logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ทิศทางการลงทุนไตรมาสที่ 4/2019

โดย คุณชัยสิทธิ์  นพรุจชโนดม นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงสุดท้ายของปี 2019 ชี้ว่ามีแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซบเซา (Slowdown) หรือถดถอย (Recession) ซึ่งสังเกตได้จากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่มีการปรับลดลง เนื่องจากความกังวลจากหลายๆ ประเด็น ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่แม้ว่าจะคลายความกังวลลงบ้างจากการเจรจาครั้งที่ผ่านมาที่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าเบื้องต้น โดยจีนตกลงจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่า 4-5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการจัดการปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่สหรัฐฯ ได้ชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะปรับขึ้นจาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาออกไปก่อน แต่คงต้องรอการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศชิลีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ถึงความชัดเจนในการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก รวมถึงการออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ (Brexit) ที่คณะผู้แทนสหภาพยุโรปหรืออียู ได้อนุมัติให้เลื่อนออกไปอีก 3 เดือน จากวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เป็นวันที่ 31 มกราคม 2563 ยังคงต้องรอดูข้อตกลงในรายละเอียดการถอนตัว การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ชุมนุมในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมาถึง 5 เดือน เป็นต้น

 

ในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ได้มีมติ  8-2 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.50%-1.75% ถือเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ในปีนี้ ซึ่ง Fed มองว่าการปรับลดในครั้งนี้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยยังคงให้น้ำหนักกับตัวเลขดัชนี ISM ภาคการผลิตที่ 47.8 ในเดือนกันยายน ลดลงจาก 49.1 ในเดือนสิงหาคม  และดัชนี ISM ภาคบริการที่ 52.6 ในเดือนกันยายน ลดลงจาก 56.4  ในเดือนสิงหาคม

 

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีก 0.1% สู่ระดับ -0.5% ในครั้งนี้ธนาคารกลางยุโรปกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้วงเงินเดือนละ 20,000 ล้านยูโร นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาสู่ระดับเป้าหมาย โดยหลายๆ ประเทศเริ่มใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระดับที่แตกต่างกัน

 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวเหลือ 2.8% จาก 3.3% พร้อมชี้ว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่างประเทศ การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวมากนัก ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากการส่งออกหดตัวแรงกว่าคาด ตามการชะลอตัวของการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวในแนวโน้มที่ลดลง การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และยังกังวลกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า  ด้านนโยบายการคลังชี้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการชิมช้อบใช้เฟส 1 และ 2 เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน คาดว่าจะส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนช่วยหนุนเศรษฐกิจช่วงปลายปีส่งผลให้ GDP เป็นบวกเพิ่มขึ้นประมาณ 0.20%

 

จากที่กล่าวข้างต้น ปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศมีความผันผวนสูง แต่สถานการณ์การลงทุนโดยรวมน่าจะดีกว่าปีก่อนที่การลงทุนติดลบแทบทุกสินทรัพย์ เริ่มจากตั้งแต่ต้นปีถึง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2562 อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก (MSCI ACWI) เท่ากับ 16.7% อัตราผลตอบแทนตลาดหุ้นไทย (SET) เท่ากับ 1.9% รวมทั้งอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ (Gold) เท่ากับ 17.3% และอัตราผลตอบแทนจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (SET PF&REIT) เท่ากับ 26% นักลงทุนควรกระจายน้ำหนักสินทรัพย์ลงทุนให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับความเสี่ยงที่แต่ละท่านยอมรับได้  ดังนั้นการกระจายน้ำหนักการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมโดยมีส่วนแบ่งระหว่างสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูง แต่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เช่น หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์อื่นๆ โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ควรเน้นหุ้นที่จ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการที่ดี มีความผันผวนต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากกว่าภาคการส่งออก และกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นทั่วโลก เนื่องจากมูลค่าตลาดของหุ้นไทยคิดเป็น0.3% ของตลาดหุ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่างประเทศนั้นจะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และภาษีเพิ่มเข้ามา และส่วนของสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยและให้กระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศที่มีการอันดับความน่าเชื่อถือที่น่าลงทุน (Investment Grade)  รวมทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและยังลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลง โดยเฉพาะกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)  ที่ผ่านมาให้อัตราผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ประกอบกับภาวะดอกเบี้ยต่ำจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และเป็นช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น พร้อมทั้งมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากศักยภาพในการปรับขึ้นอัตราค่าเช่า กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจ คือ retail, office, industrial และ warehouse เป็นต้น

 

ปัจจุบันลูกค้ามีทางเลือกในการลงทุนต่างประเทศที่มีคุณภาพที่ดีและสะดวกมากขึ้น โดยสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศได้ทั้งโดยตรง เช่น หุ้น กองทุนที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF)  เป็นต้น หรือโดยอ้อม ลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศในหลายประเภทสินทรัพย์ที่บริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ สิ่งสำคัญของการลงทุนไม่ได้มองเพียงด้านของอัตราผลตอบแทนที่สูงสุดเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกด้านคือ การควบคุมความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยง และการปรับน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์อย่างเหมาะสม จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มและรักษาโอกาสการเติบโตของเงินลงทุนได้ดีในช่วงที่ภาวะตลาดมีความผันผวนสูง

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th