logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ


วันนี้ คุณพร้อมจะเกษียณอายุ หรือยัง ?

โดย คุณดุษณี เกลียวปฏินนท์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

หลายคนอาจเหนื่อย หรือ เบื่องานที่กำลังทำอยู่ และคิดที่จะ early retirement หรือเกษียณก่อนกำหนด หรือ อยู่ในช่วงอายุที่ต้องวางแผนเพื่อเตรียมตัวเกษียณในอนาคต  

 

ก่อนตัดสินใจ เราลองมาตรวจเช็คความพร้อมกันก่อนว่ามีปัจจัยใดบ้างที่เราต้องพิจารณากัน
 

  1.  ด้านการเงินและสภาพคล่อง  แม้ว่าเราจะพูดกันว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่จริงๆ แล้วตั้งแต่ลืมตา เราก็ต้องใช้เงินในการดำรงชีพเสมอ ดังนั้นเราจึงต้องสำรวจแหล่งเงินเก็บที่มีอยู่ รวมถึงรายรับที่ยังคงได้รับหลังจากไม่ทำงานประจำ เทียบกับประมาณการรายจ่ายหลังเกษียณ ว่ามีพอใช้จ่ายหรือไม่ ทั้งนี้ รายรับหลังเกษียณ รวมถึง
    1. เงินบำนาญ หรือ บำเหน็จจากเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรณีรับราชการ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีพนักงานบริษัท ซึ่งโดยปกติจะคำนวณตามเงินเดือนเฉลี่ยปีสุดท้าย และจำนวนปีที่ทำงาน รวมถึงเงินสงเคราะห์ครู และเงินจากกองทุนการออมแห่งชาติ
    2. เงินบำนาญหรือบำเหน็จจากประกันสังคม หากมีการจ่ายเบี้ยประกันสังคมระหว่างทำงาน
    3. เงินผลประโยชน์จากประกันบำนาญ หรือประกันชีวิตที่จ่ายคืนเมื่อครบกำหนดเวลา
    4. เงินจากนายจ้างตามกฎหมายแรงงาน และเงินจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
    5. ค่าขายคืนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งสามารถขายคืนได้เมื่อครบอายุ 55 ปี เป็นต้นไป
    6. รายได้อื่นๆ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือ รายได้จากเงินลงทุนประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ ให้แยกประเภทเป็น เงินได้ครั้งเดียว เงินได้ประจำ และ จำแนกความถี่ที่รับ เป็นรายเดือน ไตรมาส หรือรายปีเปรียบเทียบกับรายจ่ายที่คาดไว้

 

ข้อควรระวัง

  • ในขณะที่รายรับอาจได้ไม่สม่ำเสมอเหมือนเดิม แต่รายจ่ายนั้นมีคงที่ทุกเดือน ทำให้ในการประมาณงบกระแสเงินสด (รายรับ และรายจ่ายจริงที่เป็นเงินสด) ในด้านรายรับ ต้องประมาณการเผื่อในแง่ร้าย เช่น หากเป็นรายรับจากค่าเช่า ต้องลองประมาณการกรณีไม่มีคนเช่า หรือหากลงทุน หรือฝากเงิน อาจไม่ได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยตามคาด               
  • กรณีรายจ่ายเราต้องประมาณการสำรองเผื่อไว้ล่วงหน้า กรณีที่เราอาจมีช่วงชีวิตที่ยืนยาวมากกว่าที่เราคาดไว้ (ให้บวกอายุเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5 ปี เช่น อายุเฉลี่ยของคนในครอบครัว เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย โดยเฉลี่ยมีอายุ 80 ปี ก็ให้ประมาณอายุไว้อย่างน้อย 85 ปี)
  • ค่าใช้จ่ายในช่วงเกษียณปีแรก ให้ท่านประมาณรายจ่ายจำนวนเท่าเดิม หรือมากกว่าช่วงก่อนเกษียณสัก 10-20% เพราะเป็นระยะที่มีเวลาว่างจากการทำงาน และมีโอกาสท่องเที่ยวและมีเวลาสังสรรค์กับเพื่อนฝูงมากขึ้นทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ปีถัดไปจึงค่อยลดประมาณการค่าใช้จ่ายลงไป
  • นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังทำให้เราต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายขึ้นเพิ่มขึ้นอย่างน้อย อีก 30-50% ในระยะยาว เช่น หากต้องการค่าใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาท (มูลค่าในปัจจุบัน) เราต้องเตรียมเงินถึง 13,500 บาท และ 18,000 บาทต่อเดือน สำหรับค่าใช้จ่ายในอีก 10 และ 20 ปีข้างหน้าตามลำดับกรณีเงินเฟ้อ 3% ต่อปี

 

จำนวนปีจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ (%)
1% 3% 5% 8% 10%
5 10,510 11,593 12,763 14,693 16,105
10 11,046  13,439  16,289 21,589 25,937
15 11,610 15,580 20,789 31,722 41,772
20 12,202  18,061  26,533 46,610 67,275
30 13,478 24,273 43,219 100,627 174,494

 

ลองมาพิจารณาภาพรวมของจำนวนเงินที่เราควรต้องมี ณ วันที่จะเกษียณกัน (ไม่ว่าจะเกษียณเมื่ออายุเท่าไหร่) โดยปัจจัยหลักที่ต้องใช้คำนวณ นอกจากจำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณ ยังมีเงินเฟ้อ และผลตอบแทนการลงทุนที่ได้และจำนวนปีที่ต้องการใช้เงิน (หรือ อายุขัยที่คาดไว้ ลบด้วยอายุเกษียณ นั่นเอง)
 

จำนวนปีที่ใช้เงิน มูลค่าเงินที่ต้องมี หากต้องการใช้เงินเดือน ๆ ละ 30,000 บาท
อัตราผลตอบแทนหลังหักอัตราเงินเฟ้อ
-2% -1% 0% 1% 2% 3%
10 3,988,918 3,787,812 3,600,000 3,424,496 3,260,393 3,106,853
15 6,303,540 5,828,648 5,400,000 5,012,577 4,661,942 4,344,164
20 8,861,807 7,974,166 7,200,000 6,523,238 5,930,221 5,409,327
30 14,814,560  12,600,995   10,800,000   9,327,212  8,116,455 7,115,681
40 22,086,482 17,714,646 14,400,000 11,864,458 9,906,691 8,380,253


จากตัวอย่าง หากอายุ 55 ปี และ คาดว่าจะมีอายุขัย  80 ปี  (บวกสำรองเผื่อ 5 ปี เป็น 85 ปี) ทำให้มีจำนวนปีที่ต้องใช้เงินสูงถึง 30 ปี  หากหลังเกษียณอายุ สามารถลงทุนได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3% แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ทำให้อัตราผลตอบแทนช่วงหลังเกษียณหลังหัก อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ ((1+3%)/(1+2%))-1 = 0.96% หรือประมาณคร่าวๆ  1%  ทำให้ ณ วันเกษียณ เราต้องมีเงินอย่างน้อย 9.3 ล้านบาท

 

แต่ถ้าคงผลตอบแทนไว้ที่ 3% แต่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 4%, ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนช่วงหลังเกษียณหลังหัก อัตราเงินเฟ้อ ติดลบ เป็น -1%  ผลคือ ณ วันเกษียณ เราต้องมีเงินอย่างน้อย 12.6 ล้านบาท คือสูงขึ้นถึง 3 ล้านบาท เลยทีเดียว 

 

จะเห็นว่าเราคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ แต่สามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้มีผลตอบแทนสูงขึ้นได้ เช่น จัดพอร์ตการลงทุนให้มีอัตราผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5% สูงกว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นท่านควรจัดพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการลงทุน และระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงของท่านด้วย

 

  1.  ด้านสุขภาพ  วัยนี้เป็นวัยที่ต้องระมัดระวังเรื่องสุขภาพ และโดยปกติแล้ว กว่า 80% ของค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษา พยาบาลในชีวิตของคนเราจะใช้อยู่ในช่วงหลังเกษียณ นอกจากนี้ ประกันสุขภาพในวัยนี้ยังค่อนข้างแพงและมักเป็นประกันรายบุคคลที่อาจถูกปฏิเสธการรับประกันกรณีสุขภาพเริ่มมีปัญหา ซึ่งต่างจากวัยทำงานที่มักมีประกันชีวิตกลุ่มแบบเหมารวมจากที่ทำงาน จึงต้องมีการตรวจสุขภาพ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย และระมัดระวังเรื่องอาหารตามสมควร นอกจากนี้ เรายังอาจทำประกันสุขภาพกลุ่มทางอ้อมเพิ่ม ผ่านทางผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่มีการพ่วงประกันสุขภาพ เช่น เงินฝาก บัตรเดบิต หรือ กองทุน ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของท่านไว้ให้ดีด้วย
     
  2.  งานอดิเรกหรือกิจกรรมเสริม  อย่าอยู่ว่างๆ โดยไม่มีกิจกรรมเลยหลังเกษียณ ก่อนหยุดงานประจำให้ลองหากิจกรรม หรือทำงานเสริมก่อนว่า ชอบและใช่ หรือเป็นภาระเกินความต้องการหรือไม่ งานหลังเกษียณควรเป็นงานที่รักและถนัด ที่ท่านอยากทำจริงๆ มีการบริหารเวลาตามที่ต้องการ และไม่ก่อภาระกับเงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณมากจนเกินไป ทั้งนี้อาจเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม งานบุญ สอนหนังสือ หรืองานอดิเรกที่เคยอยากทำมาตลอด แต่ไม่เคยมีเวลาทำ
     
  3.  ด้านสังคมและการใช้ชีวิต “อย่าอยู่คนเดียว”  ปกติหลังเกษียณจากงานประจำ ท่านจะมีเวลาว่างมาก ในระยะยาวเราอาจรู้สึกหดหู่ หงุดหงิด และรู้สึกไม่มีคุณค่าจากการว่างงานในขณะที่เพื่อนและครอบครัวยังคงยุ่งและก้าวหน้าจากการทำงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ หรือโรคต่างๆ ได้ จึงต้องมีสังคม เพื่อนฝูง หรือครอบครัวที่เข้าใจ ความคิดเห็นของคนใกล้ชิดจึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ต้องปรึกษาคนใกล้ตัว และทำความเข้าใจกันก่อนลาออกหรือเกษียณก่อนกำหนดเสมอ

 

หลังจากพิจารณารอบด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเงินและพบว่าหลังจากรวบรวมเงินทั้งหมดแล้วเพียงพอก็สามารถลุยได้เลยค่ะ

 

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th