logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ลงทุนแบบ go inter ด้วยกองทุนรวมต่างประเทศ

โดย คุณธนพงษ์  เอื้อสมิทธ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ในปัจจุบันช่องทางการลงทุนต่างๆ ได้เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับนักลงทุนรายย่อย ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงรูปแบบการลงทุนได้หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศนั้นมีความหลากหลายนอกจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่มีความซับซ้อนให้เลือกลงทุน เช่น หลักทรัพย์ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน หรือ MBS ตราสารหนี้ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือ High Yield Bond เป็นต้น แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงการลงทุนต่างประเทศด้วยกองทุนรวม เนื่องจากเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นในการลงทุนต่างประเทศ และกองทุนรวมนั้นมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยบริหารกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่เราสนใจ โดยรูปแบบกองทุนรวมต่างประเทศนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ Feeder fund ซึ่งลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว และ Fund of funds ที่ลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศตั้งแต่ 2 กองขึ้นไป

 

 ข้อดีของการลงทุนต่างประเทศด้วยกองทุนรวม 
 

  1. ใช้เงินลงทุนน้อย และสะดวกในการลงทุน
    เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงนั้นใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงพอสมควร ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศนั้นๆ ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องรายงานธุรกรรมในการนำเงินออกนอกประเทศเพื่อนำไปลงทุนอีกด้วย แต่การลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศนั้นจะมีกฏเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากกว่า และตัวกองทุนรวมมีเงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นการลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวมจึงมีความสะดวกมากกว่า
     
  2. ไม่ติดปัญหาเรื่องภาษี และค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian Fee) ในบางประเทศ
    กองทุนรวมต่างประเทศนั้นจะลงทุนผ่าน บลจ. ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบันสามารถต่อรองเงื่อนไขการลงทุนกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ทำให้ดำเนินการธุรกรรมต่างๆ ได้ง่ายกว่านักลงทุนทั่วไป นักลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องปัญหาภาษีระหว่างประเทศ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ แต่ในการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นก็จะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุนที่แตกต่างกันไป ซึ่งมีผลกับผลตอบแทนของกองทุนเช่นกัน
     
  3. นโยบายการลงทุนมีความชัดเจน มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพคอยดูแล
    ตัวอย่างเช่น หากเราสนใจที่จะลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเห็นว่ากลุ่ม IT มีการเจริญเติบโตต่อเนื่อง ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่ม IT ของอเมริกาโดยเฉพาะได้ เป็นต้น โดยนักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดดังกล่าวได้เพิ่มเติมจากหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวมหรือ fund fact sheet
     
  4. สามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่ป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงินได้
    ในการลงทุนต่างประเทศนั้น เราจะต้องพิจารณาเรื่องการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของค่าเงินด้วย เพราะถ้าหากค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินของกองต่างประเทศก็จะทำให้กองทุนนั้นขาดทุนในด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ตัวอย่างเช่น ต้นเดือนมกราคม 2019 ลงทุนในหุ้น ABC ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีผลตอบแทน 18% แต่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งหากไม่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน ก็จะทำให้ผลตอบแทนจากหุ้น ABC โดยรวมลดลงเหลือเพียง 13.5% แต่ถ้าหากเราลงทุนในกองทุน XYZ ที่มีป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายนมีผลตอบเทน 15.5% ก็จะได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับ 15.5% เป็นต้น (เนื่องจากมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งก็แล้วแต่นโยบายของกองทุน เช่น dynamic hedging ที่ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน หรือ fully hedge ที่ป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงิน 100% แต่จะมีต้นทุนที่มากกว่า dynamic hedging)

 

ดังนั้น ในการเริ่มต้นลงทุนต่างประเทศ หากลงทุนผ่านกองทุนรวมก็จะมีความสะดวกและคล่องตัวกว่าการลงทุนโดยตรง และสามารถเลือกนโยบายที่เราสนใจลงทุน รวมถึงนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินอีกด้วย เพียงเท่านี้การลงทุนแบบ go inter ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักลงทุนอีกต่อไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th