ควรจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงสูงเท่ากับ 70% ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนเงินลงทุนที่เหลือให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูง สำหรับกฎข้อนี้เดิมใช้ “100 Minus Your Age” คือใช้ตัวเลข 100 แต่เนื่องจากในปัจจุบันอายุขัยเฉลี่ยของคนเรามีอายุยืนยาวขึ้น จึงได้มีการเสนอให้ปรับตัวเลขจาก 100 เป็น 120 ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถปรับใช้ตัวเลขดังกล่าวได้ตามที่ท่านเห็นสมควร
  • “อย่าเอาเงินไปลงกับหุ้นเพียงตัวใดตัวหนึ่ง แต่ให้พยายามกระจายความเสี่ยงไปยังหุ้นหลายๆ ตัว” สำหรับกฎข้อนี้คิดว่านักลงทุนหลายๆ ท่านน่าจะคุ้นเคยและคงกำลังปฏิบัติตามกฎข้อนี้กันอยู่แล้วใช่ไหมคะ?
  • Rule of Thumb ที่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในระยะยาวคือ 4% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากหลายหลายปัจจัย เช่น การขยายตัวของ E-commerce ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น สามารถเปรียบเทียบราคาได้สะดวกขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น
  • คุณควรจะเตรียมเงินเป็นจำนวน 20 เท่าของรายรับรวมทั้งปีก่อนหักภาษีเพื่อไว้ใช้ภายหลังเกษียณ เช่น ถ้าคุณมีรายได้ 1 ล้านบาทต่อปี คุณควรจะเตรียมเงินไว้สำหรับการเกษียณเป็นจำนวน 20 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกฎข้อนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการวางแผนเกษียณเท่านั้น เพราะการคำนวณนี้ไม่ได้คำนึงถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายเลย ท่านนักลงทุนจึงอาจจะนำเอาค่าใช้จ่ายมาปรับใช้ในการคำนวณจำนวนเงินเพื่อการเกษียณด้วยก็จะทำให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมมากขึ้น
  • “4% withdrawal rule” คือ กฎการถอนเงินจากกองทุนที่เตรียมไว้ใช้ยามเกษียณเป็นจำนวน 4% ในปีแรกของการเกษียณ หลังจากนั้นจำนวนเงินที่ถอนแต่ละปีให้ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ เช่น คุณมีเงินที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณ 10 ล้านบาท ในปีแรกของการเกษียณให้คุณถอนเงิน 400,000 บาทสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ปีต่อมาถ้าให้อัตราเงินเฟ้อเป็น 3% คุณจึงควรถอนเงิน 412,000 บาทจากกองทุนเพื่อการเกษียณของคุณ (400,000*1.03) โดยวิธีการนี้เชื่อกันว่าจะทำให้คุณมีเงินใช้เพียงพอสำหรับชีวิตในวัยเกษียณไปประมาณ 30 ปี อย่างไรก็ตาม กฎข้อนี้มีพื้นฐานมาจากการจัดพอร์ตการลงทุนที่มีสัดส่วนของหุ้นที่ค่อนข้างสูงถึง 60% โดยประมาณ ผลตอบแทนคาดหวังของพอร์ตจึงค่อนข้างสูงเช่นกัน กฎข้อนี้จึงไม่อาจใช้ได้กับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงหรือมีการปรับพอร์ตการลงทุนภายหลังเกษียณโดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ประเภทพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ นอกจากนี้กฎข้อนี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.1990 ทำให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆในช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนค่อนข้างมาก เช่น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตค่อนข้างมาก ดังนั้นนักลงทุนที่ต้องการนำกฎข้อนี้ไปใช้ จึงควรต้องปรับปรุงแนวคิดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

 

Rule of Thumb ข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Rule of Thumb ด้านการเงินและการลงทุนที่มีการนำมาใช้กันอีกมากมาย นอกจากนี้ กฎข้างต้นนี้เป็นเพียงคำแนะนำทั่วๆไป โดยไม่ได้คำนึงถึงเป้าหมายและข้อจำกัดด้านการลงทุนของนักลงทุนแต่ละบุคคล ดังนั้นท่านนักลงทุนจึงควรปรับใช้กฎต่างๆ ให้เข้ากับสไตล์การลงทุนหรือเป้าหมายการลงทุนของท่านเอง

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th