logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: บริหารจัดการเงิน

เมื่อชีวิตไม่มีแบบแผนที่ตายตัว การวางแผนการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น

โดย ภาดร สุขสวัสดิ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567

 

จากการที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมาตลอด 10 ปี ได้มีคนมาขอคำปรึกษาและพูดคุยถึงการจัดการแผนการเงินเป็นจำนวนมาก พบว่าส่วนใหญ่ผู้รับการวางแผนที่มีแผนการเงินอยู่แล้ว แต่พบว่าประมาณ 80% จะมีแผนการจัดการเงินในระยะสั้นเท่านั้น เช่น มีการบริหารเงินให้รายรับมากกว่ารายจ่าย และถึงแม้จะมีการจัดการเรื่องเงินเก็บ เงินออม แต่ก็ยังขาดเรื่องการเก็บเงิน และนำไปลงทุนระยะยาวเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายที่สำคัญในอนาคต และยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการป้องกันความเสี่ยง วิกฤติการเงินต่าง ๆ ที่อาจจะมากระทบกับแผนการเงินในระยะยาว

ดังนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาขอสรุปคำแนะนำที่เคยให้ไว้กับผู้ขอรับคำปรึกษา ในการปรับแก้แผนการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและความผันผวนได้ดีขึ้นในอนาคต และทำให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ไม่ยาก หากดำเนินการได้ตามคำแนะนำ ดังนี้

 

แผนการเงินที่มี ดีแล้วหรือยัง

การวางแผนทางการเงินจะเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะบอกว่า ควรจะมีรายได้เท่าไร ใช้จ่ายอย่างไร รวมไปถึงวิธีการเก็บออมและลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ไปได้ถึงเป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจไว้ โดยแผนการเงินที่ดี นอกจากจะชัดเจนแล้วยังต้องสามารถทำได้จริง ไม่ยากหรือกดดันตัวเองจนเกินไป ไม่ทำให้ท้อถอยหรือหยุดทำตามแผนไปกลางคัน

การเริ่มต้นวางแผนการเงินที่ดี ควรเริ่มจากทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของตนเองออกมาก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมของ รายได้หลัก รายจ่ายต่าง ๆ สถานะทางการเงิน ความสามารถในการออมเงินและลงทุนเพื่อเก็บไว้สำหรับใช้จ่ายในอนาคต หากปรับเป็นแผนการเงินที่ดีแล้ว ก็จะนำมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นใจขึ้น

 

เตรียมแผนการเงินให้รับมือกับความผันผวนได้

จากวิกฤติโควิด-19 จะเห็นว่าสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งผู้ประกอบการและพนักงานประจำ แต่หากมีการเตรียมแผนการเงินที่มีความยืดหยุ่นสูงและปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก จะเป็นข้อได้เปรียบในการช่วยกู้สถานการณ์ฉุกเฉิน การเกิดเหตุไม่คาดฝันกับครอบครัวได้ เช่น หากรายได้ลดลง แผนสำรองเงินฉุกเฉิน จากการเก็บออมไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนออกมาบางส่วนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ หรือหากยังไม่พอก็อาจจะทำการหยิบยืมออกมาจากแผนการเงินอื่น ๆ เช่น แผนเกษียณออกมาใช้กู้วิกฤติก่อน เมื่อผ่านพ้นไปได้ก็ค่อยนำเงินไปคืนให้กับแผนเกษียณของตนเองที่วางไว้

 

แผนการลงทุนในแต่ละแผนการเงิน มีความเสี่ยงที่เหมาะสม

แผนการเงินที่ดีไม่จำเป็นต้องลงทุนแต่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงเสมอไป หากระยะเวลาของแผนการเงินนั้นสั้นก็ไม่ควรเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินไป ถึงแม้จะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่สูง เช่น แผนการศึกษาบุตร ควรเลือกลงทุนโดยคำนึงถึงระยะเวลาการลงทุนด้วย ค่าใช้จ่ายการศึกษาที่ไม่เกิน 3 – 5 ปี ก็ไม่ควรเลือกการลงทุนที่เสี่ยงจนเกินไปทั้งจำนวน เช่น กองทุนหุ้น เพราะหากเกิดวิกฤติทางการเงินที่ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงที่ลงทุนขาดทุนในช่วงเวลาที่ต้องถอนเงินออกมาชำระค่าเทอม ก็จะกระทบกับแผนที่วางไว้ แต่หากเป็นการเก็บเงินระยะยาวสำหรับการศึกษาของบุตร ในระดับชั้นปริญญาตรีและโท ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเพิ่มได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวที่มากขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาจากความเสี่ยงที่รับได้ของตนเองด้วย ต้องไม่ทำให้รู้สึกกังวลจนเกินไป และกระทบกับชีวิตประจำวัน

 

ปิดความเสี่ยงที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่มีโอกาสกระทบแผนการเงิน

แผนการเงินของผู้รับคำปรึกษามักหยุดชะงักและไปไม่ถึงเป้าหมาย มักเป็นเพราะเรื่องของค่าใช้จ่ายจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยจากโรคที่ไม่คาดคิด และไม่ได้เลือกที่จะปิดความเสี่ยงนี้ไว้ก่อน คนส่วนใหญ่จะมองข้ามแผนประกันเพราะคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นกับตนเองน้อย แต่ลืมไปว่าหากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งจะทำให้เงินทั้งหมดที่สะสมไว้ในแผนการเงินต่างๆ หมดลงได้อย่างรวดเร็ว

การมีประกันจะเปรียบเสมือนเกราะคุ้มกันเวลาเกิดเหตุที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันรถ หรือประกันอัคคีภัย เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ๆ ในการเริ่มต้นวางแผนการเงิน และรวมไปถึงประกันชีวิต ที่จำเป็นต้องทำหากเป็นการวางแผนการเงินที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ เช่น การวางแผนการศึกษาบุตร

 

เลือกใช้เครื่องมือทางการเงินให้เหมาะกับแผน

การใช้เครื่องมือให้เหมาะสมก็เป็นตัวที่จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับแผนในอนาคตได้ เช่น การวางแผนเกษียณ เป็นการเก็บเงินเพื่อใช้ในอนาคต ซึ่งจะสามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินระยะยาวที่มีผลประโยชน์ทางด้านภาษีเพิ่มเติม เช่น กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันบำนาญ ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ โดยได้สิทธินำไปลดภาษีได้ทุกครั้งที่ลงทุนหรือจ่ายเบี้ยประกันตามเกณฑ์ที่ถูกวางไว้ และสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีก็สามารถเลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงและนโยบายการลงทุนที่สนใจได้อีกด้วย ถือเป็นการใช้เครื่องมือทางการเงินได้อย่างคุ้มค่าและตรงกับเป้าหมายที่วางไว้

 

ทบทวนและปรับปรุงตลอดเวลา

ถึงจะมีแผนการเงินที่ดีแล้ว ก็ยังต้องนำมาทบทวนทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปีอยู่เสมอ เพราะชีวิตก็ไม่ได้หยุดนิ่งมีการปรับเปลี่ยนตลอด เช่น มีรายได้สูงขึ้น หรือมีภาระที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อตัวแปรในแผนการเงินเปลี่ยน แผนการเงินก็จำเป็นต้องปรับ หรือแม้แต่สถานการณ์ภายนอกที่ไม่คาดคิด เช่น ภัยธรรมชาติ วิกฤติการเงิน ที่มาส่งผลกระทบกับแผนการเงิน ก็ต้องนำมาพิจารณาที่จะปรับปรุงหรือแก้ไขแผนการเงินให้เป็นปัจจุบัน การศึกษาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ และเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็นำมาพิจารณาปรับใช้กับแผนการเงิน เพื่อให้ไปถึงจุดหมายได้ดีขึ้นก็ทำได้เช่นกัน

ปรับแผนทางการเงินให้ มีความต้านทานต่อวิกฤติ มีความยืดหยุ่นสูง ใช้เครื่องมือที่เหมาะสม มีการทบทวนสม่ำเสมอ จะทำให้พร้อมที่จะรับมือวิกฤติทางการเงินในอนาคตได้ดีขึ้น และพร้อมที่จะไปถึงเป้าหมายได้ตามแผนที่วางไว้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th