logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ประกันภัย

Copay ประกันสุขภาพร่วมจ่าย ใครได้ ใครเสีย

 

ประกันสุขภาพที่อนุมัติหลังวันที่ 20 มีนาคมที่จะถึงนี้ทุกฉบับจะมีเงื่อนไข copayment หรือ ผู้เอาประกันต้องร่วมจ่ายในค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดเฉพาะกรณีผู้ป่วยใน คือ นอนพักในโรงพยาบาล โดยจะร่วมจ่ายในอัตรา 30% หรือ 50% เท่ากับว่า แทนที่บริษัทประกันจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดตามความคุ้มครองที่เราซื้อไว้ เราจะต้องร่วมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้นผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพที่อนุมัติหลัง 20 มีนาคม จึงควรศึกษาเงื่อนไข copayment ให้ดี เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง

 

เงื่อนไข Copaymnent

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้กำหนดเงื่อนไขให้มี Copayment ของสัญญาประกันภัยสุขภาพในปัจจุบัน 2 รูปแบบ ดังนี้

1. แบบกำหนดให้มี Copayment ตั้งแต่วันเริ่มทำประกันภัยสุขภาพ โดยผู้เอาประกันภัยมีความประสงค์ ที่จะร่วมจ่ายในทุกความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claim) ซึ่งโดยทั่วไปจะกำหนด เป็นเปอร์เซ็นต์ของค่ารักษาพยาบาล เช่น หากสัญญาประกันภัยสุขภาพกำหนด Copayment 10% และมีค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย 1,000 บาท ส่วนที่เหลือ 9,000 บาท บริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบ สัญญาประกันภัยสุขภาพรูปแบบนี้ เบี้ยประกันภัยที่ถูกกว่า เหมาะสำหรับคนที่ไม่ป่วยบ่อย หรือ ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามปกติประกันสุขภาพแบบมี copayment แบบนี้ บางบริษัทประกันภัยมีเสนอขายอยู่

2. แบบกำหนดให้มี Copayment ในเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นแบบที่บริษัทประกันชีวิตจะนำมาใช้หลังวันที่ 20 มีนาคมนี้ เงื่อนไขที่จะเข้า Copayment มี 3 เงื่อนไข (คิดเฉพาะค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) เท่านั้น) โดยมองที่จำนวนเงินหรือจำนวนครั้งที่เคลมเท่านั้น ได้แก่

กรณีที่ 1 การเจ็บป่วยเล็กน้อย (Simple Diseases) หรืออาการที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล หากมีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อปีกรมธรรม์ และอัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 200% ของเบี้ยประกันสุขภาพ ในส่วนนี้จะต้องร่วมจ่าย 30% ทุกค่ารักษาในปีถัดไ

ตัวอย่าง ค่าเบี้ยประกันสุขภาพต่อปี 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการเจ็บป่วยเล็กน้อยในปีกรมธรรม์

  • ครั้งที่ 1 : 10,000 บาท ครั้งที่ 2 : 15,000 บาท ครั้งที่ 3 : 20,000 บาท
  • การคำนวณอัตราการเคลม : (10,000+15,000+20,000)/20,000 x 100 = 225%
  • ผลลัพธ์ : เนื่องจากมีการรักษา >= 3 ครั้ง และอัตราการเคลม >= 200% ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 30% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

กรณีที่ 2: การเจ็บป่วยโรคทั่วไป (ไม่รวมโรคร้ายแรงและการผ่าตัดใหญ่) หากมีการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้งต่อปีกรมธรรม์ และอัตราการเคลมมากกว่าหรือเท่ากับ 400% ของเบี้ยประกันสุขภาพ ในส่วนนี้จะต้องร่วมจ่าย 30% ทุกค่ารักษาในปีถัดไป

ตัวอย่าง ค่าเบี้ยประกันสุขภาพต่อปี 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับการเจ็บป่วยโรคทั่วไปในปีกรมธรรม์

  • ครั้งที่ 1 : 30,000 บาท ครั้งที่ 2 : 25,000 บาท ครั้งที่ 3 : 30,000 บาท

  • การคำนวณอัตราการเคลม : (30,000+25,000+30,000)/20,000 x 100 = 425%

  • ผลลัพธ์ : เนื่องจากมีการรักษา >= 3 ครั้ง และอัตราการเคลม >= 400% ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 30% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

กรณีที่ 3: การเคลมเข้าเงื่อนไข กรณีที่ 1 และกรณีที่ 2 ในส่วนนี้จะต้องร่วมจ่าย 50% ทุกค่ารักษาในปีถัดไป

ตัวอย่าง

  • การเจ็บป่วยเล็กน้อย ครั้งที่ 1 : 10,000 บาท ครั้งที่ 2 : 15,000 บาท ครั้งที่ 3 : 20,000 บาท หรือการเจ็บป่วยทั่วไป (ไม่นับรวมโรคร้ายแรง และผ่าตัดใหญ่) ครั้งที่ 1 : 30,000 บาท ครั้งที่ 2 : 25,000 บาท ครั้งที่ 3 : 30,000 บาท

  • การคำนวณอัตราการเคลมการเจ็บป่วยเล็กน้อย : (10,000+15,000+20,000)/20,000 x 100 = 225%

  • การคำนวณอัตราการเคลมการเจ็บป่วยทั่วไป : (30,000+25,000+30,000)/20,000 x 100 = 425%

  • ผลลัพธ์ : เนื่องจากเข้าเงื่อนไขทั้งกรณีที่ 1 และ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่าย Copayment 30% สำหรับค่ารักษาในปีกรมธรรม์ถัดไป

 

จากเงื่อนไขที่กล่าวมา ถ้าเข้าเงื่อนไข Copayment ผู้เอาประกันจะต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในทุกๆ การรักษา (รวมถึงโรคร้ายแรง หรือการผ่าตัดใหญ่)

ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ปีกรมธรรม์ที่เข้าเงื่อนไขสำหรับ Copayment 30%

  • ผู้เอาประกันภัยเข้าโรงพยาบาล 3 ครั้ง

    • 1 โรคร้ายแรง (Critical illness) ค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจ่าย 30% หรือ 60,000 บาท

    • 2 การผ่าตัดใหญ่ (Major surgery) ค่ารักษาพยาบาล 300,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจ่าย 30% หรือ 90,000 บาท

    • 3 โรคร้ายแรง (Critical illness) ค่ารักษาพยาบาล 200,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจ่าย 30% หรือ 60,000 บาท

รวมผู้เอาประกันภัยจ่าย 210,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากค่ารักษาทั้งหมดเป็น โรคร้ายแรง และการผ่าตัดใหญ่ จึงไม่นับรวมการคำนวณเงื่อนไข Copayment ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ต้องจ่ายร่วม Copayment ในปีถัดไป

 

คำถามที่เกิดขึ้นในใจหลายคนก็คือ เมื่อความคุ้มครองลดลง ค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่ต้องจ่ายจะลดลง 30% หรือ 50% ด้วยหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่มีการลดเบี้ยประกันสุขภาพใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไข copayment ที่กล่าวนี้เป็นเงื่อนไขเฉพาะสัญญาประกันสุขภาพที่ซื้อกับบริษัทประกันชีวิตเท่านั้น สัญญาประกันสุขภาพที่ซื้อกับบริษัทประกันภัยยังไม่มีประกาศเรื่องเงื่อนไข copayment

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งผู้เอาประกัน และแพทย์ ต่างก็จะมีความระมัดระวังในการพิจารณาเรื่องการรักษาพยาบาลมากขึ้น

ข้อดี  เมื่อความต้องการด้านการรักษาพยาบาลลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็น่าจะลดลง อัตราการเคลมก็น่าจะลดลง การเพิ่มของค่าเบี้ยประกันสุขภาพในอนาคตก็ควรจะลดลง

ข้อควรคำนึง  การวินิจฉัยโรคหลายครั้งไม่สามารถระบุจากอาการได้ว่าเป็นโรคอะไร จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์พิเศษ หรือ จำเป็นต้องพักเป็นผู้ป่วยใน (IPD) เพื่อดูอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่อาจเข้าเงื่อนไข copayment ของบริษัทประกันได้ ดังนั้นอาจเกิดกรณีที่ผู้เอาประกันไม่ขอรับการตรวจพิเศษ เพราะกังวลเรื่องเงื่อนไข copayment สุดท้ายอาจทำให้ความเสียหายต่อผู้เอาประกันอย่างไม่ควรเป็น

สิ่งที่คาดว่าจะเกิด ผู้ที่ต้องการซื้อประกันสุขภาพ อาจพิจารณาซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัยแทนมากขึ้น และอนาคตบริษัทประกันชีวิตน่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพแบบกำหนดให้มี Copayment ตั้งแต่วันเริ่มทำประกันภัยสุขภาพ เพราะมีความยุติธรรม โปร่งใส และเบี้ยประกันถูกกว่า

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th