บทความ: เกษียณ
การวางแผนเกษียณและภาษี ให้ได้ประโยชน์ 2 เด้ง
โดย เฉลิมพล ทองเปลว นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนตุลาคม 2561
ในยุคปัจจุบัน การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ คงเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักทางการเงินของคนส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งทำได้โดยการสะสม จัดสรร สินทรัพย์ ที่มาจากรายได้จากอาชีพต่างๆ ในระหว่างวัยทำงาน และแน่นอน รายได้ที่ได้รับนั้น อาจจะต้องนำมาคำนวณเพื่อจ่ายภาษีให้กับประเทศของเรา แต่ถ้าเราได้วิธีที่จะทำให้ ได้ทั้งวางแผนเกษียณที่ต้องการแล้วยังทำให้ช่วยประหยัดภาษีไปในตัวได้อีกด้วย ขอแนะนำวิธีดังนี้ครับ
1. ทำประกันสุขภาพ
เพื่อโอนย้ายความเสี่ยงเรื่องการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ เป็นเรื่องพื้นฐานในการวางแผนเกษียณ แม้ว่ามองดูเผินๆ อาจจะไม่เป็นการสะสมสินทรัพย์ แต่หากไม่เตรียมเอาไว้ ทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ในช่วงเกษียณก็อาจจะต้องสูญเสียไปอย่างมากหากเกิดการเจ็บป่วยรุนแรง หลังจากป่วยแล้วถึงมาทำประกัน ก็อาจไม่สามารถทำได้ในเงื่อนไขเดิมหรือบางกรณีต้องเสียเบี้ยประกันแพงกว่าปกติ จึงควรต้องทำไว้ในขณะสุขภาพดี และปัจจุบันเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำไปคำนวณลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท มีข้อแนะนำว่าประกันสุขภาพควรทำให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท่าน ไม่ควรยึดทำตามเท่าจำนวนเบี้ยประกันที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเท่านั้น
2. สะสมสินทรัพย์ลงทุนที่มีจุดประสงค์ เพื่อการเกษียณที่ได้สิทธิทางภาษี
สินทรัพย์ ประเภทนี้มักจะใช้ระยะเวลาสะสม หรือ อายุของตัวเรามาเกี่ยวข้องในสัญญา เช่น ครบอายุ 55 ปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยทางอ้อมไม่ให้นำมาใช้ก่อนเวลาเกษียณของเรานั่นเอง แถมระหว่างลงทุนให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ซึ่งได้แก่
2.1 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
หรือ ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า RMF การลงทุนวิธีนี้สร้างวินัยออมเงินด้วยเงื่อนไขจำง่ายว่า เมื่อเริ่มลงทุนใน RMF แล้ว บังคับว่าต้องลงทุนใน RMF ไปเรื่อยๆ ทุกปีที่มีรายได้ (ขั้นต่ำ 3% ของรายได้ หรือ 5,000 บาทแล้วแต่จำนวนไหนน้อยกว่า) จนครบอายุ 55 ปี และนับจำนวนปีที่ลงทุนได้ครบ 5 ปี เป็นอย่างน้อย (มีข้อผ่อนผันได้ว่าลงทุนปีเว้นปีได้) เงินลงทุนนำไปคิดลดหย่อนภาษีต่อปีได้สูงสุด 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท
2.2 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับภาคเอกชนที่บริษัทได้จัดตั้งกองทุนให้กับพนักงาน จุดเด่นมากๆ ของกองทุนนี้ คือ การที่กฎหมายกำหนดว่าบริษัทต้องสมทบเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าที่พนักงานสะสม เช่น นาย เอ สะสมเข้ากองทุน 10% ของเงินเดือน บริษัทก็ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนให้ นาย เอ ขั้นต่ำ 10% เช่นกัน เปรียบเสมือนว่าเบื้องต้น นาย เอ ก็ได้กำไรเงินต้น 100%จากการสะสมเงินแล้ว ยังไม่รวมดอกผลจากผลการดำเนินการของกองทุน เงินกองทุนนี้จะนำออกมาใช้โดยไม่มีภาระภาษีใดๆ เมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินในส่วนที่พนักงานหักสะสมจากเงินเดือนตัวเองเข้ากองทุน นำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท
2.3 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.
สำหรับภาครัฐ ส่งเสริมให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน ได้ออมเพื่อวัยเกษียณ ปัจจุบันจึงมีกฎหมายให้สิทธิสะสมเงินเข้ากองทุนได้จำนวนตั้งแต่ 3-15% ของเงินเดือน แต่เงินสมทบจากภาครัฐกำหนดไว้ที่ 5% ของเงินเดือน การนำเงินกองทุนออกมาใช้โดยไม่มีภาระภาษี ต้องดูที่อายุสมาชิกครบ 50 ปีขึ้นไป ประกอบกับอายุราชการ เงินส่วนที่สะสมจากเงินเดือนเข้ากองทุนนี้ นำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 500,000 บาท
2.4 กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.
เป็นโครงการใหม่ที่พึ่งเริ่มจัดตั้งในปี 2558 ภาครัฐพยายามส่งเสริมเรื่องการออมเพื่อการเกษียณให้คนทุกอาชีพ โดยเมื่อเราสะสมเงินเข้ากองทุน รัฐจะมีการสมทบเงินให้ด้วย ซึ่งจะสมทบเท่าไร ก็สามารถศึกษาได้ตามเงื่อนไขกองทุน จุดเด่นของกองทุนนี้ คือเริ่มสะสมได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีเลย และเมื่อครบอายุ 60 ปี ก็จะได้รับบำนาญทุกเดือนไปจนเสียชีวิต กองทุนนี้สะสมได้สูงสุดปีละ 13,200 บาท และนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
2.5 ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าแบบประกันประเภทนี้จะจ่ายเงินบำนาญรายปีให้เราได้เมื่อครบอายุ 55 ปีเป็นต้นไปจนถึงอายุ 85-90 ปี แล้วแต่แบบประกัน จุดเด่นคือ มีการจ่ายทุนประกันชีวิตหากเสียชีวิตก่อน หรือ หากมีสัญญาคุ้มครองการทุพพลภาพแนบ แล้วเกิดเหตุเข้าเงื่อนไขในกรมธรรม์ ก็ไม่ต้องชำระเบี้ยประกันอีกต่อไปแต่ยังรอรับบำนาญหลังเกษียณไปตลอดได้เหมือนเดิม เบี้ยประกันบำนาญใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้และไม่เกิน 200,000 บาท
2.6 ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์
ซึ่งมีแบบประกันหลากหลายให้เลือก จำนวนปีที่ออมได้มีทั้งระยะสั้น หรือ ระยะยาว แต่ต้องมีระยะเวลาสัญญา 10 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบครบกำหนดได้เงินก้อนหรือเงินรายปีทุกปีจนครบสัญญา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ การรับรองผลตอบแทน เบี้ยประกันแบบนี้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
2.7 กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF
หากจะใช้ LTF ในการนำมาวางแผนเกษียณ ย่อมทำได้เช่นกันและสามารถใช้สิทธิลดภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท แต่ทั้งนี้เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้และตั้งใจนำไปอยู่ในแผนเกษียณจริงจัง เนื่องจาก LTF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนไปใช้ได้ก่อนโดยไม่มีบทปรับทางภาษี เพียง 7 ปีปฏิทินนับจากลงทุน
จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณในปัจจุบัน รัฐบาลสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการออมในสินทรัพย์ลงทุนหลายทาง หรือแม้กระทั่งการทำประกันสุขภาพ แต่ในการคำนวณภาษีสุดท้ายอาจต้องศึกษาเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกครั้งให้ชัดเจน ขอให้ทุกท่านได้วางแผนเกษียณตามเป้าหมายแถมได้เงินภาษีคืนมาด้วยอีกต่อหนึ่ง ทุกปีๆ เลยนะครับ