logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

ทบทวนแผนเกษียณก่อนจะสาย

โดย คุณพิชญา ซุ่นทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®

 

เคยได้ยินคำว่า “set it and forget it” ไหมครับ เราอาจเคยถูกชักชวนให้ออมหรือลงทุนแบบสม่ำเสมอ ขอให้เริ่มก้าวขึ้นบันไดเลื่อนก้าวแรกแบบถูกต้องก่อน หลังจากนั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบก็จะสามารถไปถึงเป้าหมายการเงินได้

 

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่เราควรจะตั้งเป้าหมาย วางแผนการเงินให้เหมาะสม และเริ่มลงมือเก็บออมอย่างมีวินัย แต่การปล่อยให้เงินของเราทำงาน โดยที่ไม่เคยกลับไปทบทวนเลย คงไม่ใช่การจัดการเงินที่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายระยะยาวอย่างเป้าหมายเพื่อการเกษียณ เพราะถ้าหากการลงทุนที่คาดไว้ เกิดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ก็จะมีโอกาสสูงมากที่เราจะเดินหลุดออกจากเป้าที่คาดไว้

 

นอกจากนี้ในระหว่างการเดินทางไปถึงเป้าหมาย มีปัจจัยต่างๆ มากมายที่มากระทบกับแผนเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องรายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน ภาระค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียนบุตร หรือกระทั่งปัญหาเรื่องสุขภาพของคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบกับแผนเกษียณที่เคยคำนวณไว้โดยตรง เช่น จากเดิมที่ต้องเตรียมไว้สำหรับเกษียณจำนวน 10 ล้านบาท อาจจะต้องเตรียมมากกว่าเดิมเป็น 15 ล้านบาท  หรืออาจจะต้องขยายระยะเวลาทำงานออกไปอีกเพื่อให้มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ เป็นต้น

 

ดังนั้นการทบทวนแผนการเกษียณจึงมีความสำคัญอย่างมากและควรทำอย่างน้อยที่สุดปีละหนึ่งครั้ง บทความนี้ผมจะขอทิ้งคำถามให้ทุกท่านกลับไปทบทวนแผนการเงินของตนเองกันครับ

 

 จำนวนเงินที่เคยคิดไว้ว่าจะใช้หลังเกษียณยังคงเพียงพอไหม? 

นอกจากปัจจัยเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ยังมีปัจจัยส่วนตัวที่อาจเปลี่ยนไปและกระทบกับรายจ่ายในช่วงหลังเกษียณได้ เช่น การย้ายถิ่นที่อยู่ ปัญหาสุขภาพทั้งจากส่วนตัวและคนในครอบครัว หนี้สินจากการซื้อสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ชิ้นใหม่ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้นการทบทวนจำนวนเงินจะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนการออมได้ทัน

 

 ผลงานพอร์ตการลงทุนยังเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่? 

ในแต่ละปีเราควรจะประเมินผลจากการลงทุนหรือพอร์ตหลักทรัพย์ของเราเทียบกับดัชนีเปรียบเทียบ (benchmark) ว่าเป็นอย่างไร หากเมื่อเราได้ลงทุนมาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว ผลการดำเนินงานยังแย่กว่าดัชนีเปรียบเทียบมาก เราอาจจะพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นหลักทรัพย์ที่ลงทุนเสียใหม่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่เราได้คาดหวัง แต่การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในขณะที่ตลาดมีความผันผวนทำได้ยาก ดังนั้นหน้าที่เราคือคอยปรับสัดส่วนการลงทุน (portfolio rebalancing) ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม หากผลตอบแทนจากการลงทุนมีโอกาสที่จะหลุดออกจากแผนที่เราวางไว้ เราอาจจะต้องเพิ่มเติมเงินลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเกษียณ

 

 สัดส่วนการลงทุนเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่? 

อายุที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับริ้วรอยแห่งประสบการณ์และภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้น แต่ก็กลับทำให้ความสามารถในการรับความเสี่ยงของหลายคนลดลง ดังนั้นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนเดิมไว้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนเลย จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงสูงมีสัดส่วนมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนมากขึ้นตามมา

 

ดังนั้นนอกจากที่เราจะปรับพอร์ตตามกรอบระยะเวลาและปรับให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจไว้แล้ว เราอาจจะต้องพิจารณาปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น ตอนอายุ 40 ปี เคยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% แต่พออายุขึ้นมาเป็น 50 ปี จึงปรับลดสินทรัพย์เสี่ยงลงเหลือ 50% ซึ่งจะลดการขาดทุนในวันที่ตลาดผันผวนลง

 

 เงินออมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง? 

มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้ของเราจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี หรืออาจจะลดลงได้จากการเปลี่ยนงาน ทำให้ภาระภาษีในแต่ละปีต่างกันไปด้วย ซึ่งหากเราไม่มีการทบทวนแผนการเงินในแต่ละปี เราอาจจะกำลังจ่ายภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น ฉะนั้นทุกปีจึงต้องมีการวางแผนการออมหรือลงทุนที่ช่วยลดภาระภาษีให้เหมาะสม และต้องไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

 

 คุณมีแผนคุ้มครองรายได้แล้วหรือยัง? 

ในที่นี้ไม่เพียงวางแผนในส่วนของตัวเองเท่านั้นแต่ควรประเมินความคุ้มครองที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนในครอบครัว ดังนั้นควรพิจารณาปรับเปลี่ยนทุนประกันให้เหมาะสมกับตนเอง และคนที่เราดูแล รวมถึงใช้สิทธิลดหย่อนทางภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมๆ กัน ในบางกรณีหากประเมินแล้วว่าทุนประกันชีวิตหรือทรัพย์สินที่ทำไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองแล้ว อาจปรับลดทุนหรือเวนคืนกรมธรรม์ เมื่อลดค่าใช้จ่ายลงได้เช่นกัน

 

จะเห็นได้ว่าในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายการเกษียณ มีปัจจัยมากมายที่กระทบกับแผนการเงินของเรา หรืออาจจะมีเป้าหมายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้นต้องมีการทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นจุดอ่อนของแผน หรือจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้ไม่กระทบกับแผนเงินออมเพื่อใช้หลังจากการทำงานของเราได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th