บทความ: ประกันภัย
4 เหตุผลที่มนุษย์เงินเดือนควรทำประกัน
โดย ยุทธพงศ์ แสงรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เมื่อพูดถึงเรื่องการทำประกันชีวิตและสุขภาพ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจจะสงสัยว่า “ทำไมต้องทำในเมื่อปัจจุบันมีสวัสดิการอยู่แล้ว” และมองเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะสามารถเบิกได้ในกรณีที่เจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน อีกทั้งไม่มีความกังวลอะไร ถ้าต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่มเติมเพราะมีรายได้ประจำทุกเดือนอยู่แล้ว
แต่ถ้าหากมีการวางแผนการเงินที่ดี ครอบคลุมครบทุกด้านหรือที่เรียกว่าการวางแผนการเงินแบบองค์รวม จะพบว่าการทำประกันเป็นเครื่องมือที่ดี ที่จะช่วยในการสร้างรากฐานชีวิตให้มั่นคงในระยะยาว ด้วยเหตุผลหลักๆ 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
- สวัสดิการของบริษัทไม่เพียงพอ
แม้ว่าจะมีสวัสดิการของบริษัท แต่ผลประโยชน์ความคุ้มครองที่ได้รับ มักจะเป็นความคุ้มครองเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่มักจะไม่เพียงพอ เนื่องจากความต้องการและคุณภาพการใช้ชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ ค่าห้อง การรักษาพยาบาล รวมถึงโรคร้ายแรงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นการทำประกันเพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้
- เพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลช่วงวัยเกษียณ
เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียมล่วงหน้า เพราะหลังจากที่เกษียณไปแล้ว สวัสดิการของบริษัท รวมถึงสิทธิประกันสังคมจะไม่มีอีกต่อไป เหลือเพียงแค่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่างในการใช้สิทธิ ถ้าหากต้องการรักษาคุณภาพชีวิตให้เหมือนกับตอนที่ยังมีสวัสดิการอยู่ แนะนำให้เริ่มทำประกันตั้งแต่ตอนที่ยังทำงาน เพราะถ้ารอไปทำตอนที่เกษียณแล้ว นอกจากเบี้ยประกันจะแพงขึ้น ยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพที่อาจจะถูกเพิ่มเบี้ย หรือไม่คุ้มครองในบางโรค และบางครั้งอาจถึงขั้นไม่สามารถทำประกันได้ ถ้าหากเคยเป็นโรคร้ายแรงมาก่อน
- เพื่อการออมเงินในระยะยาว
การออมเงินผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิต เช่น ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ หรือประกันควบการลงทุน จะช่วยให้มีการออมอย่างมีระเบียบวินัยและมีความต่อเนื่อง นับว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการออมเงินในระยะยาว อีกทั้งยังมีความแน่นอนของจำนวนเงินที่จะได้รับ ถึงแม้ว่าในระหว่างการออมจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเงินตามจำนวนเงินเอาประกันที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีในเรื่องของการกระจายความเสี่ยง
- เพื่อลดหย่อนภาษี
เป็นสิทธิลดหย่อนที่รัฐบาลส่งเสริมเพราะถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของทางภาครัฐและช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากการเสียชีวิต ทุพพลภาพ และการเจ็บป่วย รวมถึงสนับสนุนให้มีการออมเงินเพื่อการเป็นค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกสำหรับเบี้ยประกันชีวิต ประกันออมทรัพย์ที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และประกันสุขภาพ สามารถลดหย่อนรวมกันได้สูงสุด 100,000 บาทต่อปี ซึ่งในกรณีใช้สิทธิส่วนนี้ไม่ถึง 100,000 บาท สามารถนำเบี้ยประกันแบบบำนาญมารวม เพื่อให้ครบ 100,000 บาทได้ ส่วนที่สองสำหรับเบี้ยประกันแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ สูงสุด 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
สุดท้ายอยากจะฝากคำแนะนำเกี่ยวกับการทำประกันที่ดี มนุษย์เงินเดือนควรจะเริ่มต้นด้วยการวางแผนการเงินก่อน เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นถึงความเสี่ยงและความต้องการในด้านต่างๆ ซึ่งจะทำให้สามารถเลือกแบบประกันได้อย่างเหมาะสม รวมถึงความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันในระยะยาว โดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงินด้านอื่นๆ