logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

Employee's Choice อีกทางเลือกการลงทุน

โดย ธัญญพัทธ์ วรวงษ์สถิตย์  นักวางแผนการเงิน CFP®, CFA 
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนตุลาคม 2561

 

การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (Provident Fund) เป็นแหล่งเงินออมเพื่อเกษียณที่สำคัญของลูกจ้าง เริ่มต้นจากความสมัครใจ แต่เมื่อเข้าร่วมไปแล้ว จะกลายเป็นการออมเงิน “ภาคกึ่งบังคับ” ทันทีเพราะนายจ้างจะหักเงินเดือนให้ลูกจ้างลงทุนอย่างมีวินัยทุกเดือนก่อนเอาไปใช้

 

ในอดีตลูกจ้างที่เข้าร่วมอาจชอบแนวคิดของการออมก่อนใช้ แต่ก็ขัดใจที่ไม่สามารถเลือกลงทุนให้ตรงวัตถุประสงค์ของตนได้เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้แนวคิดเรื่อง “One solution fits all” หรือหนึ่งนโยบายการลงทุนเพื่อคนทั้งบริษัท ซึ่งวัตถุประสงค์การลงทุนของผู้บริหารระดับสูงวัยกลางคน พนักงานใหม่ (First Jobber) ที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง และคุณป้าแม่บ้านใกล้เกษียณย่อมแตกต่างกัน และนโยบายดังกล่าวมักเน้นลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งแลกมาด้วยผลตอบแทนคาดหวังที่ต่ำ ทำให้ลูกจ้าง (โดยเฉพาะกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูง) จำใจลงทุน เพราะอยากได้เงินสมทบจากบริษัท แต่อาจไม่อยากลงทุนมาก เพราะ “ไม่ใช่แนว” ไม่ตอบโจทย์ เสียโอกาสและไปลงทุนทางเลือกอื่นดีกว่า ซึ่งในหลายครั้งอาจไม่ได้ลงทุน และจบลงที่กระเป๋าใบใหม่ หรือทริปท่องเที่ยวแทน

 

แต่ทุกวันนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ให้ทางเลือกในการลงทุนตามนโยบายที่ลูกจ้างต้องการ (Employee’s Choice) จึงเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดที่หลายคนเคยมองว่า “ไม่ใช่แนว” ให้กลับมามีบทบาทสำคัญในการวางแผนเพื่อเกษียณ ซึ่งจุดเด่นของ Employee’s Choice ได้แก่

 

  1. ทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย: Employee’s Choice ให้ทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ (Asset Class) หลายประเภท (ความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ถ้าเทียบกับกองทุนยอดฮิตของลูกจ้างอย่าง LTF/RMF Employee’s Choice ให้ทางเลือกที่หลากหลายกว่า LTF (ซึ่งมีแต่หุ้นในประเทศ) แต่น้อยกว่า RMF

 

  1. การจัด Portfolio แบบ DIY:  Employee’s Choice ให้โอกาสลูกจ้างได้จัดเงินลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของตน ถ้าเทียบกับอาหาร จะมีทางเลือกทั้งแบบ Set Menu (จัด Portfolio สำเร็จมาให้ลูกจ้างเลือกแบบที่ถูกใจ) และแบบ Àla carte (ให้ลูกจ้างจัด Portfolio เอง แต่อาจคุมสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทอง หรืออสังหาริมทรัพย์ และคุมความหลากหลายไม่ให้มากเกินไป)

 

  1. Dollar Cost Average (DCA): DCA ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ที่กล่าวถึงเพราะวินัยการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เพราะไม่ว่าเราจะมีทางเลือกการลงทุนหรือเครื่องมือในการลงทุนที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดวินัยในการลงทุน ย่อมบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ยาก Employee’s Choice นอกจากจะทำให้ลูกจ้างมีวินัยการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังให้โอกาสลูกจ้างเปลี่ยนการกระจายการลงทุน (Allocation) ของเงินลงทุนใหม่ที่สะสมทุกเดือน ซึ่งเปลี่ยนได้บ่อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน

 

  1. การสับเปลี่ยนกองทุน (Fund Switching): Employee’s Choice อนุญาตให้ลูกจ้างสับเปลี่ยนกองทุนใน Portfolio ของตนได้ (ความถี่ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) ซึ่งตอบโจทย์ลูกจ้างที่อยากจับจังหวะการลงทุนได้ การสับเปลี่ยนก็ทำได้ง่ายๆ ผ่าน website ของบลจ.ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

จะเห็นว่าการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Employee’s Choice มีความยืดหยุ่นสูงขึ้นมาก เหมาะสมที่จะใช้จัด portfolio เพื่อวางแผนเกษียณ แต่สำหรับหลายๆ คน การลงทุนใน Employee’s Choice คงไม่ใช่แหล่งเงินลงทุนเพื่อเกษียณเพียงแหล่งเดียว อาจมีการลงทุนใน LTF RMF และกองทุนทั่วไปร่วมด้วย ดังนั้นต้องไม่ลืมที่จะมองภาพใหญ่ก่อนว่าควรกระจายการลงทุนทั้งหมดในแต่ละ  Asset Class อย่างไร แล้วจึงจัดสรรการลงทุนในแต่ละ Asset Class ไปที่แหล่งต่างๆ รวมถึง Employee’s Choice ต่อไป

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th