บทความ: เกษียณ
YOYO วัยเกษียณ ดูจีน ย้อนดูไทย
เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2568
ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือ ข่าวหนุ่มสาวจีนคว่ำบาตร ‘ระบบบำนาญ’ หยุดจ่ายเงินกองทุน กังวลเงินหมดก่อนเกษียณ คาดการณ์ว่าระบบบำนาญอาจขาดสภาพคล่องภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษหรือในอีก 10 ปีเท่านั้น (ปัจจุบัน ระบบบำนาญของจีนมีศูนย์กลางอยู่ที่เสาหลักสามประการ ได้แก่ บำนาญของรัฐ เงินบำนาญสำหรับองค์กร และเงินบำนาญส่วนบุคคล เสาหลักสองประการแรก ได้แก่ เงินบำนาญของรัฐและเงินบำนาญสำหรับองค์กร ทำหน้าที่เป็นรากฐานของระบบบำนาญของจีนในปัจจุบัน)
สาเหตุที่กังวลว่าเงินจะหมด ก็เพราะปัญหาสังคมคนสูงอายุ ข้อมูลจาก pentionfundsonline.co.uk ระบุว่า จำนวนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเกือบ 200 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 132 ล้านคนในปี 2558 เป็น 331 ล้านคนในปี 2593
แนวทางในการแก้ปัญหาของสังคมคนสูงอายุของจีน ก็คือการปรับเพิ่มอายุเกษียณ โดยสภานิติบัญญัติของจีน ได้อนุมัติข้อเสนอการปรับเพิ่มอายุเกษียณของชาวจีน เป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ปรับเพิ่มอายุเกษียณของผู้ชายจาก 60 ปี เป็น 63 ปี
- ปรับเพิ่มอายุเกษียณของส่วนผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศจาก 55 ปี เป็น 58 ปี
- ปรับเพิ่มอายุเกษียณของส่วนผู้หญิงที่ทำงานโรงงาน 50 ปี เป็น 55 ปี
การเปลี่ยนแปลงนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2025 แต่จะเป็นการปรับอายุขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะใช้เวลา 15 ปี จึงจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ
ในประเทศไทยปัญหาก็ไม่ได้ต่างกัน โดยระบบการออมเพื่อเกษียณอายุของไทยเป็นระบบ 4 เสาหลัก คือ
- เสาหลักที่ 0 คือ เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ผู้สูงอายุ (social assistant) เป้าหมาย คือ ให้ผู้สูงอายุมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพพื้นฐานขั้นต่ำ) แหล่งที่มาของเงิน คือ งบประมาณภาครัฐ ตัวอย่างคือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- เสาหลักที่ 1 คือ ระบบการออมภาคบังคับ แบบกำหนดผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังเกษียณ (Mandatary Defined benefit) เป้าหมาย คือ ให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบมีเงินสำหรับดำรงชีพเหนือเส้นความยากจน (Poverty deduction) แหล่งที่มาของเงิน คือ เงินออมของผู้อยู่ในระบบ และภาครัฐ ตัวอย่างคือ กองทุนประกันสังคม และระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- เสาหลักที่ 2 คือ ระบบการออมภาคบังคับ แบบกำหนดจำนวนเงินสะสม (Mandatary Defined Contribution) เป้าหมายคือ ให้ผู้สูงอายุมีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพระดับหนึ่ง (Adequacy) แหล่งที่มาของเงิน คือ เงินออมของผู้อยู่ในระบบ ตัวอย่างคือ กบข.
- เสาหลักที่ 3 คือ ระบบการออมภาคสมัครใจแบบกำหนดจำนวนเงินสะสม (Voluntary Defined Contribution) เป้าหมาย คือ ให้ผู้สูงอายุมีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีพให้มีคุณภาพใกล้เคียงก่อนเกษียณ แหล่งที่มาของเงิน คือ เงินออมของผู้อยู่ในระบบ ตัวอย่างคือ RMF ประกันบำนาญ
เสาหลักที่น่าจะมีปัญหา ก็คือ เสาหลักที่กำหนดผลประโยชน์ที่จะได้รับ อย่างเช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และกองทุนประกันสังคม ความเสี่ยงของระบบนี้ คือ
- จำนวนเงินออมเข้าระบบ หากกำหนดจำนวนเงินออมน้อยเกินไปเทียบกับผลประโยชน์ที่ได้รับ และจำนวนผู้ออมต่ำเทียบกับจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์
- จำนวนเงินจ่ายออกจากระบบ หากกำหนดจำนวนเงินผลประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าจำนวนเงินที่ออม และจำนวนผู้ออมต่ำเทียบกับจำนวนผู้ได้รับผลประโยชน์ จำนวนปีที่ได้รับผลประโยชน์ (อายุขัย - อายุที่กำหนดรับผลประโยชน์)
- ผลตอบแทนจากการลงทุน ด้วยรูปแบบการกำหนดผลประโยชน์ที่แน่นอน ทำให้ไม่สามารถลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงได้อย่างที่ควร
ปัญหานี้
- หากมองในกรณีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่แหล่งเงิน 100% หรือประกันสังคมที่กำหนดเงินสะสมและเงินสมทบรวมเพียงเดือน 900 บาทแต่จะได้รับบำนาญชราภาพขั้นต่ำ 3,000 บาท
- สัดส่วนคนในวัยทำงานเทียบคนสูงอายุที่ลดลงเรื่อยๆ ประกอบความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปจากลูกจ้างเป็นอาชีพอิสระเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมเริ่มลดลงจนบางปีต่ำกว่าเงินผลประโยชน์ที่จ่ายออกจากกองทุน
- อายุขัยที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตเป็นไปได้ที่อายุขัยหลังเกษียณคนไทยจะมากกว่า 40 ปี แปลว่า จำนวนปีที่ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์จะสูงกว่าจำนวนปีที่ออม ทำให้เงินผลประโยชน์จ่ายจากกองทุนโดยรวมมีความเสี่ยงที่จะมากขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือ ความเสี่ยงที่จะทำให้ระบบการออมในเสาหลักที่ 0 และที่ 1 (ประกันสังคม) มีปัญหา ในปีที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทำงานจะลดน้อยลง โดยจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ คาดว่าอีก 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคมจะเหลือเท่ากับศูนย์ นั่นคือ การล่มสลายของกองทุนประกันสังคม ดังนั้นจะทำอย่างไร ให้กองทุนอยู่ได้นานที่สุด หรือ เป็นอินฟินิตี้ จึงต้องหาวิธีที่หลากหลาย เพื่อเตรียมป้องกัน ก่อนที่ปัญหาจะเกิด”
แนวทางการแก้ปัญหา ก็คงใกล้เคียงกับประเทศอื่น เช่น เพิ่มอายุเกษียณ เพิ่มอัตราเงินออม เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเงินหลังเกษียณจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราโดยตรง หากเรามีเงินไม่พอใช้ในวันที่เราเกษียณ เพราะระบบการออมที่คาดหวังไว้ไม่ทำงาน เราจะเป็นคนที่ต้องรับผลกระทบนั้นอย่างเต็มที่ ป่วยการที่จะร้องแรกแหกกระเชอ เพื่อความไม่ประมาท เราควรเริ่มวางแผนการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมายสุดท้ายของวัยเกษียณ คือ YOYO (you are on your own) คุณจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวคุณคนเดียวจะเป็นจริง