logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

ทิศทางการลงทุนไตรมาสที่ 2/2019

โดย คุณนิพจน์ ไกรลาศโอฬาร นักวางแผนการเงิน CFP®, CFA, FRM,

 

อาจกล่าวได้ว่าปี 2018 น่าจะเป็นหนึ่งในปีที่นักลงทุนไม่อยากจดจำมากที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากหากดูบทสรุปผลตอบแทนจากการลงทุนตลอดทั้งปี แทบจะไม่มีสินทรัพย์ใดเลยที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก คงมีก็แต่ดอกเบี้ยเงินฝาก หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REITs หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบางตัวเท่านั้น โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้สภาวะการลงทุนในปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง สามารถสรุปเป็นปัจจัยหลักๆ ได้ 2 ปัจจัย ได้แก่

 

  1. การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าตึงตัวมาตรการทางการเงินอย่างต่อเนื่องผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณการเร่งตัวในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากการขึ้นดอกเบี้ยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจดีเพียงอย่างเดียว ตลาดการเงินโดยเพราะตลาดหุ้นก็น่าจะดีไปด้วยจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการขยายตัวสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ด้วยเพราะปัจจัยต่อมา นั่นก็คือ
  2. ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งตลอดปีมีแนวโน้มที่จะตกลงกันไม่ได้ จนมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้า (tariff) รอบที่ 1 ไปแล้ว และ รอบที่ 2 ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความกังวลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าชะลอตัวลงในปีถัดๆ มา จนทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4/2018 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี 2019 ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวดูเหมือนจะมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการส่งสัญญาณชะลอมาตรการทางการเงินแบบตึงตัวและอาจพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันแนวโน้มการเจรจาด้านประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็ดูมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หลังจากเส้นตายการขึ้นภาษีนำเข้ารอบที่ 2 ถูกเลื่อนออกไป และคาดว่าการเจรจาก็ใกล้บรรลุข้อตกลงในไม่ช้านี้

 

จากปัจจัยดังกล่าวนั่นก็เพียงพอต่อการดีดตัวกลับของราคาสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งในบางประเทศ ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี สามารถปรับตัวเป็นบวกได้ชดเชยกับผลขาดทุนตลอดปี 2018 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน

 

สิ่งที่กำลังจะบอกผู้อ่านจากปรากฏการณ์ที่กล่าวมา สรุปได้ว่า หากท่านเป็นนักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวพอ และมีการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความผันผวนในระยะสั้น และสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดีในระยะยาวได้ ตรงกันข้ามกับนักลงทุนระยะสั้นที่ลงทุนตามอารมณ์ตลาดก็มักจะพลาดโอกาสการลงทุนหลายๆ ครั้งไป

 

สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของครึ่งปีแรก หากดูจากพัฒนาการเชิงบวกของปัจจัยภายนอก 2 ปัจจัยที่กล่าวมา ยังคงสนับสนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจมากกว่าการลงทุนทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบของเงินฝาก หรือกองทุนตราสารหนี้ ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาวได้ ส่วนสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) เท่าไหร่ที่นักลงทุนควรมีก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ยอมรับได้

 

สำหรับภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย นักวิเคราะห์หลายๆ สำนัก คาดว่าปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวที่ 3.5%-4.0% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะยังคงมาจากการลงทุนภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีจากปีก่อน ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ สะท้อนสภาวะราคาสินค้าเกษตรที่ซบเซาต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ด้วยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ร้อนแรงจนเกินไป ทำให้คาดการณ์ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีการขยายตัวได้ 7-10%โดยเฉลี่ย โดยกลยุทธ์การลงทุนยังคงเน้นหุ้นที่อิงกับการบริโภคภายในประเทศ เน้นหุ้นหรืออุตสาหกรรมที่แนวโน้มผลการดำเนินงานมีความชัดเจนและแน่นอนสูง อ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกในระดับต่ำ ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก สาธารณูปโภค โรงพยาบาล และท่องเที่ยว แต่หากเป็นหุ้นที่จัดประเภทตามคุณลักษณะ ได้แก่ หุ้นปันผลสูง และ หุ้นคุณค่า ซึ่งการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้หุ้น 2 ประเภทที่กล่าวมาสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด เช่นเดียวกันกับ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REITS และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นอีกปีที่ได้รับความสนใจและมีผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ส่วนเพิ่มในการหาสินทรัพย์ทดแทนตราสารหนี้ที่มี yield ที่ต่ำในยุคปัจจุบัน

 

กล่าวโดยสรุป  นอกจากที่จะนำมุมมองดังกล่าวไปประกอบการตัดสินใจแล้ว ผู้ลงทุนควรประเมินความเสี่ยงของตนเอง และหมั่นทำการบ้านติดตามสภาวะการลงทุนอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ลงทุนเองในระยะยาวอีกด้วย 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th