บทความ: บริหารจัดการเงิน
3 ปัจจัยที่ทำให้เราเป็นหนี้
โดย จักรกฤษณ์ กิจการรัฐบุตร นักวางแผนการเงิน CFP®
ที่มา: นิตยสาร Money & Wealth ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561
ปัญหาเรื่องการเงินที่พบบ่อยมากที่สุดไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะเอาเงินไปลงทุนที่ไหนอย่างไร ไม่ใช่ว่าเราจะไปรีไฟแนนซ์ดอกเบี้ยบ้านที่ไหนดีถึงจะคุ้มที่สุด แต่เรื่องที่เป็นปัญหามากที่สุดก็คือเวลาที่เรา “เป็นหนี้” เราจะปลดหนี้ได้อย่างไร?
ถ้าลองเปรียบนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาทางเงินเป็นเหมือนกับหมอการเงิน การเป็นหนี้ก็เหมือนกับการมีอาการป่วยรู้สึกว่าไม่สบายแล้วต้องไปหาหมอ ทำให้คนที่เป็นหมอการเงินอย่างนักวางแผนการเงินจะเจอปัญหาเรื่องการเป็นหนี้มากที่สุด เพราะเวลาที่เราเป็นหนี้ เราจะรู้สึกทรมานไม่สบายใจ เพราะไม่รู้ว่าทำไมเงินที่หามาได้ถึงไม่เคยพอ ชักหน้าไม่ถึงหลัง เลยรู้สึกอยากจะให้ใครสักคนช่วยแก้ปัญหา
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ว่าเราจะไปลงทุนที่ไหนอย่างไรดี ทำให้เงินงอกเงยได้อย่างไร แบบนี้ไม่เรียกอาการป่วยทางการเงิน แต่เหมือนกับที่เราต้องการทำให้ตัวเราแข็งแรงขึ้นมีกล้ามมากขึ้น สุขภาพดีขึ้น ปัญหาพวกนี้จะทำให้คนไข้รู้สึกเป็นปัญหาน้อยกว่าการเป็นหนี้ ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร
ในฐานะที่เป็นหมอการเงินคนหนึ่ง มีโอกาสได้คุยกับคนที่เป็นหนี้ แล้วช่วยปลดหนี้ให้กับหลายครอบครัว จากการสังเกตและสัมภาษณ์คนเป็นหนี้ จะต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน ถ้าไม่ครบทั้ง 3 ปัจจัยบุคคลนั้นโอกาสที่จะเป็นหนี้จะน้อยมากๆ หรือแทบจะไม่มีโอกาสเลย
1. รอคอยไม่เป็น
ปัจจัยแรกก็คือการที่ตัวเรารอคอยไม่เป็น การเป็นหนี้คือการดึงเงินในอนาคตมาใช้เพื่อการบริโภคในปัจจุบัน เช่น อยากได้โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีเงินสดมากพอที่จะไปซื้อได้ ก็จะใช้บริการบัตรเครดิตผ่อน 0% 4 เดือน 10 เดือน แล้วแต่โปรโมชั่นของบัตรเครดิตนั้นๆ หลังจากนั้นเวลาที่อยากได้อะไรอีก ก็จะรูดซื้ออีกไปเรื่อยๆ เวลารูดก็จะคิดว่าไม่เป็นอะไรหรอกเดือนหนึ่งไม่กี่พัน ผ่อนได้สบายๆ แต่พอรูดไม่กี่พันหลายๆ รอบเข้า พอมารู้ตัวอีกทีก็ทำให้ผ่อนจ่ายได้ลำบากแล้ว
2. การเป็นหนี้เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องง่าย
ต้องบอกว่าการเป็นหนี้นั้นง่ายยิ่งกว่าเข้าร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง อันนี้นับแค่หนี้ในระบบเท่านั้น ทั้งการสมัครบัตรเครดิต การขอสินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ รู้สึกว่าได้รับการอนุมัติง่ายมากกว่าแต่ก่อน ยังไม่นับไปถึงหนี้นอกระบบที่เป็นง่ายมากๆ แต่จ่ายคืนก็ยากมากเช่นกัน เพราะว่าดอกเบี้ยที่ถูกเรียกเก็บ ใช้คำว่ามหาโหดเลยก็ว่าได้ ดอกเบี้ยรายวันวันละ 5% ก็มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน
3. ขาดความรู้ทางการเงิน
ส่วนตัวคิดว่าข้อนี้เป็นอะไรที่สำคัญที่สุด ความรู้ทางการเงินจะเป็นเหมือนเกราะป้องกันการเป็นหนี้ได้ดีที่สุด เมื่อเรารู้ว่าการเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วเราผิดนัดชำระคืน ต้องเสียดอกเบี้ยอย่างน้อยๆ ก็ 18% ต่อปี แล้วถ้ามองเปรียบเทียบกับแง่มุมเรื่องของการลงทุนว่าเราจะลงทุนอย่างไรให้เงินของเรางอกเงยได้ 18% ต่อปี ซึ่งถ้าเราลองมาศึกษาเรื่องการลงทุนแล้วต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
นอกจากนี้ความรู้ทางการเงินจะช่วยทำให้เรารู้วิธีการปลดหนี้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราคิดอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผล ไม่ใช่การหาทางออกของการเป็นหนี้ด้วยการสร้างหนี้ก้อนใหม่อีกก้อนไปเรื่อยๆ แบบที่หลายๆ คนกำลังทำ ซึ่งเป็นวิธีที่ยืดเวลาได้ง่ายที่สุด แต่มันก็ทำให้ปัญหาเรื่องหนี้วนไปมาเหมือนงูกินหางแบบไม่รู้จบ
การเป็นหนี้ต้องอาศัยทั้ง 3 ปัจจัยจึงจะทำให้เราเป็นหนี้ได้ เมื่อขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไปก็จะทำให้โอกาสการเป็นหนี้น้อยมากๆ ถ้าตัวเรารอคอยเป็น ต่อให้การเป็นหนี้จะง่ายแค่ไหน ต่อให้เราไม่รู้เรื่องการเงินขนาดไหน แต่เราก็จะไม่ไปหยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้แน่นอน หรือถ้าเราจะรอคอยไม่เป็นขนาดไหน ไม่มีความรู้ขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าการจะเป็นหนี้ทำได้ยากเพราะมีการตรวจสอบเครดิตผู้กู้อย่างละเอียดจริงๆ ก็จะทำให้โอกาสเป็นหนี้น้อยลงได้เหมือนกัน
ประเด็นเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วฉับไวเป็นเรื่องที่พวกเราคงไปทำอะไรมากไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถหักห้ามใจตัวเองให้รู้จักรอคอยให้เป็น ประกอบกับหาความรู้ทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อให้รู้เท่าทันการเป็นหนี้และการบริหารเงินอย่างถูกต้อง เราก็จะละเว้นการเป็นหนี้เกินตัวได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้การหาความรู้เรื่องการบริหารเงินไม่ใช่เรื่องยากเหมือนแต่ก่อนแล้ว มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถหาความรู้ได้ ไม่ว่าจะจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือเว็บไซต์ของสมาคมนักวางแผนการเงินไทยที่เป็นแหล่งรวมบทความและเทคนิคดีๆ เกี่ยวกับเรื่องการปลดหนี้ การบริหารเรื่องเงินต่างๆ รวมไปถึงเรื่องการลงทุนก็มีให้เราอ่านกันได้ฟรีๆ ความรู้ปัจจุบันอยู่แค่ปลายนิ้วอยู่ที่ว่าเราสนใจเรื่องนั้นจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง