บทความ: ลงทุน
ทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2562: ตอนที่ 3 Crypto Assets (ตอนจบ)
โดย คุณสรวงพิเชฎฐ์ หลายชูไทย นักวางแผนการเงิน CFP®
พบกันอีกครั้งในตอนสุดท้ายของซีรีส์ “ทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2562” จากความเดิมตอนที่แล้วเราทราบแล้วว่า Crypto Assets นั้นแท้จริงแบ่งออกเป็น 4 แบบ ซึ่งหากรวมทุกแบบเข้าด้วยกันปัจจุบันเราจะมี Crypto Assets ให้เลือกมากกว่า 2,000 สกุล!!! ทีนี้แต่ละแบบมีอะไรแตกต่างกันบ้าง และ Crypto Assets ที่คุณสนใจอยู่ในกลุ่มไหน เรามาดูไปพร้อมกันเลยครับ
- Cryptocurrencies แน่นอนว่าถ้าพูดถึง Crypto Assets ตัวแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมต้องเป็น Bitcoin ซึ่งเป็น Cryptocurrency ตัวแรก ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายและมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization)สูงที่สุดในบรรดา Crypto Assets ทุกสกุลที่มีในปัจจุบัน โดย Cryptocurrencies คือ Crypto Assets ที่มีจุดประสงค์หลักคือ การเป็นสกุลเงินหรือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่มีความรวดเร็วในการทำธุรกรรม มีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำ และปราศจากการแทรกแซง โดยหากเราคิดที่จะลงทุนใน Crypto Assets ประเภทนี้ ก็จะคล้ายกับการลงทุนใน Foreign Exchange (FOREX) เพราะราคาของสกุลเงินที่เราถือจะวิ่งขึ้นก็ต่อเมื่อมีความต้องการในสกุลเงินนั้นมากๆ เช่น เวลานักลงทุนต่างประเทศนำเงินลงทุนในบ้านเรามากๆมีความต้องการเงินบาท(THB)สูง เงินบาทก็จะแข็งค่าใครถือเงินบาทไว้ก็จะได้กำไร เช่นเดียวกันกับการที่เราลทุนใน Cryptocurrencies เลยครับ
ทั้งนี้นอกจาก Bitcoin แล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน(2562)ที่ผ่านมา Facebook ก็ได้เปิดตัว Cryptocurrency ของตัวเองในชื่อ Libra ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอีก 27 บริษัท จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น Uber, eBay, Visa หรือกระทั่ง Crypto trading อย่าง Coinbase จุดเด่นของ Libra คือเข้าถึงได้ง่ายมากๆ โดยตัว Libra จะถูกฝังเข้าไปอยู่ใน facebook, facebook messenge, และ whatsapp ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนบน platform ของ facebook ผู้ใช้งานเหล่านี้(รวมถึงพวกเรา)จะสามารถเข้าถึง cryptocurrecy ตัวนี้ได้ทันที! ซึ่งเป็นอีก 1 สกุลของ Cryptocurrency ที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง นอกจาก Bitcoin และ Libra แล้ว Crypto Assets ในกลุ่ม Cryptocurrencies ยังมีอีกมากมาย อาทิ เช่น Bitcoin Cash, Monero, Dash, ZCash เป็นต้น
- Platform Tokens คือ Crypto Assets ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน Platform ให้กับ Project ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูลแบบไม่มีตัวกลางของเทคโนโลยี Blockchain โดยค่าของ Token เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตามการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของ Platform เหล่านั้น
ตัวอย่าง Platform Tokens ที่ชัดเจนและเก่าแก่ที่สุดในกลุ่มนี้ คือ Ethereum ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมของ Vitalik Buterin เด็กหนุ่มลูกครึ่งรัสเซีย-แคนนาดา เมื่อเขาอายุได้เพียง 17 ปีเท่านั้น โดย Vitalik เป็นหนึ่งในทีมพัฒนาของ Bitcoin มาก่อน และเห็นจุดอ่อนของ Bitcoin ในการเป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เขาจึงเพิ่มฟีเจอร์ที่เรียกว่า Smart Contracts เข้ามาใน Ethereum ทำให้เราสามารถสร้างแอพพลิเคชันต่างๆ ขึ้นมาบนเครือข่าย Ethereum เพราะเมื่อเราเขียนโปรแกรมบน Blockchain มันจะเป็นโปรแกรมที่ทำงานอย่างโปรงใสเชื่อถือได้และตัดคนกลางทิ้งด้วย จากความคิดนี้ทำให้ Ethereum ได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้เป็นฐานในการออก Crypto Assets อื่นๆ โดยมีตัวอย่างของ Platform Tokens อื่นๆได้แก่ Ethereum Classic, Neo, EOS เป็นต้น
- Utility Tokens คือ Crypto Assets ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการระดมทุนสำหรับโครงการต่างๆ แลกกับการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการใช้สินค้าและบริการบางอย่าง หรือที่รู้จักกันในชื่อการทำ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นมาโดยมีฐานเป็น Ethereum
กรณีของ Utility Token ผมขอยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นอย่าง เหรียญ JFin Coin ซึ่งเป็น Utility Token ตัวแรกของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเกิดจากบริษัทในกลุ่ม Jaymart ที่ต้องการระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) เพื่อนำไปพัฒนา Decentralized Digital Lending Platform (DDLP) หรือระบบการให้คนกู้ยืมเงินกันผ่านมือถือ โดยมูลค่าเหรียญก็จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ของตัว DDLP ตามหลักอุปสงค์อุปทานเช่นกันครับ สำหรับตัวอย่างเหรียญอื่นๆในกลุ่มของ Utility Tokens ได้แก่ Golem, Sonm, Siacoin, OmiseGo, Augur เป็นต้น
- Transactional Tokens/Payments Tokens คือ Crypto Assets ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยเป็นเครือข่ายการชำระเงินเรียลไทม์ระดับโลกที่เชื่อมโยงธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกโดยแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายหรือตัวกลางอื่นๆ ช่วยให้การชำระเงินข้ามพรมแดนประหยัด รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
สำหรับตัวอย่างของ Token ในกลุ่มนี้ก็มีเหรียญเจ้าตลาดที่ค่อนข้างชัดเจนอีกเช่นกัน ซึ่งก็คือ Ripple ที่สร้างขึ้นโดย บริษัท Ripple(ใช้ชื่อเดียวกันเลย) ก่อตั้งในปี 2013 โดยนักพัฒนาอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างระบบที่ดีกว่า Bitcoin โดยตัวระบบของ Ripple จะแตกต่างจากระบบของ Bitcoin และ Ethereum ที่เป็นระบบเปิด คือเปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้ามาทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างกัน แต่ระบบของ Ripple เป็นระบบปิดที่ตัวเครือข่ายประมวลผลควบคุมโดย Ripple ทำให้สามารถตรวจสอบตัวตนของผู้เข้าร่วมได้ง่ายกว่า มีความปลอดภัยสูงกว่า ประมวลผลได้เร็วกว่า จึงเหมาะสำหรับการใช้งานระหว่างองค์กรใหญ่ๆ เช่น สถาบันการเงินหรือธนาคาร โดยเฉพาะในการโอนเงินระหว่างประเทศ ตัวอย่างอื่นๆของ Transactional Tokens/Payments Tokens ได้แก่ Stellar, IOTA, VeChain เป็นต้นครับ
มาถึงตรงนี้เชื่อว่าใครที่ตามอ่านมาตั้งแต่ตอนแรกคงพอได้ทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้นพอสมควรนะครับ สุดท้ายนี้ผมอยากขอให้ผู้อ่านทุกท่านพึงระลึกไว้เสมอว่า ในทุกๆวันมีเศรษฐีและยาจกเกิดขึ้นมากมายจากการลงทุน อย่าให้ความโลภทำให้คุณตกเป็นเหยื่อของการลงทุนที่ผิดพลาด หมั่นศึกษาหาความรู้และพิจารณาโอกาสที่ผ่านเข้ามาอย่างรอบคอบนะครับ
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนครับ