logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

การบริหารเงินตามวัย

โดย คุณนิคม เจริญสุขโสภณ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

ในแต่ละช่วงวัยนั้น จะมีความต้องการทางการเงินที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรวางแผนการบริหารเงินไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และเรื่องสำคัญคือการวางแผนสำหรับเกษียณ หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำถามทำนองว่า จะลงทุนอะไรดี? ตอนนี้อะไรที่ให้ผลตอบแทนดี? หรือลงทุนอะไรที่จะได้ผลตอบแทนเยอะ? ซี่งจะเห็นได้ว่าเน้นแต่ผลตอบแทน แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ไปลงทุน และอาจจะไม่เหมาะกับผู้ลงทุน เรียกได้ว่าเวลาผลตอบแทนติดลบอาจจะทำให้นอนไม่หลับเลยก็เป็นได้ เมื่อมีคำถามต่อมาว่า แล้วการลงทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา ผู้เขียนจึงขอแบ่งการลงทุนและการบริหารเงินตามช่วงวัย คือ วัยเริ่มทำงาน วัยสร้างครอบครัว วัยเตรียมเกษียณ และวัยหลังเกษียณ โดยสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแต่ละช่วงวัยนั้น จะยกมาเพียง 4 ประเภท เรียงลำดับจากความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงต่ำ คือ สินทรัพย์ทางเลือก ได้แก่ ทองคำหรือกองทุนรวมทองคำ หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้และเงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน สำหรับการลงทุนในแต่ละช่วงวัยนั้น ขอแนะนำดังนี้

 

 วัยเริ่มทำงานหรือในช่วงอายุประมาณ 22-35 ปี  

เป็นช่วงที่อายุยังน้อย มีระยะเวลาการลงทุนได้อีกนาน จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ ทั้งนี้สำหรับการบริหารเงินในวัยนี้ ควรเน้นเรื่องของการออมและการลงทุน ข้อสำคัญคือควรจะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น รถ ให้ช้าที่สุด เพราะนอกจากต้องเสียดอกเบี้ยแล้วยังคงมีรายจ่ายต่างๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง เป็นต้น สำหรับการบริหารเงินลงทุน แนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น เนื่องจากในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ แม้ในบางช่วงอาจจะติดลบ แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงกลับมาทำผลตอบแทนได้ดี สังเกตจากวิกฤตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเน้นพอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวในอัตราที่สูง พอร์ตการลงทุนที่แนะนำคือ หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น 70% ตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 20% สินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทองคำ 10%

 

 วัยสร้างครอบครัวหรือในช่วงอายุ 36-45 ปี 

ในวัยนี้จะเริ่มมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นมา หรือบางท่านอาจจะเริ่มมีหนี้สิน เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ดังนั้น พอร์ตการลงทุนควรลดความเสี่ยงลง และควรวางแผนสำหรับปกป้องความเสี่ยง เช่น ประกันภัยหรือประกันชีวิต พอร์ตการลงทุนที่แนะนำคือ หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น 50% ตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 40% สินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ 10%

 

 วัยเตรียมเกษียณหรือในช่วงอายุ 46-60 ปี 

เป็นช่วงที่จะพอเห็นแล้วว่า เงินสำหรับใช้หลังเกษียณเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหนี้สินต่างๆ เช่น บ้าน ควรวางแผนชำระให้หมดก่อนเกษียณ พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมจึงไม่ควรมีความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากเมื่อถึงเวลาต้องใช้เงิน พอร์ตอาจจะอยู่ในช่วงที่ผลตอบแทนไม่ดี ทำให้ไม่พอใช้ พอร์ตการลงทุนที่แนะนำคือ หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น 30%  ตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 60% สินทรัพย์ทางเลือกเช่น ทองคำ 10%

 

 วัยหลังเกษียณหรืออายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

เป็นวัยที่ต้องวางแผนการใช้เงิน เพราะอาจจะเป็นเงินก้อนสุดท้าย ดังนั้นพอร์ตการลงทุนควรมีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องบางส่วนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ผลตอบแทนในระยะยาวควรชนะเงินเฟ้อ ดังนั้นพอร์ตการลงทุนที่แนะนำ คือ หุ้นหรือกองทุนรวมหุ้น 10% ตราสารหนี้หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 60% เงินฝากหรือกองทุนรวมตลาดเงิน 30%

 

ค่าใช้จ่ายของทุกวัยที่วางแผนได้ยากนั้น คือ ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยถ้าเป็นมนุษย์เงินเดือน อาจจะมีสวัสดิการของที่ทำงาน แต่ในวัยหลังเกษียณอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ทำให้กระทบกับแผนการเงิน ดังนั้นแผนปกป้องความเสี่ยงหรือแผนประกันจึงเป็นสิ่งที่ควรจะคำนึงถึง และการออกกำลังกายก็จะช่วยลดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ครับ ทั้งนี้ขอหมายเหตุเล็กๆ ว่าในกรณีหุ้นนั้น กองทุนรวมหุ้นจะช่วยให้กระจายการลงทุนได้มากกว่า และอาจจะแบ่งเงินบางส่วนลงทุนในกองทุนรวมที่ให้สิทธิทางภาษีได้ด้วย และคำแนะนำในการจัดพอร์ตนี้เป็นการแนะนำอย่างกว้างๆ เพราะบางท่านอาจรับความเสี่ยงได้สูงหรือต่ำกว่าคนในช่วงวัยเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนครับ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th