บทความ: ลงทุน
มีเงินฝากไว้นิ่งๆ จะลงทุนอย่างไร ให้ตรงใจและเป้าหมายที่ต้องการ
โดย คุณบุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®
ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ก็เข้ามา ถึงเวลาที่นักออมและนักลงทุนทั้งหลายได้เริ่มต้นสำรวจและทบทวนการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ของตนเองอีกครั้ง สำหรับวิธีการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและยาวนาน นั่นคือการออมเงินในเงินฝากของธนาคาร ฝากไว้นิ่งๆ สภาพคล่องสูง รับดอกเบี้ยที่แน่นอน แต่ต้องบอกว่าต่ำมาก ความเสี่ยงของการฝากเงินต่ำ แต่ไม่เหมือนกับในอดีต นักออมนักลงทุนทั้งหลายจะมีทางเลือกอย่างไรได้บ้าง การฝากเงินในปัจจุบันยังตรงใจอยู่หรือเปล่า
สมมุติว่า 30 ปีที่แล้ว ผู้ฝากเงินมีเงินฝากแบบประจำในปี 2533 ไว้ 10 ล้านบาท และในปีนั้นได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก 15% ต่อปี เท่ากับว่าผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยหลังหักภาษีเฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาท หน้าที่ผู้ฝากเงินที่ธนาคารเพียงแค่ทำงานหาเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ฝากเงินในธนาคารแบบนี้ก็สะดวกดี และเป็นทางเลือกที่ดีมากทางหนึ่ง หลายท่านอาจคาดหวังในการสร้างกระแสรายได้จากดอกเบี้ยนี้มาเลี้ยงตัวและครอบครัวเมื่อยามหยุดทำงานหลักหรือยามเกษียณ
แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป พร้อมกับดอกเบี้ยธนาคารที่เปลี่ยนแปลง ในปี 2543 ดอกเบี้ยของเงินฝากประจำลดลงเหลือ 4% จากเงินฝาก 10 ล้านบาทที่เคยได้รับดอกเบี้ยเดือนละ 100,000 บาท เหลือเดือนละไม่ถึง 30,000 บาท ปัจจุบันการฝากเงิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยที่ได้รับเฉลี่ยแล้วลดลงเหลือเพียงประมาณเดือนละ 10,000 บาท (ข้อมูลดอกเบี้ยอ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย) จากที่เคยใช้ชีวิตสะดวกสบาย เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศได้บ่อยครั้ง เหลือเพียงลุ้นว่าจะพอเลี้ยงตัวหรือไม่ บวกกับความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ค่าใช้จ่ายนั้นเพิ่มขึ้น แต่เงินที่ได้รับนั้นกลับลดลง
อีกทั้ง พรบ. คุ้มครองเงินฝากได้ปรับลดวงเงินคุ้มครองลง ความมั่นใจกับการรักษาเงินต้นนั้นก็ถูกลดทอน จากวงเงินฝากที่คุ้มครองจำนวน 10 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 11 ส.ค. 2561 – 10 ส.ค. 2562 ถูกลดเป็นวงเงินความคุ้มครอง 5 ล้านบาท ในระหว่าง 11 ส.ค. 2562 – 10 ส.ค. 2563 และหลัง 11 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป วงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อธนาคาร (ข้อมูลอ้างอิงจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก) นั่นคือหากสถาบันทางการเงินที่ผู้ฝากเงินไว้ มีความจำเป็นต้องปิดตัวลง หลังวันที่ 11 ส.ค. 2563 ผู้ฝากจะได้รับเงินอย่างแน่นอนเหลือเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
ปีใหม่นี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกท่านจะได้ทบทวนว่า การฝากเงินไว้นิ่งๆ ในปัจจุบันยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับความต้องการกระแสเงินสดของผู้ฝากเงินหรือไม่ ทั้งวงเงินคุ้มครองเงินฝากก็ลดต่ำลงตามลำดับ หากความต้องการด้านกระแสเงินสดปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์ ผู้ฝากเงินควรพิจารณาทางเลือกอื่นในการลงทุนโดยการศึกษาการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เช่น กองทุนตลาดเงิน และกองทุนตราสารหนี้ ที่มีสภาพคล่องสูง พร้อมกับการทบทวนเป้าหมายเงินที่จะลงทุนนั้น มีกำหนดใช้เมื่อไหร่ เพื่อนำมาใช้จ่าย ตามที่กำหนดไว้ และต้องไม่ลืมพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนนั้นว่าตนเองสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับผลตอบแทนหลังหักภาษีที่ได้รับเพิ่มขึ้น
ส่วนทางเลือกอื่นๆ ของการลงทุนนั้น มีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าลงทุนโดยตรงกับสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Assets) เช่น บ้าน คอนโด ที่ดิน เครื่องประดับ นาฬิกาบางยี่ห้อ รถบางรุ่น หรือลงทุนกับสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) เช่น หุ้นกู้ กองทุน หุ้น เงินสกุลต่างๆ ตราสารอนุพันธ์ ฯลฯ โดยสินค้าทางการเงิน (Financial Products) ดังที่กล่าวมานี้ มีตั้งแต่แบบง่ายไปถึงขั้นซับซ้อน มีทั้งการลงทุนในประเทศเราเองและต่างประเทศทั่วโลก
สำหรับนักลงทุน การกำหนดเป้าหมายการใช้เงินและการลงทุนที่ชัดเจน จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการกำหนดทางเลือกในการลงทุนของแต่ละท่านเอง ตัวอย่างเป้าหมายการลงทุนหลักๆ อันได้แก่
- เป้าหมายการลงทุนเพื่อให้เงินเติบโต เหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนได้ระยะยาว ต้องการลงทุนให้เม็ดเงินลงทุนเติบโตขึ้นโดยรับความเสี่ยงได้ระดับกลางถึงสูง ตัวเลือกสินค้าทางการเงินมีมากมายหลากหลายที่สุดเมื่อเทียบกับเป้าหมายอื่นๆ เคล็ดลับของการบริหารเงินในเป้าหมายนี้ คือความเสี่ยงโดยรวมสามารถทำให้ลดลงได้โดยการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ที่เหมาะสม และลงทุนในระยะยาว จะช่วยลดความผันผวนในระยะสั้นๆ ได้
- เป้าหมายเพื่อรายได้สม่ำเสมอ โดยเน้นการสร้างกระแสเงินสดจากเงินลงทุนเพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายเป็นประจำ ผู้ลงทุนควรรับความเสี่ยงได้บ้าง การเลือกเป้าหมายแบบนี้คล้ายกับการฝากเงิน แต่เป็นการลงทุนที่ได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ย เช่น กองทุนตราสารหนี้ หุ้นกู้ หุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ กองทุนที่มีการจ่ายเงินปันผล กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ซึ่งผู้ลงทุน
จึงต้องทำความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างการฝากเงิน และการลงทุนเพื่อรายได้สม่ำเสมอนี้ - เป้าหมายเพื่ออนุรักษ์นิยมหรือเน้นรักษาเงินต้น นักลงทุนในกลุ่มนี้มักรับความเสี่ยงได้ต่ำสุด เมื่อเทียบกับสองเป้าหมายแรก โดยคาดหวังการเติบโตของเงินเพียงชดเชยค่าเงินที่ด้อยลงจากเงินเฟ้อ คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าเป้าหมายนี้น่าจะเหมาะกับคนสูงวัยเพียงเท่านั้น แต่หากเป้าหมายในการลงทุนเช่นนี้ยังเหมาะกับนักลงทุนวัยหนุ่มสาวที่ต้องการใช้เงินลงทุนนี้ในระยะสั้นๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หากผู้ฝากเงินหรือนักลงทุนมีเงินฝากไว้นิ่งๆ ควรสำรวจดอกเบี้ยจากการฝากแบบเดิมว่าได้รับผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เมื่อเทียบกับเป้าหมายทางการเงินเพื่อกำหนดทางเลือกและกลยุทธ์ในการลงทุนให้ตรงใจและบรรลุเป้าหมายทางการเงินของตนเองและครอบครัวได้อย่างที่ตั้งใจไว้