บทความ: บริหารจัดการเงิน
เป็นหนี้ให้เป็นสุข
โดย คุณนิคม เจริญสุขโสภณ นักวางแผนการเงิน CFP®
ในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ต่างก็เป็นหนี้เพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง ซึ่งแตกต่างกันไปตามความจำเป็นและความต้องการของแต่ละบุคคล ควรเข้าใจว่าการเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่หรือเลวร้ายเสมอไป เพราะบางอย่างก็จำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากการเป็นหนี้ เช่น บ้าน ที่อยู่อาศัย ถ้าคิดจะเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านด้วยเงินสด โดยที่ปัจจุบันยังคงต้องเสียค่าเช่าอยู่นั้น ไม่แน่ว่าเมื่อถึงยามเกษียณก็ยังไม่สามารถซื้อได้ เพราะราคาบ้านและที่ดินก็เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นต้น หรือบางท่านก็เป็นหนี้เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่จะสร้างรายได้สม่ำเสมอในอนาคต หรือหวังว่าจะเป็น passive income ก็เป็นวิธีที่นิยมทำกัน แต่อย่าลืมนึกถึงเวลาที่ไม่มีคนเช่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือค่าส่วนกลาง (ถ้ามี) ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เราจำเป็นต้องจ่ายประจำด้วย
การที่เราจะเป็นหนี้ให้เป็นสุขได้นั้น จึงขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถบริหารหนี้ได้ดีแค่ไหน ที่จะไม่มารบกวนการใช้จ่ายหรือเป้าหมายการเงินอื่นๆ ของเรา ดังนั้นก่อนที่เราจะตัดสินใจเป็นหนี้หรือก่อหนี้เพิ่ม เราควรวางแผนการเงินสำหรับการบริหารหนี้กันเสียก่อน โดยวิเคราะห์จากอัตราส่วนทางการเงินในด้านสภาพคล่องและด้านหนี้สินของตนเอง อัตราส่วนทางการเงินในด้านสภาพคล่อง จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบว่าเรามีความสามารถจ่ายชำระคืนหนี้ได้ทุกเดือนเป็นประจำโดยไม่เดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งทำให้เห็นภาพในกรณีที่เราขาดรายได้ชั่วคราว หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน เราจะยังคงสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดหรือไม่ อัตราส่วนทางการเงินในด้านหนี้สินจะช่วยให้เราทราบว่าเราเป็นหนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ บางครั้งการเป็นหนี้ในอัตราที่สูงเกินไป อาจทำให้เราไม่มีเงินเก็บออมหรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งทำให้เป้าหมายทางการเงินอื่นๆ เช่น เป้าหมายการเกษียณหรือเพื่อการศึกษาบุตรอาจไม่บรรลุตามที่ตั้งใจ
วิธีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินด้านสภาพคล่อง คำนวณโดย
สินทรัพย์สภาพคล่อง
______________________________
จำนวนยอดหนี้ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน
หากผลลัพธ์ที่ได้มากกว่า 1 คือสามารถชำระหนี้ได้โดยไม่กระทบกับสภาพคล่อง ผลลัพธ์ถ้ายิ่งสูงจะยิ่งดี ถ้าได้น้อยกว่า 1 นั่นหมายความว่า เราจะต้องนำเงินส่วนอื่นมาชำระหนี้เพิ่ม ซึ่งอาจเกินกว่ารายได้ที่หาได้ในแต่ละเดือน
วิธีการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินด้านหนี้สิน คำนวณโดย
มูลค่าเงินที่ผ่อนชำระคืนหนี้สิน x 100 = ความสามารถในการชำระคืนหนี้สิน
___________________________
รายได้หรือรายรับรวม
* ถ้ามีค่าไม่เกิน 35% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีความสามารถเพียงพอในการชำระคืนหนี้สิน
* ถ้าเกิน 45% บ่งบอกว่าอาจไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ถ้าเป็นหนี้สินที่ไม่ใช่การจดจำนอง เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ควรเกิน 20% ของรายได้หรือรายรับรวม
เมื่อได้ทราบถึงวิธีการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินแล้ว ท่านสามารถนำไปวิเคราะห์ได้ทั้งการก่อหนี้ใหม่และมูลค่าหนี้สินที่มีในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อที่ทุกท่านจะได้วางแผนการมีหนี้ได้อย่างสุขใจ และไม่ต้องกังวลในเรื่องการชำระคืนครับ