บทความ: ลงทุน
ทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2562: ตอนที่ 1 Algorithmic Trading (Robot Trade)
โดย คุณสรวงพิเชฎฐ์ หลายชูไทย นักวางแผนการเงิน CFP®
ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ชอบติดตาม Update ช่องทางการลงทุนและแสวงหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอด เชื่อว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงจะเหนื่อยกับคำศัพท์ใหม่ๆที่แทบจะมีออกมากันทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น Algorithmic Trading, AI, Structured Note, Crypto Assets หรือแม้แต่ Blind Trust ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นศัพท์ที่เราน่าจะได้ยินผ่านหูอยู่บ่อยๆ แต่เชื่อว่าหลายท่านที่อ่านบทความนี้อยู่ก็อาจจะยังไม่ทราบว่ามันคืออะไร ลงทุนได้หรือไม่?
ซึ่งในบทความชุดนี้ผมขอหยิบ Algorithmic Trading และ Crypto Assets ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักและมีช่องทางในการลงทุนที่แพร่หลายมากพอสมควรแล้ว ขึ้นมาแนะนำเพื่อเป็นไอเดียประกอบการตัดสินใจลงทุนของทุกท่านในปี 2562 นี้กันนะครับ โดยผมขอแบ่งบทความนี้ออกเป็น 3 ตอน สำหรับตอนที่ 1 ผมได้หยิบยกในส่วนของ Algorithmic Trading (Robot Trade) มาคุยให้ฟังก่อน ซึ่งเราทุกคนคงยอมรับว่า Robot นั้นเข้ามามีบทบาทในโลกเราอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เว้นแม้แต่ในโลกการลงทุน มันคืออะไร? และเราจะใช้งานมันได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบครับ และในตอนที่ 2-3 จะกล่าวถึงตัวอย่างของสินทรัพย์ใหม่ๆอย่าง Crypto Assets ที่เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยผ่าน Bitcoin (Cryptocurrency ตัวแรกของโลก) ซึ่งสร้างปรากฎการณ์ผลตอบแทน 20 เท่า!!! ใน 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ สำหรับปี 2562 ให้กับท่านผู้อ่าน เรามาเริ่มเรียนรู้ไปพร้อมๆกันครับ
Algorithmic Trading (Robot Trade)
จุดเริ่มต้นของ Robot Trade นั้นเริ่มต้นที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ค (NYSE) ในปี 1970 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว!!! ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์บ้านเรายังไม่ก่อตั้งเลยด้วยซ้ำ โดยเริ่มจากการเป็นเพียงแค่เครื่องมือช่วยในการส่งคำสั่งคราวละมากๆให้กับเทรดเดอร์ แต่ในเวลานั้นการตัดสินใจส่งคำสั่งก็ยังคงใช้คนในการจัดการ และจากจุดเริ่มต้นในวันนั้นก็ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจน Robot สามารถช่วยในการคัดกรองหุ้น การส่งคำสั่งซื้อขายโดยตรง และล่าสุดก็มีการพัฒนาไปถึงขั้นสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการตัดสินใจแทนคนได้ในที่สุด มีตัวเลขที่น่าตกใจว่าทุกวันนี้กว่า 80% ของมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมาจากระบบเทรดอัตโนมัติ (Algorithmic Trading) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตตลาดหุ้นของไทยเราก็อาจเป็นแบบเดียวกันครับ
ความน่าสนใจ: จริงๆแล้ว Robot Trade นั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อลบ 3 จุดอ่อนสำคัญในการลงทุนของมนุษย์ ซึ่งก็คือ เวลา ความเร็ว และที่สำคัญที่สุด คือ อารมณ์!!! โดยนักลงทุน 1 คน จะเก่งกาจเพียงไหนก็มีเพียง 2 ตา 2 มือ นี่ยังไม่รวมความลังเลของจิตใจในการเทรด ทำให้ระบบ Algorithmic Trading เป็นที่นิยมในต่างประเทศมาอย่างยาวนานและเริ่มเข้ามามีบทบาทในการลงทุนในไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งก็ได้มีบริการลักษณะนี้ให้ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเราสามารถแบ่ง Robot ได้เป็น 2 แบบ ใหญ่ๆ คือ
- Robot แบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated System) คือ Robot ที่ทำหน้าที่เป็นผู้หาสัญญาณซื้อขาย และแจ้งเตือนให้นักลงทุนทราบ แต่ในขั้นตอนสุดท้ายนักลงทุนยังคงต้องเป็นผู้กดส่งคำสั่งซื้อขายเอง ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่ผู้ใช้งานต้องมีเวลาและวินัยในการจัดการพอสมควรครับ
- Robot แบบอัตโนมัติ (Fully-Automated System) คือ Robot ซึ่งจะจัดการทุกขั้นตอนในการซื้อขายให้เรา คล้ายกับการมีผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นหุ่นยนต์ ซึ่งเจ้าตัวนี้เองครับที่เราเรียกว่า “Robot Trade” จุดเด่นคือวินัยการลงทุน และความสามารถในการวิเคราะห์หุ้นพร้อมกันจำนวนมากๆ ได้ แต่ด้วยการที่ Robot ประเภทนี้จะจัดการทุกอย่างให้เราทั้งหมด ทำให้ต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนที่จะเริ่มใช้งาน
โดยนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในระบบ Robot Trade แบบอัตโนมัติ (Fully-Automated System) นั้นมีปัจจัยที่ควรทราบเบื้องต้น 3 ปัจจัย ได้แก่
- Strategy: กลยุทธ์ที่ใช้ในการซื้อขายเป็นส่วนที่สำคัญที่ควรรู้เป็นอันดับแรก เพราะมันคือตัวบอกว่าเงินที่เราใส่ลงไปใน Robot ตัวนั้นๆ จะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยรายละเอียดในกลยุทธ์การซื้อขายเบื้องต้นที่เราควรทราบในส่วนของกลยุทธ์ได้แก่
- Stock Universe: คือเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นทั้งในแง่ของขนาด, สภาพคล่อง และปัจจัยอื่นๆ เพื่อจะไปหาจังหวะซื้อต่อไป
- Entry Signal: กลยุทธ์ในการซื้อหุ้นที่อยู่ใน Stock Universe โดยแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ ได้แก่ ลงทุนตามกระแส (Momentum) ซึ่งจะทำกำไรได้ดีในตลาดที่มีทิศทางขึ้นหรือลงที่ชัดเจน และลงทุนสวนกระแส (Reversion) ที่จะทำกำไรได้ดีในตลาดที่วิ่งอยู่ในกรอบไม่มีทิศทางชัดเจนครับ
- Exit Signal: กลยุทธ์ในการขาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ เพื่อหยุดความเสี่ยง หรือล็อคกำไร โดยกลยุทธ์การขายนี้คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญ แต่แท้จริงแล้วเป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กลยุทธ์ในการซื้อเสียเลยครับ
- Money Management: วิธีการกำหนดปริมาณเงินในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัว โดยยิ่งมีน้ำหนักต่อครั้งมากผลตอบแทนและความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ต้องดูว่ามีความสอดคล้องกับ Stock Universe และ สัญญาณซื้อหรือไม่ด้วย เช่น กลยุทธ์ที่คุณเลือก ลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ้ม SET50 และมีกลยุทธ์ในการซื้อหุ้นที่เกิดไม่บ่อย ถ้าซื้อด้วยปริมาณเงินที่น้อยอีก อาจเกิดปัญหาการนำเงินไปใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ครับ
- Back Testing & Forward Testing: คือการดูผลงานย้อนหลังของ Robot โดยการพิจารณา Back Testing คือการใช้ข้อมูลในอดีตมาทดสอบว่ากลยุทธ์ของ Robot ตัวที่เราสนใจอยู่นั้นหากนำไปใช้ในอดีตจะเหมาะกับสภาพตลาดแบบใด และมีผลงานโดยรวมเป็นอย่างไร ทั้งนี้การดู Back Testing เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเนื่องจากในการทำ Back Testing นั้นผู้ออกแบบ Robot สามารถปรับค่าตัวเลขต่างๆเพื่อให้ตัวเลขออกมาดีเกินจริงได้ โดยเมื่อใช้ลงทุนจริงในตลาดปัจจุบันอาจไม่ได้ผลตอบแทนเหมือนช่วงเวลาที่เคยเกิดในอดีตครับ ทำให้เราควรดู Forward Testing หรือการขอดูผลการดำเนินงานจริงของ Robot ตัวนั้นประกอบ เพราะแม้ Forward Testing จะเป็นภาพที่สั้นกว่าการดู Back Testing แต่จะได้ภาพที่ใกล้เคียงกับจุดที่เราจะเริ่มลงทุนจริงมากกว่าครับ
- Transaction Cost: เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งต้นทุนค่าคอมมิชชั่น และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าบริหารจัดการ (Management Fee) และ ส่วนแบ่งกำไร (Profit Sharing) เป็นต้น ที่สำคัญควรสอบถามด้วยว่าในผลการดำเนินงานที่ผู้ให้บริการ Robot Trade แสดงให้ดูนั้นได้รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้เข้าไปแล้วหรือยังครับ
ข้อควรระวัง: แม้ Algorithmic Trading จะสามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีในเรื่องของการส่งคำสั่ง แต่ก็มีจุดสำคัญกว่าที่ต้องพิจารณาคือ “ความยืดหยุ่น” ของกลยุทธ์ที่ใช้ในการเทรด เพราะหาก Robot นั้นๆถูกออกแบบมาให้เหมาะกับตลาดแบบใดแบบหนึ่งจนเกินพอดี (ดูได้จากตัวเลขผลกำไรใน Back Testing ที่มักจะสูงกว่า 30% ขึ้นไป) เวลาที่สภาวะตลาดไม่เหมาะกับกลยุทธ์ของคุณ ประโยชน์จากการส่งคำสั่งที่มีวินัยของ Robot จะกลายเป็นดาบสองคมที่เพิ่มผลขาดทุนให้กับคุณได้รวดเร็วไม่แพ้ตอนทำกำไรเช่นกันครับ
หวังว่าทุกท่านจะได้ความรู้เกี่ยวกับ ความน่าสนใจและวิธีการเลือกลงทุนใน Robot Trade กันไปอย่างเต็มที่นะครับ ในตอนหน้า “ทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆ ในปี 2562: ตอนที่ 2 Crypto assets” จะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง รอพบกันในบทความถัดไปนะครับ