logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ทิศทางการลงทุนไตรมาสที่ 3/2562

โดย คุณสถาพร  แป้นพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

สำหรับช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนได้เผชิญกับความผันผวนมากพอสมควร เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องโดยสาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตยูโรโซน อาทิ ประเด็น Brexit ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนี และการประท้วงในฝรั่งเศส

 

ความตึงเครียดของสงครามการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ทวีตข้อความขู่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 10% โดยภาษีรอบใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 นี้ โดยเป้าหมายเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึง สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปของเล่นและเสื้อผ้าเด็ก และยังให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลาต่อมาว่าอัตราภาษีอาจสูงกว่า 25% ได้เช่นกัน ธนาคารกลางจีนทำการตอบโต้โดยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนตัวลงและระงับการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ ในวันเดียวกัน นอกจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและยังไม่มีความชัดเจน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง อาทิ การเมืองในยูโรโซน ข้อสรุปของ Brexit  ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง การประท้วงในฮ่องกง  และข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ลง 0.1% มาอยู่ระดับ 3.2% ในปีนี้และ 3.5% ในปี 2563

 

การจัดการนโยบายการเงินยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างมีจุดยืนที่ผ่อนคลาย (Dovish) มากขึ้น โดยเริ่มจากธนาคารกลางยุโรปและธนาคารญี่ปุ่น ซึ่งต่างมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีทีท่าที่พร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังจากที่มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% – 2.25% และประกาศยกเลิกการลดงบดุล ณ สิ้นเดือนกันยายน รวมถึงส่งสัญญาณที่จะไม่รีบร้อนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 30 – 31 ก.ค. 2562 ตามมาด้วยธนาคารกลางนิวซีแลนด์ มีมติลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.5% สู่ระดับ 1% และธนาคารกลางอินเดีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.35% มาอยู่ที่ระดับ 5.4% เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีมติลดอัตราดอกเบี้ยฯ ลง 0.25% สู่ระดับ 1.50% เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา 

 

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้ถูก IMF ปรับการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ลดลงอยู่ที่ประมาณ 3.2% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1. การลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการชะลอตัวลง และ 2. รายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศไทยลดลงจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

 

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประการ จากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีความเสี่ยงที่จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจากปัจจุบันและเป็นไปอย่างยืดเยื้อ ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการค้าโลกและภาพรวมการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังคงรอติดตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการผลักดันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

 

สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง หากดูจากปัจจัยความเสี่ยงจากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้สนับสนุนการลงทุนโดยเน้นการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ในหลากหลายกลุ่มสินทรัพย์ เช่น กองทุนตราสารหนี้ในไทยและกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนอสังหาริมทรัพย์  ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมตราสารทุนทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศเพื่อเป็นการลดความผันผวนจากการลงทุนและเป็นการรักษาวินัยในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวสามารถชนะเงินเฟ้อได้

 

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th