logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

อยากมีประกันสุขภาพตอนเกษียณอายุ…จะต้องทำอย่างไร?

โดย คุณเรวัต ลือเวศย์วณิช นักวางแผนการเงิน CFP®   

 

คนส่วนใหญ่มีแผนที่จะเกษียณเมื่อเข้าสู่อายุ 55 - 60 ปี และคาดหวังว่าจะเป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ความสุขในชีวิตลดลง นั่นก็คือ การเจ็บป่วย ซึ่งคนวัยเกษียณมีโอกาสเข้ารักษาพยาบาลมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ และการเจ็บป่วยจะทำให้มีความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ส่งผลให้เงินที่เก็บออมมาหลายสิบปีร่อยหรอลงและส่งผลกระทบต่อแผนการใช้จ่ายเงินในช่วงวัยเกษียณ มีคนวัยเกษียณจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้เงินที่เก็บออมมามากกว่าครึ่ง ไปกับค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งอาจส่งผลให้บางคนต้องกลับไปหางานทำในช่วงวัยที่ควรจะต้องพักผ่อน เพื่อหาเงินมารักษาตัว ดังนั้น หากท่านมีวิธีที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลได้ จะทำให้ท่านสามารถวางแผนเกษียณได้มีอย่างประสิทธิภาพ ลดความกังวลใจด้านค่าใช้จ่าย ส่งผลให้มีความสบายใจและมีความสุขมากขึ้น

 

การทำประกันสุขภาพเป็นการวางแผนค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยการจ่ายเบี้ยประกันที่ทราบว่าจะต้องชำระเมื่อไหร่เป็นจำนวนเงินเท่าใด เพื่อให้บริษัทประกันคุ้มครองค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ไม่ทราบว่าจะจ่ายเมื่อไหร่ และไม่ทราบว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยจะได้รับความคุ้มครองสูงสุดไม่เกินกว่าที่ระบุในสัญญา

 

การทำประกันสุขภาพในช่วงเกษียณอายุจะทำให้ท่านสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงจากการจ่ายเงินก้อนใหญ่ สำหรับค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ได้วางแผนไว้ แต่มี 2 สาเหตุหลักที่ทำให้คนในวัยเกษียณส่วนใหญ่ ไม่สามารถมีความคุ้มครองด้านสุขภาพ

 

  1. มีโรคประจำตัว เมื่ออายุมากขึ้น คนส่วนใหญ่จะมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา และบางโรคเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาด หรืออาจเรียกว่าโรคประจำตัว และเมื่อมีโรคประจำตัวบางโรคแล้วจะไม่สามารถสมัครทำประกันสุขภาพได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงประเด็นนี้ จึงประวิงเวลาการตัดสินใจซื้อความคุ้มครองด้านสุขภาพ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการมีโรคประจำตัวมากขึ้นและอาจไม่ผ่านการพิจารณารับประกัน จึงทำให้ต้องแบกรับความเสี่ยงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ดังนั้นหากท่านวางแผนที่จะทำประกันสุขภาพ เพื่อจะโอนถ่ายความเสี่ยงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับบริษัทประกัน ก็ควรทำประกันตั้งแต่ช่วงที่ท่านมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันการไม่รับทำประกันเนื่องจากมีโรคประจำตัว
  2. ไม่ได้เตรียมเงินสำหรับจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะต้องจ่ายเบี้ยทุกปี และเบี้ยประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามอายุ ทำให้บางคนที่ไม่ได้จัดเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพไว้ อาจจะตัดสินใจยกเลิกประกันสุขภาพของตนเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเกษียณอายุ แต่ก็ต้องแลกกับการที่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาลไว้เอง และมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ดังนั้น หากต้องการที่จะถ่ายโอนความเสี่ยงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับบริษัทประกัน ควรจะจัดเตรียมเงินสำหรับชำระเบี้ยประกันในช่วงเกษียณไว้ด้วย หรือเลือกทำประกันสุขภาพที่ชำระเบี้ยระยะสั้นแต่ให้ให้ความคุ้มครองระยะยาว (ชำระเบี้ยประกันในช่วงวัยทำงาน แล้วให้คุ้มครองที่ครอบคลุมถึงช่วงวัยเกษียณอายุด้วย) โดยอาจเรียกประกันในกลุ่มนี้ว่า Long-Term Health Care

 

ดังนั้นคนที่คาดว่าตนเองจะไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล หรือมีสวัสดิการการรักษาพยาบาลแต่ไม่เหมาะสมกับตนเองในช่วงเกษียณอายุ อยากให้ท่านพิจารณาการทำประกันสุขภาพ เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับบริษัทประกัน โดยแนะนำให้ท่านสมัครทำประกันตั้งแต่ตนเองมีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งจัดเตรียมเงินเพื่อจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในช่วงเกษียณอายุเอาไว้ให้เพียงพอด้วย หรืออาจจะเลือกทำประกันสุขภาพในกลุ่ม Long-Term Health Care เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพในช่วงเกษียณอายุ โดยในการทำประกันสุขภาพ ควรจะพิจารณาเรื่องเงินเฟ้อด้านค่ารักษาพยาบาลด้วย ซึ่งการวางแผนด้านค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ดี จะช่วยให้ทุกท่านสามารถใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอายุได้อย่างสบายใจ ลดความกังวลใจ และมีความสุขมากขึ้น

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th