logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

ไม่มีคำว่า “ช้าไป” หรือ “เร็วไป” ในการวางแผนเกษียณ

โดย ศุมาลิน อินนุพัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกันยายน 2561

 

เดือนกันยายนถือเป็นเดือนสำคัญสำหรับท่านข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เพราะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำงาน เวลาแห่งการพักผ่อนของท่านได้มาถึงแล้ว พร้อมๆ กับการรับเงินก้อนโตที่ได้จากการเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตการทำงานของท่านเอง แต่จะเป็นเงินก้อนใหญ่ขนาดไหนนั้นก็ขึ้นกับว่าท่านได้วางแผนเออมและลงทุนเพื่อใช้ในยามเกษียณไว้อย่างไรและเริ่มทำตั้งแต่เมื่อไหร่ ท่านที่เริ่มวางแผนเร็วก็มีโอกาสที่จะได้รับเงินก้อนใหญ่กว่าท่านที่เพิ่งเริ่มลงมือเก็บเงินก่อนถึงเวลาเกษียณไม่นาน ทั้งนี้การเริ่มต้นวางแผนเกษียณในแต่ละช่วงอายุก็จะมีข้อดีและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป 

 

 ช่วงอายุ 21-30 ปี  วัยนี้เป็นวัยเริ่มต้นการเดินทางของชีวิต เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มทำงาน คนหนุ่มสาวจึงมักมีความคิดว่าเร็วเกินไปที่จะคิดเรื่องของการเกษียณ สิ่งที่คนในวัยนี้ให้ความสนใจเป็นหลัก มักเป็นเรื่องของการค้นหาตัวเอง ค้นหาอาชีพที่ชอบ ค้นหาไลฟ์สไตล์ที่ใช่ ปัญหาหลักๆ ของการวางแผนเกษียณในช่วงอายุนี้จึงเป็นเรื่องของกรอบความคิดของคนในวัยนี้เองที่มักจะให้ความสำคัญกับเป้าหมายชีวิตด้านอื่นๆ ก่อนเป้าหมายเกษียณ เช่น ต้องการนำเงินไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก่อน เช่น ซื้อรถยนต์, ซื้อมือถือ ฯลฯ หรือต้องการเก็บเงินเพื่อศึกษาต่อปริญญาโท/เอก นอกจากนี้ปัญหาอีกประการหนึ่งของคนในช่วงวัยนี้คือ การวางแผนอนาคตในระยะเวลายาวๆ นั้นจะทำให้การจินตนาการภาพของการใช้ชีวิตในวัยเกษียณยังไม่ค่อยชัดเจน เพราะในระหว่างการเดินทางของชีวิตจากปัจจุบันไปจนถึงเวลาแห่งการเกษียณนั้น อาจมีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายเข้ามาในเส้นทางชีวิต อาจมีมุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาพของการใช้ชีวิตในวัยเกษียณของคนในวัยนี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งจะส่งผลต่อการคำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้เช่นกัน 


อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของการเริ่มต้นวางแผนเกษียณในช่วงอายุนี้ก็มีหลายข้อเช่นกัน

• เป็นการเริ่มต้นสร้างนิสัยในการออมและการลงทุน เมื่อเราบ่มเพาะนิสัยในการออมไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะทำให้เรามีวินัยทางการเงินที่ดี มีการเก็บออมอย่างสม่ำเสมอไปตลอดช่วงชีวิตการทำงาน
• ใช้พลังของดอกเบี้ยทบต้นได้อย่างเต็มที่ โดยใช้เงินลงทุนในแต่ละงวดไม่มากมายนัก เช่น เริ่มลงทุนเท่ากันทุกเดือนๆ ละ 300 บาท
• เป็นการเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งความรู้นี้จะมีประโยชน์อย่างมากเพราะการลงทุนเปรียบเสมือนทางด่วนที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ลงทุน 

 

 ช่วงอายุ 31-50 ปี  เป็นวัยสร้างครอบครัว คนในวัยนี้เริ่มมีความแน่นอนมากขึ้นในเรื่องของรูปแบบการใช้ชีวิต เริ่มมองเห็นเส้นทางชีวิตที่ชัดเจนขึ้น เริ่มมีหน้าที่การงานที่มั่นคง รวมทั้งมีรายได้ที่มากขึ้นด้วย แต่เพราะเป็นช่วงวัยที่ต้องอุทิศตนเองเพื่อดูแลครอบครัว ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพื่อการสร้างและดูแลครอบครัวที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเลี้ยงดูลูก ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ฯลฯ ดังนั้นปัญหาสำคัญของการเริ่มวางแผนเกษียณของคนในวัยนี้ คือ การแบ่งสรรเงินให้เพียงพอต่อทุกเป้าหมายชีวิต ทำให้ในบางครั้งแม้ว่าคนในวัยนี้จะเริ่มตระหนักถึงการเกษียณ แต่ก็จำเป็นต้องเลื่อนการเริ่มวางแผนการเงินออกไปก่อน หรือจัดไว้เป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญรองลงมาจากเป้าหมายอื่นๆ แต่ข้อได้เปรียบของคนในวัยนี้คือ คุณยังสามารถใช้พลังของดอกเบี้ยทบต้นช่วยในการวางแผนการเงินได้เช่นเดียวกับคนในวัยหนุ่มสาว เพราะระยะเวลาที่เหลือก่อนการเกษียณยังคงยาวนานพอสมควร เพียงแต่คุณต้องจัดการกับระบบบัญชีครัวเรือนให้ละเอียด เพื่อที่คุณก็จะสามารถแบ่งเงินเล็กๆ น้อยๆ มาเริ่มลงทุนเพื่อการเกษียณ

 

 ช่วงอายุ 51-60 ปี  การเกษียณใกล้เข้ามาแล้วสำหรับคนในวัยนี้ ทุกๆ ท่านที่อยู่ในช่วงวัยนี้จะต้องเริ่มต้นคิดถึงการใช้ชีวิตหลังเกษียณแล้ว บางท่านเริ่มจินตนาการถึงไลฟ์สไตล์และกิจกรรมที่จะทำภายหลังเกษียณแล้ว บางท่านก็เริ่มมีการคำนวณตัวเลขเงินที่คาดว่าจะได้รับจากกองทุนเพื่อการเกษียณต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้ ปัญหาหลักของคนที่เพิ่งเริ่มวางแผนเกษียณในช่วงวัยนี้คือ ระยะเวลาในการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการเกษียณนั้นเหลือไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม แม้การเริ่มต้นวางแผนเกษียณในช่วงวัยนี้จะถือว่าเริ่มต้นค่อนข้างช้าและมีโอกาสสูงที่จะเกษียณพร้อมเงินก้อนไม่โตมากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการเริ่มต้นเลย ข้อดีประการหนึ่งของการเริ่มวางแผนเกษียณในวัยนี้คือ การมีภาพในใจที่ค่อนข้างชัดเจนของรูปแบบการใช้ชีวิตในวัยเกษียณที่ต้องการ ซึ่งจะทำให้สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ควรต้องมีไว้ใช้ยามเกษียณได้ชัดเจนและใกล้เคียงความจริงมากขึ้น ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของคนในช่วงอายุนี้คือ มีความมั่นคงทั้งทางหน้าที่การงานและการเงิน มีรายได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายลดลงเพราะลูกจบการศึกษาแล้ว หนี้สินที่ต้องผ่อนชำระก็ลดลง ดังนั้นจึงสามารถแบ่งเงินมาออมและลงทุนได้ในสัดส่วนที่สูงมากกว่าคนในช่วงวัยอื่นๆ 

 

ไม่ว่าตอนนี้ท่านผู้อ่านจะอายุเท่าไหร่ ท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต้องเดินทางมาถึงเวลาแห่งการเกษียณ ดังนั้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็วเราต้องเริ่มต้นวางแผนเกษียณ เพื่อจะได้มีภาพอนาคตการเกษียณของตนเองอย่างคร่าวๆ และหากมีแนวโน้มที่เราจะไม่ได้เกษียณบนกองเงินก้อนโตแล้ว เราก็จะได้มองหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th