logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

เกษียณแล้ว ทำอะไร(ในเวลาว่าง) ดี?

โดย ศุมาลิน  อินนุพัฒน์  นักวางแผนการเงิน CFP®

ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกรกฎาคม 2561

 

 

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตอบคำถามข้างต้นนี้ แต่ละคนมีการวางโครงการใช้ชีวิตภายหลังเกษียณที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและการเงิน, ความชอบและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล  แต่ไม่ว่าท่านผู้เกษียณจะวางโครงการไว้อย่างไร ทุกๆท่านจะต้องมี 2 เรื่องที่ต้องจัดการเหมือนๆกัน คือ

 

 

 1. การจัดการด้านการเงิน 

 

คือการวางแผนบริหารสินทรัพย์ก้อนสุดท้ายที่ได้เก็บสะสมไว้ใช้ในยามเกษียณ  ซึ่งรายจ่ายของคนในวัยเกษียณจะมีด้วยกัน 4 ส่วนหลักๆ ดังนี้

 

  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน : ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า/ข้าวของเครื่องใช้ ค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ การจัดทำรายการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจะช่วยให้เตรียมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายประจำส่วนนี้ได้ง่ายมากขึ้น
  • ค่าบำรุงรักษาและดูแลทรัพย์สินต่างๆ : เช่น ค่าซ่อมบ้าน ค่าซ่อมแซมรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายที่หลายๆท่านไม่ได้คำนึงถึง
  • ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล : ในช่วงต้นของชีวิตหลังเกษียณ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะยังไม่สูงมากนัก แต่จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้เกษียณมีอายุมากขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวพักผ่อนและสังสรรค์ : ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะมีสูงมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นกับความต้องการของผู้เกษียณเอง

 

ผู้เกษียณต้องมีการวางแผนแบ่งสินทรัพย์ออกเป็นสัดส่วนให้เหมาะสมกับประเภทของค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้ในช่วง 1-2 ปีแรกของการเกษียณ ควรเก็บไว้ในรูปบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อให้สามารถนำออกมาใช้ได้อย่างสะดวก

 

 

 2. การจัดการด้านการใช้ชีวิต 

 

รูปแบบการใช้ชีวิตจะเป็นปัจจัยหลักในกำหนดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการเลือกว่าจะทำกิจกรรมอะไรในเวลาว่างที่มีเพิ่มขึ้นจากการไม่ต้องออกไปทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต่อไปนี้เป็นข้อเสนอแนะบางประการในการจัดการด้านการใช้ชีวิต

 

  • ใช้เวลากับการทำงานอดิเรกที่ชอบ  ถ้ามีความสนใจในงานอดิเรกใดอยู่แล้ว  ควรเริ่มทำอย่างจริงจัง  หรือหางานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบแล้วเริ่มทำกิจกรรมนั้นๆ งานอดิเรกบางอย่างอาจสามารถสร้างรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายให้ได้อีกด้วย เช่น การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไว้รับประทานเอง, การทำแปลงผักเล็กๆ ในบริเวณบ้าน, งานฝีมือเย็บปักถักร้อยประเภทต่างๆ เป็นต้น  และไม่จำเป็นว่าเราต้องมีงานอดิเรกเพียงกิจกรรมเดียว  เราสามารถมีงานอดิเรกได้ 2-3 กิจกรรม  แนะนำว่าควรมีงานอดิเรกที่เป็นการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูงเพื่อจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เลือกกีฬาที่ชอบสัก 1-2 ประเภทแล้วจัดสรรเวลาเพื่อกีฬานั้นๆ เป็นประจำ  บางท่านอาจจะบอกว่าเล่นกีฬาอะไรไม่เป็นเลย  กรณีนี้ไม่ยากค่ะ  เราทุกคนสามารถเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ได้  อาจจะเริ่มฝึกเล่นกีฬาที่สนใจ  เชช่น  เรียนโยคะ เรียนเต้นลีลาส  ฝึกเล่นกอล์ฟ  หรือจะเป็นว่ายน้ำ  การเดินออกกำลังกายเป็นประจำ  ทั้งนี้ต้องเลือกชนิดกีฬาที่ไม่หนักเกินไปสำหรับร่างกายของคนในวัย 60 up แต่ควรเป็นกีฬาที่เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลายๆส่วนบ้างในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ  ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น
  • รับประทานอาหารอย่างถูกต้อง  เมื่อมีเวลามากขึ้น  เราสามารถใส่ใจกับเรื่องอาหารการกินได้มากขึ้น  จึงควรให้เวลากับการเลือกสิ่งที่จะรับประทานในแต่ละมื้อให้มากขึ้น  อาจจะปรุงอาหารเองในบางมื้อ  เพื่อจะได้รับประทานสิ่งที่เราต้องการและมีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ทำงานอาสาสมัคร  ผู้เกษียณสามารถใช้ความรู้ความชำนาญที่ได้สะสมมาตลอดการทำงานในการช่วยเหลือสังคม  โดยทำงานช่วยเหลือองค์กรการกุศลหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ  จะทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น

 

นอกจากนี้  ท่านผู้เกษียณที่มีครอบครัว  มีลูกหลาน  ก็ควรใช้เวลาที่มีในการช่วยดูแลลูกๆหลานๆ  จะยิ่งทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุขมากขึ้น

 

การบริหารจัดการทั้งเรื่องการเงินและการใช้ชีวิตของตนในวัย้กษียณนั้น จำเป็นจะต้องจัดการควบคู่กันไปและให้สมดุลกัน  เพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขและมีคุณค่า

 

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th