logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เจ้าของธุรกิจเกษียณอย่างเป็นสุข

โดย คุณวรเดช ปัญจรงคะ นักวางแผนการเงิน CFP®️

 

หลายธุรกิจอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน มีทั้งอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างธุรกิจ ช่วงสนุกสนานกำลังเติบโต ช่วงเผชิญกับการหดตัวของธุรกิจ ช่วงเตรียมการส่งมอบทุกธุรกิจให้คนรุ่นถัดไปและการเตรียมออกจากธุรกิจ

 

ในความเป็นจริงเราจะพบเห็นว่าเจ้าของธุรกิจหลายท่านแม้อยู่ในวัยใกล้เกษียณแล้วยังสนุกกับการทำงานที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถที่สะสมมาสร้างความมั่งคั่งต่อไปได้อีกมาก อีกหลายท่านได้ส่งมอบธุรกิจให้คนรุ่นต่อไปรับช่วงบริหารต่อได้อย่างราบรื่น แต่อีกหลายท่านไม่สามารถวางมือจากธุรกิจได้เพราะเป็นแหล่งรายได้ที่นำเงินมาใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนเองและครอบครัว หรือเป็นธุรกิจที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวของเจ้าของกิจการในการบริหารจัดการ ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจที่มีความสามารถเท่าเทียมหรือสูงกว่าในการสืบทอดธุรกิจ หรือมีภาระหนี้สินที่มีการผูกพันกับสินทรัพย์ส่วนตัวและของครอบครัว ดังนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อให้เกษียณอย่างเป็นสุขควรมีการวางแผน ทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมกับสิ่งเหล่านี้

 

  1. บริษัทไม่มีวันตาย ตราบใดที่ยังมีความมั่งคั่ง ซึ่งการจัดโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้มีความสอดคล้องกับธุรกิจที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้ Holding Company เพื่อรับเงินปันผลจากบริษัทในเครือข่าย และนำเงินที่ได้มาจัดสรรให้ผู้ถือหุ้น
  2. การเลือกหุ้นส่วน ไม่ใช่แค่เงินร่วมลงทุนที่ต้องการจากหุ้นส่วน แต่สิ่งสำคัญคือการเป็นกัลยาณมิตรที่สามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การเติบโตของธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน มีหุ้นส่วนเป็นคนมีศีลธรรมซื่อสัตย์สุจริต ไม่เป็นคนโกหก หลอกลวง ซึ่งหากเข้ามาอยู่ใกล้ตัว ปัญหาคดีความฟ้องร้องอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
  3. การจัดทำงบดุล บัญชีรับจ่าย ที่โปร่งใสและถูกต้อง หลายคนกลัวที่ต้องจ่ายภาษี แต่หากมีการบริหารภาษีที่ดี  เจ้าของธุรกิจจะได้ประโยชน์จากการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง เช่น มีหลักฐานที่ถูกต้องในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เป็นข้อมูลให้ผู้ลงทุนรายใหม่ได้พิจารณาร่วมลงทุนขยายกิจการ และการแบ่งผลประโยชน์ที่ลงตัวให้กับผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเป็นธรรม
  4. แยกกระเป๋าระหว่างเงินธุรกิจและเงินส่วนตัว หากไม่วางแผนจะเจอเรื่องค่าใช้จ่ายต้องห้ามที่ไม่สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ หลายครั้งเจ้าของธุรกิจก็กลายร่างเป็นคนกู้ยืมเงินบริษัท ซึ่งต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยให้กับบริษัทและคืนเงินกู้ส่วนนี้ ภาระผูกพันนี้ยังส่งผลถึงผู้รับมรดกในการรับชำระหนี้สินก้อนนี้ด้วย
  5. ภาระการค้ำประกัน สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อจะให้เจ้าของธุรกิจนำหลักทรัพย์ของบริษัทมาค้ำประกันและหากไม่พอก็สามารถนำหลักทรัพย์ส่วนตัวมาเพิ่มเป็นหลักประกัน โดยคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสต้องเซ็นยินยอมในภาระผูกพันนี้ จะเป็นการดีเป็นอย่างยิ่ง หากช่วงวัยเกษียณไม่มีภาระผูกพันในสินทรัพย์ส่วนตัว จะได้เกษียณอย่างสบายใจ
  6. สร้างระบบทำงานอัตโนมัติ มิใช่แค่การทดแทนด้วยระบบจักรกล หรือคอมพิวเตอร์ แต่การสร้างระบบในการทำงานไม่ว่างานในตำแหน่งใดจะมีการลาออก ก็สามารถพัฒนาให้บุคลากรรุ่นใหม่ หรือที่มีอยู่เดิมสามารถทดแทนงานนั้นได้
  7. ข้อตกลงการขายหุ้น เช่น ตอนเริ่มต้นดำเนินธุรกิจมีหุ้นส่วนอยู่สามหุ้นลงเงินคนละหนึ่งล้านบาท ผ่านไป 20 ปี มูลค่าธุรกิจ 100 ล้านบาท และมีหุ้นส่วนหนึ่งคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและคู่สมรสไม่ต้องการทำธุรกิจนั้นอีกต่อไป จะขอขายหุ้น หุ้นส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร ดังนั้นการทำข้อตกลงการขายหุ้นควรเตรียมไว้แต่เนิ่นๆ
  8. เงินฉุกเฉินยามวิกฤต หากบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของธุรกิจสูญเสียชีวิตหรือทุพลภาพ ทำให้ความสามารถในการหารายได้ของบริษัทตกต่ำลง ขาดสภาพคล่อง การทำประกันบุคคลสำคัญเพื่อนำเงินมาค้ำจุนบริษัทเป็นสิ่งที่ควรอยู่ในแผนธุรกิจ
  9. บ่มเพาะผู้สืบทอดธุรกิจ การสร้างคนดีที่มีศักยภาพสามารถสานต่อธุรกิจได้เป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะ ซึ่งอาจมาจากทายาทโดยธรรม หรือบุคลากรในองค์กร หรือบุคคลภายนอก ซึ่งมีความเป็นไปได้จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างรายได้ส่งมอบมายังให้ผู้เตรียมส่งมอบธุรกิจซึ่งถือหุ้นอยู่
  10. บริหารความเสี่ยง การโอนความเสี่ยงทั้งการประกันชีวิตและสุขภาพกลุ่ม ประกันทรัพย์สินและอัคคีภัย ประกันความรับผิดชอบของกรรมการ การประกันการขนส่ง เป็นต้น เบี้ยประกันถูกได้รับการคุ้มครองที่สูง เป็นเกราะคุ้มครองความมั่งคั่งได้เป็นอย่างดี
  11. สร้างแหล่งเงินได้ยามเกษียณจากหลายช่องทาง เช่น ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม สลากธกส. สลากออมสิน เป็นต้น
  12. ดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ หาเงินมาทั้งชีวิต แต่มาเจ็บป่วยตอนเกษียณ เพราะไม่ดูแลสุขภาพในช่วงวัยทำงาน ทรัพย์สินที่หามาได้ต้องกลายเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เคยต่อรองค่าใช้จ่ายได้เลย
  13. คบหากัลยาณมิตร มีที่ปรึกษาคู่ใจ ที่ช่วยวางแผนการเงิน และติดตามผลเพื่อให้เจ้าของธุรกิจเกษียณอย่างเป็นสุข

 

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่มีการเตรียมพร้อมเพื่อให้เกษียณอย่างเป็นสุขโดยมีการวางแผน ทำความเข้าใจ บริหารจัดการปัจจัยและเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมในทุกๆ ด้านนั้น จะเห็นได้ว่ามีหลายสิ่งที่ต้องการวางแผนเพิ่มในแต่ละช่วงของชีวิต ทั้งส่วนตัวและธุรกิจให้เหมาะสม หรือเรียกว่า สมชีวิตา ซึ่งหากไม่เตรียมและใส่ใจอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากมายกับครอบครัวของเจ้าของธุรกิจ พนักงาน คู่ค้าทางธุรกิจ ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านที่เป็นเจ้าธุรกิจเริ่มต้นวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่ต้องลงมือทำเป็นอันดับแรกๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญให้เกิดผลเร็วที่สุด และจัดลำดับความสำคัญในส่วนอื่นๆ ต่อไป ความสงบสุขทางใจจะปรากฏขึ้นจริง สัมผัสได้ในฉับพลันและมั่นคงในระยะยาวในชีวิตเกษียณอย่างเป็นสุข

 

 

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th