บทความ: ลงทุน
ลงทุนกองทุนปันผล หรือไม่ปันผล แบบไหนดีกว่ากัน?
โดย นพพล มงคลานันท์กุล นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกันยายน 2561
ปัจจุบันการลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีกองทุนให้นักลงทุนเลือกลงทุนได้หลากหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศหรือกองทุนที่มีการ กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างประเทศ นอกจากนั้นในบางกองทุนยังมีนโยบายการจ่ายเงินปันผล (Dividend) ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับเป้าหมายของตนเอง
สำหรับกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีโอกาสได้รับกระแสเงินสด โดยอัตราการจ่ายเงินปันผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกองทุนนั้นๆ แต่สำหรับกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลทางผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนต่อเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น
กองทุน A มีนโยบายจ่ายเงินปันผล กองทุน B ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ทั้ง 2 กองทุนมีราคา NAV 10 บาท โดยลงทุนกองทุนละ 100,000 บาท ต่อมาในปีที่ 1 ราคา NAV ของ 2 กองทุนปรับขึ้นมา 10% หรือหน่วยละ 11 บาทเท่ากันทั้งคู่ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนกองทุนละ 110,000 บาท
หลังจากนั้นกองทุน A ประกาศจ่ายเงินปันผลในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ราคา NAV ปรับลดลงมาอยู่ที่ 10 บาท ซึ่งโดยปกติราคา NAV นั้นมีโอกาสที่จะปรับลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินปันผลที่กองทุนจ่ายออกมา สำหรับเงินปันผลจากกองทุนรวมโดยทั่วไปนั้น ถือเป็นเงินได้ที่จะต้องเสียภาษีผู้ลงทุนสามารถเลือกให้หักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินปันผลไว้ 10% และไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ ดังนั้นกระแสเงินสดคงเหลือที่ผู้ลงทุนจะได้รับหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายจะอยู่ที่ 9,000 บาท (10,000 บาท -10%) หรือหากเลือกไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายก็จะต้องนำเงินที่ได้รับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้ในปีภาษีที่ได้รับเงินปันผลนั้น ส่วนกองทุน B ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ราคา NAV จึงอยู่ที่ 11 บาท (เท่าเดิม)
ในปีที่ 2 หากราคา NAV ทั้ง 2 กองทุนปรับขึ้นมาอีก 10% โดยราคา NAV กองทุน A กลับมาอยู่ที่ 11 บาท (ภายหลังจากการจ่ายเงินปันผลราคา NAV เท่ากับ 10 บาท) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 110,000 บาท ส่วนราคา NAV กองทุน B ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 12.10 บาท (จากเดิม 11 บาท) คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 121,000 บาท
โดยสรุปแล้วผู้ที่ลงทุนในกองทุน A จะได้รับกระแสเงินสดจากเงินปันผลหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายจำนวน 9,000 บาทไปใช้จ่ายก่อน เมื่อรวมกับมูลค่าปัจจุบันที่ 110,000 บาท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 119,000 บาท ส่วนผู้ที่ลงทุนกองทุน B ในช่วงที่สินทรัพย์ปรับตัวขึ้น มูลค่าเงินลงทุนจะอยู่ที่ 121,000 บาท ซึ่งเกิดจากเงินลงทุนที่ทางผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนต่อจึงช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเลือกลงทุนในกองทุน A ที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จะเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการรับกระแสเงินสดไปใช้จ่ายช่วยให้ผู้ลงทุนมีสภาพคล่อง แต่เงินปันผลในส่วนนี้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต้องนำไปรวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี ส่วนกองทุน B ที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลจะเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระแสเงินสด ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้ และเมื่อต้องการกระแสเงินสดออกมาใช้จ่ายก็สามารถทำการขายคืนกองทุน B ออกมา
สุดท้ายนี้การเลือกกองทุนปันผลหรือไม่ปันผลให้เหมาะกับความต้องการของตนเองย่อมจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถวางแผนการบริหารเงินได้ตรงกับความต้องการและสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ