logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

วิธีเลือกซื้อประกันให้ลูก

โดย นันท์นภัส  จันทเสรีนนท์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกันยายน 2561

 

ลูก คือ ดวงใจของพ่อแม่ ความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันสิ้นสุด โดยเฉพาะอยากให้ลูกมีอนาคตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง เมื่อลูกเจ็บป่วยก็อยากรักษาให้ดีที่สุด พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงนึกถึงการทำประกันให้ลูกเป็นเรื่องแรกๆ เพื่อจะช่วยลดความกังวลใจไปได้บ้าง แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเลือกทำประกันแบบไหน ใครว่าแบบไหนดีก็ซื้อแบบนั้น ดังนั้นเพื่อให้การทำประกันให้ลูกตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง ก่อนทำประกันคุณพ่อคุณแม่ต้องทบกวนก่อนนะคะว่า ต้องการทำประกันให้ลูกเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งผู้เขียนมีคำแนะนำดังนี้  

  1. ต้องการออมเงินเก็บไว้ให้ลูกในอนาคต แต่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุน หรืออยากให้เงินก้อนนี้อยู่ในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ แบบประกันที่แนะนำ คือ แบบสะสมทรัพย์ เพราะมีการกำหนดไว้ในกรมธรรม์ชัดเจนว่าจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจะได้รับเงินก้อนคืนเท่าไหร่  ซึ่งช่วยให้พ่อแม่วางแผนเงินออมให้ตรงกับเป้าหมายได้  ตัวอย่างเช่น อีก 20 ปีข้างหน้าอยากมีเงิน 1 ล้านบาท ให้ลูกเรียนต่อปริญญาโท ควรเลือกประกันแบบสะสมทรัยพ์ที่มีระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาในอีก 20 ปีและเลือกแบบที่เมื่อสิ้นสุดสัญญาจะได้รับเงิน 1 ล้านบาท เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แต่ทั้งนี้เบี้ยประกันที่จ่ายแต่ละปีต้องไม่เกินกำลังที่จ่ายได้ด้วยนะคะ 

 

  1. ต้องการหาตัวช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วยของลูก ช่วยให้หนักเป็นเบาได้ ตัวอย่างเช่น 

i. กังวลเมื่อลูกป่วยหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล ควรเลือกซื้อประกันคุ้มครองกรณีนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ซึ่งจะเคลมได้เมื่อแพทย์ให้ความเห็นว่าจำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เกินกว่า 6 ชั่วโมง ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่เกินผลประโยชน์ที่ระบุในกรมธรรม์ตามตารางผลประโยชน์ ทั้งนี้ต้องเข้าเงื่อนไขความคุ้มครองและไม่อยู่ในข้อยกเว้นของแต่สัญญา

ii. กังวลแม้ลูกเจ็บป่วยเล็กน้อย ควรเลือกซื้อประกันแบบผู้ป่วยนอก จะเคลมค่าใช้จ่ายจริง ไม่เกินวงเงินค่ารักษาต่อครั้งและต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา  

iii. กังวลเมื่อลูกเกิดอุบัติเหตุ ควรเลือกซื้อประกันอุบัติเหตุที่มีวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่เพียงพอ เพราะไม่ว่าจะบาดเจ็บเล็กน้อยหรือบาดเจ็บจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเคลมค่าใช้จ่ายจริงโดยไม่เกินวงเงินที่ระบุในสัญญา 

 

หากสนใจทำประกันสุขภาพ เลือกทำได้ 2 วิธี คือ ทำสัญญาเดี่ยวหรือทำเป็นสัญญาเพิ่มเติมแนบกับสัญญาประกันชีวิต ทั้ง 2 วิธี มีข้อดีหรือข้อด้อยแตกต่างกันอย่างไร ดูได้จากตารางด้านล่างค่ะ

 

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าประกันที่เหมาะสำหรับลูก ต้องเป็นแบบสะสมทรัพย์เท่านั้น แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักต้องการทำแค่ต้องการความคุ้มครองสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่กลับซื้อประกันสุขภาพแนบกับประกันแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งทำให้เบี้ยรวมสูงเกินความจำเป็น หรือ พอเบี้ยประกันรวมสูงเกินความสามารถ ก็ปรับลดความคุ้มครองสุขภาพลง  อีกทั้งเมื่อระยะเวลาของประกันสะสมทรัพย์สิ้นสุดลงความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็สิ้นสุดลงด้วย หากอยากทำประกันสุขภาพให้ลูกใหม่ แต่ลูกมีประวัติหรือโรคประจำตัวแล้วก็อาจจะทำประกันสุขภาพใหม่อีกไม่ได้

 

ดังนั้น แนะนำให้แยกแต่ละวัตถุประสงค์ออกจากกัน จะช่วยทำให้บริหารได้ตรงกับความต้องการได้มากกว่า ถ้าต้องการเก็บเงินให้ลูก แนะนำประกันแบบสะสมทรัพย์ แต่ถ้าต้องการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล แนะนำให้ทำประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติมแนบกับประกันแบบตลอดชีพ เพราะนอกจากเบี้ยประกันถูกกว่าแบบสะสมทรัพย์มาก แล้วยังมีระยะเวลายาวมากพอที่จะเลือกส่งค่าเบี้ยประกันสุขภาพต่อเนื่องได้ในระยะยาว 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th