บทความ: ประกันภัย
ประกันสุขภาพ...จำเป็นไหม?
โดย สุมิตรา อภิรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา : นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561
อโรคยา ปรมาลาภา การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นพุทธศาสนสุภาษิตที่ยังพูดกันอยู่เสมอ สุขภาพดีหาซื้อไม่ได้ ต้องสร้างด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากไม่มีใครการันตีสุขภาพของตัวเราเองได้ในอนาคตเรามักได้ยินคำถามที่ถามกันบ่อยๆ ว่าประกันสุขภาพจำเป็นไหม
ประกันสุขภาพ คือการประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้แก่ผู้เอาประกันภัย ส่วนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันสุขภาพ ยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการประกันภัย คือ จ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้ หรือเหมาจ่ายขึ้นอยู่กับแบบประกันสุขภาพดังนั้นการทำประกันสุขภาพจึงต้องให้เหมาะสม เพราะถ้าทำไว้หลายที่หรือคุ้มครองสูงเกินก็ไม่มีประโยชน์เพราะจะเบิกเคลมได้ตามจริงเท่านั้น
ความคุ้มครองเบื้องต้น ได้แก่ ผลประโยชน์สำหรับผู้ป่วยใน (IPD), ผลประโยชน์ชดเชยสำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) หรือ ผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆเอกสารแนบท้าย โดยจะระบุความคุ้มครองและจ่ายตามจริงไม่เกินวงเงินในแต่ละหมวด ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาแบบประกันสุขภาพเป็นแบบเหมาจ่าย และประกันโรคร้ายแรงรวมทั้งค่าชดเชยรายได้โดยจะระบุความคุ้มครองและจ่ายตามวงเงินที่ทำไว้
ถ้ามาดูสถิติข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานอัตราเสียชีวิตของประชากรไทยในปี 2558 จำแนกตามสาเหตุที่สำคัญดังนี้อันดับหนึ่งคือมะเร็งทุกชนิด (เสียชีวิต 112.8 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งประชากรไทยทั้งหมด 65,729,098 คน ดังนั้นมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 74,142 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8.46 คน) อันดับสองคือ โรคหลอดเลือดในสมอง อันดับสามคือปอดอักเสบ อันดับสี่คือ โรคหัวใจขาดเลือด และอันดับห้าคือ อุบัติเหตุจากการคมนาคมขนส่งทางบก
ส่วนค่ารักษาพยาบาลก็แพงสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก ยกตัวอย่าง ค่าห้องโรงพยาบาลเอกชน ห้องเตียงเดี่ยว ราคาเริ่มต้นที่ 2,100 - 20,000 บาท ส่วนโรงพยาบาลรัฐบาล เริ่มต้นที่ 800 - 5,000 บาท แต่ปัจจุบันนี้โรงพยาบาลรัฐบาลได้มีบริการพิเศษเทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการบริการและความรวดเร็วนอกจากค่าห้องแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าผ่าตัด ค่าแพทย์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าอาหาร
การเจ็บป่วยแต่ละครั้งทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง หากเรามีทางเลือกในการรักษาพยาบาลเราคงเลือกสิ่งที่ดีที่สุด การประกันสุขภาพจึงเป็นการวางแผนทางเงินที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากเราเจ็บป่วย โดยที่ต้องคำนึงถึงสวัสดิการที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่
ถ้ามีสวัสดิการของบริษัท ก็ต้องดูความคุ้มครองผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกเท่าไร หรือถ้ามีสวัสดิการจากภาครัฐประกันสังคมจะมีข้อจำกัดจะต้องเข้ารักษาโรงพยาบาลที่ได้เลือกใช้สิทธิ์หรือถ้ามีสวัสดิการข้าราชการจะต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือถ้าโรงพยาบาลเอกชนจะเบิกได้ครึ่งหนึ่งเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ดังนั้น ถ้าจะเลือกซื้อประกันสุขภาพเพิ่มก็ต้องให้ครอบคลุมกับความคุ้มครองที่ต้องการและความสามารถในการชำระค่าเบี้ย และที่สำคัญรัฐบาลได้สนับสนุนโดยสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560)
ดังนั้นประกันสุขภาพจึงจำเป็นสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงของแต่ละคน หากเมื่อใดเราเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุแล้ว เราจะได้ไม่ต้องแบ่งเงินเก็บมาใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในอนาคตตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ค่ะ