บทความ: บริหารจัดการเงิน
การบริหารเงินตามพระราชดำรัส
โดย คุณรัตนาวดี อนุสรณ์วงศ์ชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
”ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย
ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ย โดยไม่แตะต้องทุน
ถ้าเราใช้มากเกินไป หรือเราไม่ระวัง
เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2518
จากพระราชดำรัสข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์อย่างมาก ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างหาที่สุดมิได้ บทความนี้ ผู้เขียนจึงขอน้อมนำหลักการตามพระราชดำรัส มาใช้เป็นแนวทางในการบริหารเงิน และแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน เผื่อไปลองปรับใช้ในการบริหารการเงินสำหรับตนเองและครอบครัว
- สะสมเงิน เริ่มที่การเก็บออมเงิน เมื่อเราทำงานหาเงินมาได้แล้ว เราทุกคนควรแบ่งเงินส่วนหนึ่งเพื่อการออม ก่อนจะนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย การออมเงินนั้นจะเป็นการออมเพื่อการใช้จ่ายในอนาคตตามเป้าหมายของทุกท่านเอง ดังนั้น จำนวนเงินที่เราจะออมนั้น ก็ควรจะให้เพียงพอต่อเป้าหมายส่วนบุคคลที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เช่น การใช้จ่ายหลังการเกษียณอายุ หรือ การออมเพื่อการศึกษาของบุตร เป็นต้น
การออมเงิน เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม หากเราสะสมเงินออมอย่างเดียว โดยไม่บริหารให้งอกเงย ในที่สุดแล้ว เงินออมของเราจะมีมูลค่าลดลงจากเงินเฟ้อ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างของเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงิน เช่น หากย้อนไปสัก 20 ปี เราอาจซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ในราคา 25-30 บาท แต่ในปัจจุบัน ราคาของก๋วยเตี๋ยวส่วนมากปรับขึ้นเป็น 50-60 บาท เป็นต้น ดังนั้น เราควรบริหารเงินออมให้งอกเงยมากกว่าเงินเฟ้อ
เช่น กรณีฝากเงินออมไว้ที่บัญชีเงินฝากประจำ ได้ผลตอบแทน 1% เงิน 100 บาทของเราในวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี มูลค่าเงินของเราจะเท่ากับ 101 บาท โดยหากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ราคาสินค้าในปัจจุบัน 100 บาท จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 103 บาทในปีหน้า ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เงินออมของเราโตไม่ทันราคาสินค้า ส่งผลให้การใช้จ่ายของเรามันจะไปกินส่วนทุนจนหมดในที่สุด
- ดอกเบี้ย หรือ ผลตอบแทนจากเงินออม ในอดีตหากย้อนกลับไปปี 2518 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำประมาณ 0.5% (เงินฝากออมทรัพย์) หรือ ประมาณ 1% - 1.5% (เงินฝากประจำ 1-3 ปี) ดังนั้น เราอาจพิจารณาทางเลือกการออมเงินอื่นๆ จากผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปัจจุบันเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ เช่น ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (1.5% - 3%) หุ้นกู้ภาคเอกชน (3% - 4%) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (5%- 7%) หุ้น กองทุนรวมหุ้น (8%- 10%) เป็นต้น
- การใช้เงิน การบริหารการใช้จ่าย เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการบริหารเงินออม กล่าวคือ การใช้จ่ายควรเป็นไปตามความจำเป็นและพอเพียง หากว่าเราใช้จ่ายเกินตัว หรือ ก่อหนี้มากเกินความสามารถที่จะชำระได้ อาจส่งผลต่อเป้าหมายที่สำคัญในอนาคต เช่น สำหรับการเกษียณอายุของตัวเราเอง หรือ เป้าหมายสำหรับบุคคลที่เรารัก เช่น ทุนเพื่อการศึกษาของบุตร ดังนั้น เมื่อสะสมเงินออมแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างดอกผล ถ้าดอกผลน้อย เราก็จะกินทุน ดังนั้นควรหาแนวทางในการสร้างผลตอบแทน ควบคู่กับการควบคุมการใช้จ่าย เพื่อจะได้ไม่กินทุน จะส่งผลให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งใจไว้ได้
หากเราสามารถบริหารรายจ่ายให้ลดลง เช่น ปกติเราดื่มกาแฟทุกวัน ในราคาแก้วละ 170 บาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายกาแฟประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ถ้าเราเปลี่ยนจากการซื้อกาแฟทุกวัน มาชงกาแฟที่บริษัท เราจะประหยัดเงินได้ 5,000 บาทต่อเดือน และสามารถนำเงิน 5,000 บาทมาออมเพิ่มขึ้นผ่านทางเลือกการออมต่างๆ เช่น ฝากออมทรัพย์ ได้ผลตอบแทน 0.50% ต่อปี หรือ ซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยคาดการณ์ผลตอบแทน 3% ต่อปี หรือ ซื้อกองทุนรวมหุ้น คาดการณ์ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี และเปรียบเทียบระยะเวลาที่เงินออมจะเติบโตไปเป็น 1,000,000 บาท ดังนี้
ออมเงินเดือนละ 5,000 บาท |
||
ทางเลือกการลงทุน |
ผลตอบแทนต่อปี |
ระยะเวลาที่เงินโตเป็น 1,000,000 บาท |
ฝากออมทรัพย์ |
0.50% |
16 ปี |
กองทุนรวมตราสารหนี้ |
3% |
14 ปี |
กองทุนรวมหุ้น |
10% |
10 ปี |
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า เราจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ในระยะเวลาที่สั้นกว่า กล่าวคือ เงินออมจะเติบโตเป็น 1,000,000 บาท ในเวลาประมาณ 10 ปีหากลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้น ขณะที่กรณีฝากออมทรัพย์ จะใช้เวลาถึงประมาณ 16 ปี
ทั้งนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อออมนั้น นอกจากจะพิจารณาอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังที่ต้องการแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นด้วย เช่น ภาษีของผลตอบแทนของเงินออม (เช่น ดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารหนี้ จะต้องเสียภาษี 15% เป็นต้น) การลดหย่อนภาษี เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นต้น การมีวินัยในการออมอย่างต่อเนื่องและระยะเวลาการออม ความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ออมด้วย (โดยทั่วไปผู้ออมมีอายุน้อย น่าจะมีความสามารถที่จะรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินลงทุนได้มากกว่า เนื่องจากมีระยะเวลาการออมที่ยาวนานกว่าผู้ออมมีอายุมากกว่า ซึ่งมีระยะเวลาในการออมสั้นกว่า) นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์การลงทุน จะมีความแตกต่างกันทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงหรือความผันผวน ดังนั้น การจัดสรรการลงทุนนั้น ควรจะมีการกระจายความเสี่ยง ดังคำกล่าวที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทุกฟองในตะกร้าใบเดียว” ทางผู้เขียนมีความเห็นว่า การจัดสรรเงินออมเป็นพอร์ตการลงทุน อาจช่วยบริหารความเสี่ยงและลดความผันผวนได้มากกว่า โดยอาจออมผ่านกองทุนตราสารหนี้ร้อยละ 60 และกองทุนหุ้นหรือตราสารทุนร้อยละ 40 เป็นต้น
โดยสรุป ในการบริหารการเงินนั้น เราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการควบคุมการใช้จ่าย เพื่อเพิ่มเงินออม และนำเงินออมมาสร้างผลตอบแทนผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ออมรับได้ (อย่างน้อยควรมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ) เมื่อดอกผลมากพอ เราสามารถนำดอกผลมาใช้จ่ายได้ โดยไม่กินทุน และทำให้เงินออมของเราเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งใจไว้ได้