บทความ: ลงทุน
กองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ คุ้มหรือไม่กับการลงทุน
โดย คุณบุณยนุช ยุทธ์ประทุม นักวางแผนการเงิน CFP®
พอใกล้เวลาสิ้นปี ถึงเวลาที่หลายๆ ท่านเริ่มมองหาการลงทุนในกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือเก๋า โดยเฉพาะเพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี นักลงทุนส่วนใหญ่มักดูเรื่องเงื่อนไขการลดหย่อนและผลตอบแทนของกองทุนเป็นหลัก แต่อีกปัจจัยที่นักลงทุนกองทุนรวมไม่ควรมองข้ามนั้นคือ ค่าใช้จ่ายกองทุนที่เหมือนเป็นตัวฉุดให้ผลตอบแทนที่ควรได้รับลดลง ซึ่งแน่นอนว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรี เช่นเดียวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของการบริหารกองทุน แต่จะคุ้มหรือไม่ นักลงทุนควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเหล่านี้กับปัจจัยอื่นๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนด้วย
ค่าธรรมเนียมหลักที่นักลงทุนควรรู้อย่างแรกที่เก็บโดยตรงจากนักลงทุนได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขายหรือแรกเข้าเมื่อซื้อหน่วยลงทุน (Front-End Fee) และค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหรือเมื่อขายหน่วยลงทุน (Back-End Fee) ซึ่งหลายๆ ครั้งในการทำธุรกรรมนี้ ค่าธรรมเนียมได้ถูกหักออกจากเงินลงทุนทันทีก่อนที่จะได้หน่วยลงทุน หรือตอนขายก็จะถูกหักก่อนที่นักลงทุนจะได้รับเงิน เช่น กองทุนรวมระบุว่ามีค่าธรรมเนียมแรกเข้าเมื่อซื้อ 1% หากนักลงทุนชำระเงินลงทุน 100,000 บาท จะมีค่าธรรมเนียมส่วนนี้ 1,000 บาทเหลือ 99,000 บาทก่อนที่นำเงินไปลงทุนในกองทุน หากกองทุนรวมนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 บาท และมีค่าธรรมเนียมเมื่อขายหน่วยลงทุน 1% นักลงทุนจะได้รับเงิน 198,000 บาท นักลงทุนสามารถตรวจสอบค่าธรรมเนียมนี้ก่อนทำการซื้อขายกับทาง บลจ. หรือใน “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” (Fund Fact Sheet) หัวข้อ “ค่าธรรมเนียม” เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนที่นักลงทุนไปนั้นมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้หรือไม่
สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ จากตัวกองทุนรวมเองเทียบกับทรัพย์สินของกองทุน เรียกว่า Total Expense Ratio (TER) ค่าใช้จ่ายนี้รวมถึงค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (Register Fee) และค่าใช้จ่ายอื่นๆ (Other Expenses) เช่น ค่าการตลาด ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย เป็นต้น ดังนั้น ในการตัดสินใจเลือกกองทุนและเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย TER นี้ นักลงทุนต้องเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน โดยทั่วไป TER ของกองทุนประเภทตราสารหนี้มีค่าต่ำกว่า TER ของกองทุนประเภทหุ้นมาก การเทียบ TER ของกองทุนประเภทตราสารหนี้จึงไม่สามารถเทียบได้กับ TER ของกองทุนประเภทหุ้นได้เลย อีกทั้งผลประกอบการและความเสี่ยงของกองทุนสองประเภทนี้ก็มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นหากนักลงทุนเปิดหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญเทียบค่าใช้จ่ายต่างๆ ของ 2 กองทุน จึงต้องแน่ใจว่ากองทุนรวม 2 กองนั้นอยู่ในประเภทเดียวกัน จึงสามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
ค่าใช้จ่ายอีกประเภทคือ ค่าใช้จ่ายจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน (Turnover Rate Expense) นักลงทุนสามารถดูค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้จากอัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุน (Portfolio Turnover Ratio: PTR) ซึ่งแสดงไว้ในรายงานประจำปีของกองทุน ยิ่งกองทุนมีการซื้อขายหุ้นบ่อย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งสูง ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายการลงทุนของกองทุนแต่ละกองที่ลงทุนด้วย ว่าผู้จัดการกองทุนต้องการเน้นการลงทุนที่มีผลลัพธ์ใกล้เคียง (Passive Fund) หรือชนะดัชนีอ้างอิง (Active Fund) กองทุนที่มีนโยบายที่จะชนะดัชนีอ้างอิงก็มีแนวโน้มที่จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากกว่ากองทุนที่เน้นมีผลลัพธ์ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิง เพื่อแลกเปลี่ยนกับความคาดหวังว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
สำหรับท่านที่เน้นการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นหลัก ค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนควรสนใจเช่นกันคือ ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเข้าและออก หากนักลงทุนจำเป็นต้องทำการสับเปลี่ยนกองทุนเพื่อการปรับพอร์ตให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นักลงทุนเริ่มต้นลงทุนเงิน 100% ในกองทุนประเภทตราสารหนี้ 50% และกองทุนประเภทตราสารทุน 50% หากปัจจุบันสัดส่วนของกองทุนทั้ง 2 ประเภทเป็น 30% และ 70% ตามลำดับ นักลงทุนจึงควรจะสับเปลี่ยนกองทุนประเภทตราสารทุน 20% ที่เพิ่มขึ้นไปยังกองทุนประเภทตราสารหนี้ เพื่อให้คงสัดส่วน 50% และ 50% ตามเดิม เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมของตนเอง หรือหากกองทุนที่ลงทุนอยู่มีผลประกอบการที่ไม่เป็นตามที่ต้องการและเป้าหมายที่ตั้งใจไว้นัก นักลงทุนยังสามารถสับเปลี่ยนกองทุนประเภทเดียวกันจากกองหนึ่งไปยังอีกกองหนึ่งได้เช่นกัน ซึ่งหากนักลงทุนมีการสับเปลี่ยนกองทุนรวมบ่อย ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้น แต่หลายๆ ครั้งการพิจารณาสับเปลี่ยนกอง อาจจะทำให้ผลประโยชน์โดยรวมของการลงทุนดีขึ้น หากมีการปรับพอร์ตที่เหมาะสม
นอกจากกองทุนรวมที่เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว กองทุนรวมยังมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น นโยบายลงทุนในหุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ไม่มีเวลาบริหารพอร์ตการลงทุนได้ด้วยตนเองอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา อันเหตุมาจากด้วยภาระหน้าที่การงาน ความต้องการใช้เวลาในการดูแลครอบครัว หรือความต้องการเวลาในการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบอื่นๆ นักลงทุนหลายๆ ท่านนิยมเลือกการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่างๆ นี้ เนื่องจากมีมืออาชีพบริหารให้ และซื้อง่ายขายคล่อง หากเทียบกับทรัพย์สินบางอย่าง เช่น หุ้นบางบริษัทที่มีสภาพคล่องต่ำ ที่ดิน บ้าน คอนโด ที่อาจถึงขั้นต้องมาลุ้นกันว่าจะขายออกได้วันไหน โดยเฉพาะเวลาที่รีบใช้เงิน แนวโน้มต้องขายต่ำกว่าราคาที่ตั้งใจไว้ก็มีมาก กว่าจะได้คู่ผู้ซื้อผู้ขาย กว่าจะทำการตกลงราคากันได้ เงินลงทุนเพิ่มเติมที่ต้องปรับปรุงที่ดิน บ้านหรือคอนโดให้ดูดี และเวลาที่ยืดเยื้อในการดำเนินการ เมื่อหักค่าใช้จ่ายซื้อขายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายที่เห็นได้ชัดและค่าใช้จ่ายแอบแฝง แล้วจะเหลือเท่าไหร่ ส่วนการลงทุนในกองทุนรวมนั้น มีตลาดรองรับการซื้อขายทุกวันทำการ มีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ชัดเจนตามระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ
ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมจึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ต้องการประหยัดเวลาศึกษาการลงทุนเองในเชิงลึก เช่น ข้อมูลบางอย่างที่นักลงทุนทั่วไปเข้าไม่ถึง และประหยัดเวลาดูแลพอร์ตการลงทุนอย่างใกล้ชิด และมีสภาพคล่องสูง ทราบค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน แต่ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเหล่านี้ เทียบกับผลตอบแทนที่คาดว่าได้รับ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจว่ากองทุนที่นักลงทุนลงทุนไปได้ผลประกอบการงอกงามตามที่ได้ตั้งใจ