logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

8 สาเหตุหลัก ของการเป็นหนี้

โดย ผาณิต  เกิดโชคชัย นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนสิงหาคม 2561

 

“หนี้” เป็นปัญหาเรื้อรังและปัญหาใหญ่ของประเทศมาหลายทศวรรษ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เมื่อกลางปี 2560 พบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมียอดหนี้สินในระบบนับรวมกันสูงถึง 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้ครัวเรือนตามหลักสากลเท่ากับร้อยละ 71.2 ของจีดีพี สูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย-แปซิฟิก รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ประชาชนหลายกลุ่มมีหนี้ที่มากเกินตัว คนรุ่นใหม่เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย อายุของหนี้นานมากขึ้น และจำนวนเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หนึ่งคนก็มากรายขึ้นด้วย 


มาดู 8 สาเหตุหลักของการเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตต้องจมอยู่ในวังวนแห่งหนี้ มีดังนี้ 

  1. ไม่มีเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายการเงิน บางคนคิดว่า “ฉันจน” “ฉันไม่มีอำนาจวาสนา” จึงท้อแท้ สิ้นหวัง ขาดพลังชีวิตที่จะทำให้ชีวิตที่ดีขึ้นและการเงินมั่นคงขึ้น ยิ่งท้อแท้สิ้นหวังก็เครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งจมดิ่งในวังวนแห่งหนี้ คิดหรือทำอะไรก็ไม่รอบคอบ ผิดซ้ำซาก สุดท้ายเข้าตาจนก็ “หิวแต่เงิน” ผิดถูกดีเลวอย่างไรไม่สน หยิบยืมเงินไปทั่ว จากหนี้เล็กๆ ก้อนแรก กลายเป็นหนี้ก้อนโตและนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ไม่รู้จบ
    แต่หากพลิกวิธีคิดใหม่ เขียนเป้าหมายชีวิตทันทีให้ชัดเจนตามความเป็นจริงของชีวิต ใช้น้อยกว่าหาได้ จดรายจ่ายทุกอย่าง ทุกวัน พร้อมทั้งจัดกลุ่มรายจ่ายเพื่อรู้พฤติกรรมตัวเอง จัดการหนี้ให้อยู่หมัด เริ่มจากจัดลำดับหนี้ แยกเงินต้น ดอกเบี้ยจ่ายให้เจ้าหนี้แต่ละรายในแต่ละเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดจากหนี้ เช่น ค่าสมาชิกใช้บัตร ค่ากดเงินสด ค่าผิดนัดชำระและติดตามหนี้ ค่าเบี้ยประกัน(ถ้ามี) ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องข้างต้นจะช่วยให้พบ “ชีวิตใหม่” ยิ่งเพียรทำต่อเนื่องพลังชีวิตจะเพิ่มขึ้น ช่วยให้หลุดวงจรแห่งหนี้ให้รวยเงินรวยสุขได้
     
  2. ไม่มีความรู้และทักษะจัดการเงินอย่างถูกต้องและเหมาะสม การไม่รู้วิธีคิดดอกเบี้ย ไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้นทำให้ยอดหนี้พุ่งขึ้นเป็นทวีคูณโดยไม่รู้ตัว ยิ่งรูดปรื๊ดๆ แต่จ่ายคืนแค่ขั้นต่ำ ยิ่งไม่อ่าน ไม่รู้ ไม่เข้าใจสาระสำคัญของรายการที่เกี่ยวกับการเงินการทอง ก็ยิ่งเสี่ยงสูง และยิ่งไม่ศึกษาให้รู้จริงก่อนใช้บริการด้านการเงินที่สำคัญ ไม่รู้จักเก็บก่อนใช้ ก็ยิ่งทำให้ถลำลึกในวังวนแห่งหนี้ เมื่อเข้าแล้วก็ออกยาก แต่หากจัดการเงินเป็น รู้วิธีทำเงินให้งอกเงย ไม่ตาโตกับสิ่งล่อใจจนเป็นเหยื่อกลโกงการเงิน ก็ไม่ทุกข์เพราะเป็นหนี้
     
  3. หลงอบายมุข 6 หนทางสู่หายนะทั้งทรัพย์สินและชีวิต ได้แก่ ติดพนัน ติดสุราและสิ่งเสพติด ติดเที่ยว ติดการละเล่น ติดสบายด้วยเกียจคร้าน คบคนชั่วเป็นมิตรรวมทั้งลุ่มหลงในหญิงหรือชาย แต่หากคิดได้ คิดถูก มีสติรู้คิดในผิดชอบชั่วดี หยุดอบายมุขพร้อมสร้างภูมิคุ้มกันจากการเป็นหนี้ด้วยหมั่นเพียรในหน้าที่งานของตน ใช้ชีวิตพอเพียงตามอัตภาพ สร้างสมดุลระหว่างเวลางาน ครอบครัวและชีวิตส่วนตัว เพียงเท่านี้ ชีวิตก็งดงาม
     
  4. ประสบเหตุฉุกเฉินหรือปัญหาชีวิต  เช่น เป็นโรคร้ายหรือประสบอุบัติเหตุรุนแรงจำต้องมีรายจ่ายก้อนโต รายได้หลักของครอบครัวหดหายเพราะปัญหาหย่าร้างหรือตกงานไม่สามารถดำเนินชีวิตในระดับปกติ หรือแม้แต่มีรายได้ไม่พอยังชีพขั้นพื้นฐาน วิธีแก้ไขให้อยู่รอดได้ คือ พยายามใช้ชีวิตให้เรียบง่ายที่สุด รับผิดชอบงานที่ทำให้ดีที่สุด ชะลอหรือใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นหรือใช้ให้น้อยกว่าหาได้ พยายามหารายได้เพิ่มจากกำลังกาย เวลา ทรัพย์สิน และความสามารถพิเศษของตน ยิ่งปรับตัวได้ยิ่งเร็วยิ่งดีจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่วิธีป้องกันปัญหาดีที่สุด คือ ในยามที่มีรายได้ดีให้พึงสะสมเงินออม ขยายผลเงินออม บริหารความเสี่ยงผ่านประกันแบบต่างๆ ทั้งชีวิต สุขภาพ หรืออุบัติเหตุตามความเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์การออม บริหารความเสี่ยงและลดภาระภาษี
     
  5. พฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หน้าใหญ่ใจโต เล็งผลเลิศโดยใช้เงินในอนาคต นำไปสู่ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา การเปลี่ยนความ “อยาก” เป็น “พอ” แม้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก หากรู้ว่าแค่ไหนพอ คิดก่อนใช้ ออมก่อนซื้อ มีทัศนะคติที่ถูกต้องต่อการกู้หนี้ยืมสิน รู้เท่าทันโฆษณาและสิ่งล่อใจ รู้ค่าของเงิน ขยันหมั่นเพียร รู้เก็บ รู้ใช้ และแสวงหาความรู้ให้เงินออมทำงานอย่างเหมาะสมก็เกษียณอย่างเกษมได้
     
  6. เป็นโรคสารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล หรือ ไบโพลาร์ เป็นความผิดปกติของอารมณ์ที่แยกเป็นสองขั้ว ส่งผลให้การตัดสินใจผิดพลาด เช่น ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว กล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่เป็นอันตรายหรือผิดกฎหมาย โรคนี้มักพบในผู้ใหญ่ช่วงต้นวัยทั้งหญิงและชายประมาณร้อยละ 3 เป็นโรคที่ต้องอาศัยคนใกล้ชิดในครอบครัวพูดคุยด้วยความใส่ใจและเข้าใจ ดูแลให้พบแพทย์และกินยาอย่างสม่ำเสมอ
     
  7. ไม่สื่อสาร “ปัญหาการเงิน” ให้คนในครอบครัวได้รับรู้และร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลือกปกปิดปัญหาหนี้มิให้ลูกหลานรู้เพราะไม่อยากให้ต้องทุกข์ใจ แต่ที่ถูกที่ควรแล้วทุกคนในครอบครัวควรร่วมรับรู้ปัญหา ร่วมกันแก้ไขปัญหาตามกำลังและความสามารถ จะช่วยป้องกันและยุติไม่ให้ปัญหาหนี้ลุกลามจนยากเกินแก้ อนึ่ง “บ้าน” ควรเป็นสถานที่ แรกที่เด็กๆ ควรได้ฝึกทักษะชีวิต ฝึกวินัยและฝึกเรื่องการเงินการทองตามวัย รู้ว่าแต่ละคนต้องมีสัมมาอาชีพและเงินทองเป็นของหายากควรใช้อย่างรู้ค่า รวมทั้งการใช้ทรัพยากรอื่นๆ แยกแยะได้ว่าอะไรคือ “ความจำเป็น” และอะไรคือ “แค่ความอยาก”
     
  8. เข้าค้ำประกันเงินกู้บุคคล เงินกู้กลุ่มหรือการเข้าทำงาน คนจำนวนไม่น้อยมีภาระหนี้สินที่ตนไม่ได้ก่อเพราะไม่รู้ในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบเมื่อตกปากรับคำค้ำประกันผู้อื่น โดยไม่เข้าใจขอบเขต ความรับผิดชอบหรือไตร่ตรองความประพฤติของผู้ที่เข้าไปค้ำประกันให้รอบคอบ จึงมีหนี้โดยไม่จำเป็น

    เมื่อรู้สาเหตุหลักของการเป็นหนี้และต้องการหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลวังวนแห่งหนี้ ก็ต้องสร้างเกราะป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากเหตุแห่งหนี้ โดยใช้หลักการที่ว่า “ผลจะดีได้ ต้องทำให้เหตุดีก่อน”

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th