logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

จัดการสินทรัพย์ตลอดเส้นทางการวางแผนเกษียณ

โดย คุณพิชญา ซุ่นทรัพย์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2561

 

ในการเดินทางเพื่อไปถึงเป้าหมาย ยิ่งเป็นการเดินทางไกล หรือการปีนเขาสูง ระหว่างทางย่อมมีอุปสรรคเข้ามา และทำให้เราเบี่ยงออกจากแผน หรือทำให้เราไปถึง เป้าหมายช้าลง ซึ่งหากเราไม่มีการเตรียม ความพร้อมหรือปรับเปลี่ยนเส้นทางให้ เหมาะสมกับสถานการณ์ อาจจะทำให้เราไปไม่ถึงที่หมายเลยก็เป็นได้

 

ในการวางแผนการเงินก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายระยะยาวอย่างการวางแผนเงินออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 20-30 ปี โอกาสที่เราจะเจออุปสรรคในการเก็บเงินระหว่างทางย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย ที่ไม่คาดคิด หรือผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าที่คาดหวัง ทำให้แผนเกษียณอาจต้องเลื่อนออกไป หรือเงินออมไม่เพียงพอใช้ หลังออกจากงาน

 

ดังนั้นในการบริหารเงินออมสำหรับการเกษียณนั้นควรมีการเตรียมพร้อม และจัดสรรสินทรัพย์ให้เหมาะสม และมีการทบทวน อยู่เป็นประจำ เพื่อให้เงินออมของเราเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ วันนี้จึงขอแนะนำแนวทางการบริหารสินทรัพย์และตัวอย่างเพื่อให้ท่านสามารถเก็บเงินเกษียณได้อย่างมั่นใจ

 

  1.  วางแผนเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทาง 

เริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมายและแผนการเก็บออมเงินเกษียณของตนเองก่อนว่าต้องการมีไลฟ์สไตล์แบบใด ต้องใช้เงินเท่าไร เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุน และสัดส่วนการลงทุนได้ ทั้งนี้อย่าลืมประเมินถึงค่าใช้จ่ายระหว่างทาง เพื่อเตรียมเงินสภาพคล่องให้เหมาะสมด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องดึงเงินออมมาใช้ในยามฉุกเฉิน

 

  1.  อย่าลืมเรื่องความเสี่ยงระหว่างทาง 

เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น และลดความเสียหายในยามเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เราจึงควรจัดสรรเงินบางส่วนเพื่อโอนความเสี่ยงออกไป ด้วยการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุไว้ให้เพียงพอ

 

  1.  ใช้เครื่องมือทุ่นแรงให้ถึงเป้าได้ไวยิ่งขึ้น 

เครื่องมือการเงินที่เราใช้นั้นหากเลือกให้ดี ก็อาจได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย อย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ เป็นต้น ซึ่งภาษีที่ประหยัดลงจะช่วยให้มีเงินออมถึงเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น

 

เพื่อให้เห็นภาพของคำแนะนำ 3 ข้อแรกนี้ จึงขอยกตัวอย่างนายวิ่ง อายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 50,000 บาท  และมีรายจ่ายเดือนละ 30,000 บาท โดยนายวิ่งตั้งเป้าว่าต้องการมีเงินออมเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ 60 ปี ประมาณ 10,000,000 บาท

 

นายวิ่งรับความเสี่ยงได้สูงและยังมีระยะเวลาเก็บเงินอีกกว่า 30 ปี จึงวางแผนลงทุนเดือนละ 7,000 บาท ในพอร์ตการลงทุนความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในหุ้น 70% ของพอร์ตการลงทุนรวม ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 15% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 10% และทองคำ 5% ซึ่งคาดหวังอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ 8% ต่อปี โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผลเพื่อให้ผลตอบแทนทบต้นเร็วขึ้น และลงทุนในหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อนำยอดเงินลงทุนไปขอลดหย่อนภาษีได้ด้วย

 

นอกจากนี้ยังเตรียมเงินไว้เป็นสภาพคล่องฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 90,000 – 180,000 บาท สำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน นายวิ่งพิจารณาทำประกันสุขภาพ และอุบัติเหตุ เบี้ยประกันรวม 40,000 บาท คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1,000,000 บาท

 

  1.  ทบทวนสถานะของตนเองอย่างสม่ำเสมอ 

ในแต่ละช่วงชีวิต สถานะ ภาระค่าใช้จ่าย ล้วนมีการเปลี่ยนไป รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ขึ้นลงอาจส่งผลต่อแผนการออมของเราได้ ดังนั้นจึงควรพิจารณาทบทวนแผนการเงินของตนเอง อย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการออม หรือสัดส่วนการลงทุนให้ผลตอบแทนและความเสี่ยงอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ เช่น หากสัดส่วนของหุ้นเบี่ยงออกจาก 70% เป็น 80% ของมูลค่าพอร์ตโดยรวม ก็ควรมีการปรับลดสัดส่วนให้เหลือ 70% ดังที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้ภาพรวมของเงินอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไป

 

  1.  ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา 

เมื่อเวลาผ่านไปเรายิ่งเดินเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น ก็ยิ่งต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ท่านอาจจะต้องลงไปไต่เขาใหม่ ซึ่งในวันนั้นท่านอาจจะหมดแรงจะกลับขึ้นมาใหม่แล้วก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อเราอายุมากขึ้น หรือเหลือเวลาเก็บออมเงินน้อยลง สิ่งที่เราควรทำคือปรับลดสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงลง เช่น เดิมมีหุ้นในสัดส่วน 70% พออายุ 45-50-55 ปี อาจจะปรับลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 60% 50% 40% ตามลำดับ เพื่อลดผลขาดทุนในวันที่ตลาดเกิดความผันผวนขึ้น และช่วยรักษาเงินออมส่วนใหญ่ของเราไว้ในวันที่เราเกษียณ

 

  1.  เป้าหมายเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่  อย่าลืมจัดกระเป๋าเตรียมตัวกันใหม่ให้พร้อมด้วย 

มาถึงคำแนะนำข้อสุดท้าย ท่านอาจจะเดินทางมาถึงเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นั่นยังไม่ใช่เส้นชัยเพราะเรายังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไป แต่เป้าหมายของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เราสะสมเงินออมและความมั่งคั่งมาตลอดทาง วันนี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและกลยุทธ์การลงทุน ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีเงินเพียงพอใช้ตลอดเสมือนยังทำงานอยู่ พอร์ตการลงทุนที่เดิมเน้นการเติบโต วันนี้ต้องเปลี่ยนมาเน้นการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ อย่างปันผล ค่าเช่า และดอกเบี้ยแทน หรืออาจเน้นปกป้องเงินต้นไม่ให้เสื่อมค่าลง ซึ่งจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่าง พันธบัตร หุ้นกู้ เป็นต้น

 

หวังว่าคำแนะนำทั้ง 6 ข้อ จะช่วยให้ท่านสามารถจัดสรรเงินออม เงินลงทุนเพื่อการเกษียณของท่านได้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญอย่าลืมทบทวนแผนการเงินของตนเองอย่างน้อยปีละครั้ง ก็จะสามารถเดินทางไปถึง เป้าหมาย (เกษียณ) โดยสวัสดิภาพได้

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th