บทความ: บริหารจัดการเงิน
ถอดรหัสวิกฤติการเงิน 5 บทเรียนจากช่วงวิกฤติ
ในช่วงที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่มากมาย เช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ตามด้วยวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกสั่นสะเทือนในปี 2551 จนถึงวิกฤติโควิด-19 ที่เพิ่งผ่านพ้นมา ซึ่งแต่ละวิกฤติได้ทิ้งบทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น มาไขรหัสและเรียนรู้จากตัวอย่างประสบการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เงินสำรอง ด่านแรกของความมั่นคง: บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้ง
“เมื่อวานยังดูดีอยู่เลย วันนี้ต้องปิดกิจการ” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เช่น กรณีของร้านอาหารไทยชื่อดังแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีลูกค้าเข้าคิวรอต่อแถวยาวทุกวัน รายได้เฉลี่ยวันละหลักแสนบาท แต่ด้วยการบริหารแบบ “รายได้ดี ค่าใช้จ่ายดี” โดยไม่มีการสำรองเงินไว้ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัว ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นกว่า 40% ทำให้ร้านไม่สามารถประคองตัวผ่านช่วงวิกฤติไปได้
นี่คือบทเรียนสำคัญที่สอนให้รู้ว่า “เงินสำรอง” คือเกราะป้องกันชั้นแรกในยามวิกฤติ แม้ธุรกิจหรือหน้าที่การงานจะมั่นคงแค่ไหน ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 - 12 เดือนของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน
วิธีการสร้างเงินสำรองที่ได้ผลที่สุด คือ การตั้งระบบออมอัตโนมัติทันทีที่เงินเดือนเข้า อย่ารอให้เหลือค่อยเก็บ เพราะส่วนใหญ่มักจะไม่เหลือ ที่สำคัญต้องแยกบัญชีเงินสำรองออกจากบัญชีใช้จ่ายปกติ เสมือนการแยกกระปุกเก็บออมไว้ในที่ที่หยิบใช้ยาก จะช่วยลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและทำให้เงินสำรองเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่าลืมว่าด้วยสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เงินสำรองฉุกเฉินจะช่วยให้ยืนหยัดอยู่ได้ในยามวิกฤติ
รายได้หลายทาง สร้างความมั่นคง: บทเรียนจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
พนักงานวัย 35 ปี ทำงานสถาบันการเงินข้ามชาติแห่งหนึ่ง เคยได้รับเงินเดือนและโบนัสรวมปีละกว่า 3 ล้านบาท ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะพลิกผันในชั่วข้ามคืน เมื่อบริษัทล้มละลายในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 ต้องตกงานพร้อมกับเพื่อน ๆ อีกกว่า 50 คน ถึงแม้จะทำงานประจำสาขาประเทศไทย แต่คิดว่าตัวเองมีงานที่มั่นคงที่สุดในโลก เงินเดือนสูง สวัสดิการดี จนละเลยการสร้างแหล่งรายได้อื่น แต่เมื่อวิกฤติมา ทุกอย่างก็หมดลงในพริบตา
บทเรียนนี้สอนให้เห็นว่า การพึ่งพารายได้ทางเดียวในยุคที่เทคโนโลยีและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้น ควรสร้างแหล่งรายได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อรับงานเป็นรายได้เสริมในช่วงวันหยุด เริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ คู่กับงานประจำ หรือลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ เช่น ลงทุนในหุ้นปันผล เพราะเมื่อขาหนึ่งสะดุด อย่างน้อยยังมีอีกขาที่พยุงให้ก้าวเดินต่อไปได้
รู้จริงก่อนลงทุน: บทเรียนจากวิกฤติคริปโตเคอร์เรนซี
“ก่อนจะมั่งคั่ง ต้องรู้จริง” คำพูดนี้อาจฟังดูธรรมดา แต่มีนักลงทุนหลายคนที่ต้องเสียเงินเป็นบทเรียนราคาแพงในช่วงวิกฤติคริปโตเคอร์เรนซีช่วงปี 2565 เช่น นักลงทุนวัย 28 ปี พนักงานบริษัทที่เห็นเพื่อน ๆ ทำกำไรจากคริปโตฯ ได้หลักล้านบาท จึงตัดสินใจเอาเงินเก็บ 500,000 บาทไปลงทุนทั้งหมด โดยไม่เคยศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เพราะมองว่าเห็นเพื่อนทำกำไรได้ง่าย แค่ซื้อแล้วถือไว้ แต่เมื่อราคาปรับลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เขาก็ตกใจและไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายทนขาดทุนไม่ไหว จึงขายทิ้งตอนราคาต่ำสุด เสียเงินไปเกือบ 400,000 บาท
บทเรียนนี้สอนให้เห็นว่า การลงทุนโดยไม่มีความรู้ เพียงแค่ตามกระแสหรือเห็นคนอื่นทำกำไร ไม่ต่างอะไรกับการเล่นการพนัน แนวทางที่ถูกต้อง คือ
- ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนลงทุน ทั้งข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยง
- กระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ไม่เทเงินทั้งหมดไปในที่เดียว
- ลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เข้าใจจริง ๆ อย่าลงทุนตามกระแสหรือคำชักชวน
- เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินจำนวนน้อยก่อน เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจ
ประกัน โล่ป้องกันความเสี่ยงชีวิต: บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19
เรื่องราวของสองคนในช่วงวิกฤติโควิด-19 สะท้อนความสำคัญของการมีประกันได้อย่างชัดเจน คนแรก มั่นใจว่าตัวเองอายุแค่ 35 ปี สุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องทำประกัน แต่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถึงแม้จะไม่มีค่าใช้จ่าย แต่การติดเชื้อโควิดไม่ได้จบแค่การรักษาในโรงพยาบาล เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Long COVID อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการเหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาด้านความจำ และต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากไม่มีประกันสุขภาพ ทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ต้องพึ่งพาเงินเก็บออมที่สะสมมาทั้งชีวิต
ในทางตรงกันข้าม คนที่สอง ที่ทำประกันสุขภาพไว้ตั้งแต่อายุ 22 ปี เมื่อเข้าการรักษาพยาบาลและต้องนอนโรงพยาบาลเช่นกัน แต่ประกันช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงการรักษาผลกระทบระยะยาวต่าง ๆ ทำให้ไม่ต้องกระทบเงินเก็บและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังหายป่วย
บทเรียนนี้สอนให้เห็นว่า ประกันคือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่สำคัญในชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี การมีประกันที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุน้อยและสุขภาพยังดี เพื่อให้ได้เบี้ยประกันที่ถูกกว่าและไม่ต้องกังวลเรื่องโรคประจำตัวที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งสำคัญ คือ ต้องเลือกความคุ้มครองให้เหมาะสมกับช่วงชีวิต และทบทวนความคุ้มครองอย่างสม่ำเสมอ เพราะประกันที่ดีไม่จำเป็นต้องแพงที่สุด แต่ต้องคุ้มครองในสิ่งที่เราต้องการและจ่ายได้ในระยะยาว
หนี้ดี VS หนี้ร้าย: บทเรียนจากวิกฤติหนี้ครัวเรือน
เปรียบเทียบเรื่องราวของคนสองคนที่มีภาระหนี้แตกต่างกัน คนแรกเป็นพนักงานบริษัทวัย 40 ปี มีหนี้ 2 ล้านบาทจากการผ่อนบ้านหลังแรก ซึ่งปัจจุบันมูลค่าบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านบาท ถือเป็น “หนี้ดี” ที่สร้างความมั่งคั่งในระยะยาว จึงวางแผนการชำระหนี้อย่างรอบคอบ ด้วยการแบ่งเงิน 30% ของเงินเดือนสำหรับผ่อนบ้าน และยังสามารถเก็บออมและลงทุนได้สม่ำเสมอ
ในทางตรงข้าม คนที่สอง อายุ 35 ปี มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลรวม 200,000 บาท จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ชอปปิงออนไลน์ และท่องเที่ยว โดยแต่ละเดือนก็ชำระหนี้แบบขั้นต่ำด้วยดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้แต่ละเดือนแทบไม่มีเงินเหลือ หรือบางเดือนต้องกู้เงินก้อนใหม่มาปิดหนี้ก้อนเก่า กลายเป็นวงจรหนี้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด
บทเรียนสำคัญคือ หนี้ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป หากเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่าหรือสร้างรายได้ในอนาคต เช่น หนี้เพื่อการศึกษา หนี้เพื่อลงทุนธุรกิจ หรือหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่หนี้เพื่อการบริโภคที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง คือ ตัวทำลายความมั่นคงทางการเงิน สิ่งสำคัญ คือ ต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือ “หนี้ดี หนี้ร้าย” และวางแผนการชำระหนี้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยแนวโน้มสูงขึ้น เพราะหนี้ที่มากเกินไป แม้จะเป็นหนี้ดีก็อาจกลายเป็นปัญหาได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี
เตรียมพร้อมรับมือวิกฤติครั้งต่อไป
จากบทเรียนดังกล่าว พบว่าวิกฤติการเงินสามารถเกิดขึ้นได้เสมอและมักมาโดยไม่ทันตั้งตัว แต่ทุกคนสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง เริ่มจากการสร้างเงินสำรองฉุกเฉินที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย กระจายความเสี่ยงในการลงทุน ไม่พึ่งพาแหล่งรายได้เดียว มีความคุ้มครองประกันที่เหมาะสมเพื่อรองรับเหตุไม่คาดฝัน เพราะชีวิตเปรียบเสมือนการเดินทางที่ยาวไกล การมีเกราะป้องกันที่แข็งแรงจะช่วยให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้อย่างมั่นคง