บทความ: เกษียณ
เกษียณเกษมสุข
โดย คุณจิดาภา สีม่วง นักวางแผนการเงิน CFP®
ในทุกวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่คนเราปรารถนามากที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นเรามักจะคอยตั้งคำถามและพยายามค้นหาคำตอบ ให้กับตัวเองอยู่ตลอด นั่นก็คือ “ทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข”
“ความสุข” ที่ว่านั้น ก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องการปราศจากความกังวลเรื่องเงินๆ ทองๆ ความสุขจากงานที่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...ความสุขในบั้นปลายของชีวิต แต่ก่อนที่เราจะคิดไปถึงการเกษียณอย่างเกษมสุขนั้น เราควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าแต่ละช่วงวัย เรามีเป้าหมายของชีวิตอย่างไร
เราสามารถแบ่งช่วงวัยในชีวิตออกได้เป็น 4 ช่วง ดังนี้
- วัยเด็ก: เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตช่างใหม่สดเสมอ
- วัยรุ่น: เป็นวัยแห่งความร้อนแรง พร้อมที่ก้าวไปข้างหน้าให้สุดเพื่อค้นหาความท้าทาย
- วัยทำงาน: เป็นวัยที่มุ่งเป้าหมายสู่ความสำเร็จของชีวิต
- วัยเกษียณ: เป็นวัยที่เริ่มเปิดประตูสู่ความสุข หลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาทั้งชีวิต
เมื่อเราแบ่งลักษณะตามธรรมชาติของแต่ละช่วงวัยออกมาแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าความปรารถนาของชีวิตใน “วัยเกษียณ” คือจุดหมายสำคัญที่ทุกคนต้องการจริงๆ เพื่อให้ชีวิตนี้อยู่อย่างมีความสุขตามที่ตัวเองวาดฝันไว้ และหากมองลึกลงไปอีก เราจะพบว่าเกษียณเกษมสุขนั้นเริ่มด้วย 3 สุขง่ายๆ คือ
- สุขกาย อยู่ดี กินดี สุขภาพดี และดูดี อันที่จริงสุขกายนี้เริ่มได้ทุกช่วงวัย โดยการรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมที่ดี มีอารมณ์ดี หัวเราะสนุกกับทุกสถานการณ์ ไม่มีภาวะความเครียดบ่อยเกินไป
- สุขใจ ทำในสิ่งที่รัก รักในสิ่งที่ทำ มีโอกาสเลือกสิ่งที่ต้องการ สิ่งนี้ทำให้เกิดความสุขสงบทางใจ ปล่อยวางในบางเรื่องได้ หากต้องมีสติในทุกๆ เรื่อง รักษาใจให้อยู่กับทัศนคติบวก หามุมบวกในทุกเรื่องราวที่มีเข้ามาในชีวิต มีความสดชื่นแจ่มใสทางอารมณ์ จะทำให้มีความสุขทางใจได้ไม่ยาก
- สุขกระเป๋า ทำงานหาเงินได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตทั้งของตัวเองและครอบครัว ทั้งยังมีเงินเหลือเก็บเหลือใช้มากพอที่จะซื้อความสุขง่ายๆ บางอย่างให้กับชีวิต หรืออาจจะมีเงินก้อนสำหรับการลงทุนเพื่อให้เงินในวัยเกษียณนั้นงอกเงยขึ้นมากกว่าเดิม รวมถึงมีเงินเก็บสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่คนวัยเกษียณส่วนใหญ่นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย
เมื่อเห็นภาพ “สุข 3 อย่างของชีวิตในวัยเกษียณ” แล้ว คงไม่ยากใช่มั้ยที่วันนี้เราจะเตรียมตัวสู่ความสุขในบั้นปลายของชีวิต โดยเริ่มต้นจาก
- กำหนดอายุที่จะเกษียณ รู้สถานการณ์ของตัวเอง จากวันนี้เหลือเวลาอีกเท่าไหร่ในการเตรียมตัว ซึ่งเวลาที่นานพอนั้นจะช่วยลดต้นทุนของเงินที่ต้องเตรียมได้
- คิดไว้ก่อนเลยว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีกกี่ปี ประมาณการด้วยตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยจากบุคคลในครอบครัว อาจบวกเพิ่มไปอีก 8 ปี ตามหลักความระมัดระวัง (conservative) เพราะในปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนเรามากขึ้น โดยมีผลมาจากการดูแลสุขภาพที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความเจริญก้าวหน้าของวงการแพทย์ด้วย
ยกตัวอย่าง บรรพบุรุษมีอายุไขเฉลี่ย 75 ปี ฉะนั้น ประมาณอายุขัยที่เป็นไปได้ที่ต้องเตรียมเงินไว้คือ 83 ปี เป็นต้น - ประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ คือจำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อเดือนอย่างพอเพียงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ตัวอย่างการประเมิน ตั้งเป้าว่าจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และมีอายุขัยถึง 83 ปี ใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ 50,000 ต่อเดือน ในเบื้องต้นเงินที่ต้องเตรียม คือ 50,000 * 12 * 23 =16,800,000 บาท (ตัวเลขประมาณการไม่คิดเงินเฟ้อ ข้าวของราคาเท่าเดิมไม่แพงขึ้น แต่ในความเป็นจริง เงินเฟ้อจะทำให้ค่าเงินลดลง อำนาจการซื้อลดลง เราจะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้ยังชีพเพิ่มมากขึ้น) - สำรวจแหล่งเงินออมให้ครบ เงินออมคือพื้นฐานของเงินใช้จ่ายเพื่อชีวิตหลังเกษียณ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จ/เงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม เงินชดเชยต่างๆ ที่บริษัทมีให้ หรือ ระบบบำเหน็จ/บำนาญสำหรับข้าราชการ รวมทั้งเงินออมเงินเก็บอื่นๆ ที่มี โดยจัดทำบันทึกไว้เพื่อจะได้แบ่งเบาการเตรียมเก็บเงิน
- ลงทุนเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมายวัยเกษียณ เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากวางแผน แต่สุดท้ายไม่ลงมือเก็บเงิน หรือเก็บเงินไม่ได้ตามเป้าหมาย การเกษียณอย่างมีความสุขก็คงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้อย่าลืมตระหนักถึงความเสี่ยงที่รับได้ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ และต้องสอดคล้องกับระยะเวลาที่มีจนถึงวันเกษียณ
ถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าหากกายพร้อม ใจพร้อม และกระเป๋าพร้อม ‘เกษียณเกษมสุข’ ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้...วางแผนการเงิน เตรียมความพร้อมให้ไว มีวินัย รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ รู้ลงทุน ผลลัพธ์ที่ได้คือความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในวัยพักผ่อนหลังเกษียณนั่นเอง