บทความ: บริหารจัดการเงิน
7 ข้อผิดพลาดในการช้อปปิ้ง ออนไลน์และวิธีแก้ไข
เผยแพร่วันที่ 28 พ.ย. 2567
เคยสังเกตหรือไม่ว่าเงินในบัญชีถึงหมดเร็ว โดยเฉพาะในยุคที่การชอปปิงออนไลน์ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว หลายคนตกหลุมพลางของความสะดวกสบายและกลยุทธ์การตลาด จนเผลอใช้จ่ายเกินตัวโดยไม่รู้ตัว จึงกดซื้อของด้วยความผิดพลาดและหลายคนผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า อย่างไรก็ตาม หากรู้จักความผิดพลาดในการชอปปิงออนไลน์ ก็สามารถหาทางแก้ไขได้ทัน
การซื้อด้วยอารมณ์: เมื่ออารมณ์นำหน้าสติ
“วันนี้รู้สึกแย่มาก เลยอยากชอปปิงให้หายเครียด” ประโยคที่ได้ยินบ่อย ๆ และเมื่อพูดจบหลายคนมักเปิดเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันชอปปิง ซึ่งเหมือนเป็นสัญชาตญาณที่เมื่อเครียดจากงานก็ต้องการได้ความสุขเร็ว ๆ และการกดซื้อของก็เป็นวิธีที่ง่ายเพื่อบำบัดความเครียด
ที่ผ่านมา พบว่าหลายคนจะใช้การชอปปิงเป็นกลไกในการจัดการอารมณ์ โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าเครียดจากการทำงาน เหงาหรือต้องการการยอมรับ ต้องการรางวัลให้ตัวเอง หรือต้องการความสุขแบบฉับพลัน เพราะการกดปุ่มซื้อเพียงครั้งเดียวสามารถปลดปล่อยสารแห่งความสุขในสมองได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ความสุขจากการชอปปิงอาจเหมือนไฟฟ้าช็อต ที่วูบเดียวแล้วก็หายไป ทิ้งไว้เพียงความรู้สึกผิดและภาระหนี้สินที่พอกพูน และปัญหายิ่งรุนแรงขึ้นในยุคที่การชอปปิงออนไลน์ทำได้ง่ายดายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่ไหน เวลาใด ก็สามารถกดซื้อได้ทันทีที่อารมณ์พาไป โดยไม่ต้องคิดให้รอบคอบเหมือนการเดินไปซื้อของที่ร้าน
วิธีแก้ไข
ใช้กฎ 24 ชั่วโมง
- บันทึกสิ่งที่อยากซื้อไว้ในรายการ Wishlist
- รอ 24 ชั่วโมงก่อนตัดสินใจซื้อ
- ทบทวนเหตุผลในการซื้ออีกครั้ง
สร้างกิจกรรมทดแทน
- ออกกำลังกาย
- พูดคุยกับเพื่อน
- ทำงานอดิเรก หรือเขียนไดอารี่บันทึกอารมณ์
กับดักส่วนลด: เมื่อ "ถูก" ไม่ได้แปลว่า "คุ้ม"
“ซื้อตอนนี้ประหยัดได้ 2,000 บาท” ประโยคนี้วนเวียนอยู่ในหัวของหลายคน ขณะที่จ้องมองกระเป๋าถือใบสวยบนหน้าจอมือถือ ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ เมื่อเห็นตัวเลขนับถอยหลัง “เหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมง 59 นาที” พร้อมข้อความ “เหลือสินค้าเพียง 3 ชิ้นเท่านั้น”
นี่คือกับดักที่นักชอปออนไลน์หลายคนเจอ โดยเฉพาะในยุคที่กลยุทธ์การตลาดถูกออกแบบมาให้กระตุ้นความรู้สึกเร่งด่วนและความกลัวที่จะพลาดดีล ผู้ขายหลายรายใช้เทคนิค “ส่วนลดลวง” ด้วยการขึ้นราคาสินค้าก่อนจะลดราคา หรือเปรียบเทียบกับราคาที่สูงเกินจริง เพื่อให้ดูเหมือนว่าลูกค้าได้ส่วนลดมากกว่าความเป็นจริง ขณะเดียวกันการสร้างความเร่งด่วนผ่านการนับถอยหลังเวลา หรือแสดงจำนวนสินค้าที่เหลือน้อย ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อแบบไม่ทันคิดให้รอบคอบ ทำให้อาจจ่ายเงินไปกับของที่ซื้อมาและไม่เคยได้ใช้ เพราะถูกกดดันด้วยความรู้สึกว่าต้องรีบตัดสินใจ
วิธีแก้ไข
ติดตามราคาอย่างเป็นระบบ
- เปรียบเทียบราคาจากหลายร้านค้า
- จดบันทึกราคาที่เคยซื้อ
ตั้งงบประมาณล่วงหน้า
- กำหนดจำนวนเงินที่ยอมจ่าย ไม่ซื้อเกินงบแม้จะลดราคา
- คำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมค่าส่ง
ความลวงของความสะดวก: เมื่อง่ายเกินไปกลายเป็นอันตราย
“สะดวกมาก แค่ปลายนิ้วสัมผัส อาหารก็มาส่งถึงที่ เลยสั่งทุกมื้อ คิดว่าประหยัดเวลาได้เยอะ” เป็นประโยคของผู้ที่ชื่นชอบในความสะดวกสบายของการสั่งอาหารออนไลน์ แต่ความสะดวกกลับกลายเป็นดาบสองคม เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายย้อนหลังอาจพบว่าได้จ่ายเงินไม่ใช่แค่ค่าอาหาร แต่รวมถึงค่าจัดส่ง ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม และค่าบริการพิเศษต่าง ๆ ที่แอบแฝงมากับความสะดวกสบาย ยิ่งไปกว่านั้น สุขภาพแย่ลงเพราะขาดการเคลื่อนไหว และมักสั่งอาหารเกินความจำเป็นเพื่อให้คุ้มค่าส่ง
วิธีแก้ไข
กำหนดวันชอปปิงในแต่ละสัปดาห์
- วางแผนการซื้อล่วงหน้า รวบรวมรายการซื้อให้คุ้มค่าส่ง
- เลือกวันที่มีโปรโมชันพิเศษ
สร้างระบบตรวจสอบก่อนซื้อ
- มีของชิ้นนี้อยู่แล้วหรือไม่
- ต้องใช้เมื่อไร มีทางเลือกอื่นที่ประหยัดกว่าหรือไม่
ซื้อเพื่ออนาคต: เมื่อความหวังไม่ตรงความจริง
เมื่อเปิดตู้เสื้อผ้าอาจถอนหายใจเบา ๆ เพราะเต็มไปด้วยเสื้อผ้าไซส์ S กว่าสิบตัว ทุกชิ้นยังติดป้ายราคา แต่ซื้อมาเมื่อสองปีก่อนตอนลดราคา ด้วยความหวังว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ จึงซื้อเก็บไว้ก่อน เพราะมั่นใจว่าต้องได้ใส่แน่ ๆ
กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ที่หลายคนมองโลกในแง่ดีเกินไป ประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินจริง และมักไม่คำนึงถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และยังถูกกดดันจากมาตรฐานในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เผลอซื้อของด้วยความหวังมากกว่าความเป็นจริง
วิธีแก้ไข
ซื้อตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความฝัน
- ซื้อของที่ใช้ได้จริงในตอนนี้
- กำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ แบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นขั้นตอนย่อย ๆ
สร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง
- ซื้อของเพื่อให้รางวัลตัวเองตามความสำเร็จจริง
- ไม่ใช้การชอปปิงเป็นแรงจูงใจหลัก
การละเลยต้นทุนระยะยาว: เมื่อถูกที่สุดไม่ใช่ดีที่สุด
หลายคนกำลังท่องแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์และเห็นของชิ้นหนึ่งจากต่างประเทศ พร้อมคำว่า “ของดีราคาถูก” จึงตัดสินใจสั่งซื้อ เพราะมองว่าราคาที่ถูกกว่าแบรนด์ดังในไทยถึงครึ่งหนึ่ง และรู้สึกดีใจที่ได้ของดีราคาประหยัด แต่ความรู้สึกดีอยู่ได้เพียง 6 เดือน เมื่อของชิ้นนั้นเริ่มมีเสียงดังผิดปกติและหยุดทำงาน จึงพยายามติดต่อผู้ขาย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ และไม่สามารถซ่อมในประเทศไทยได้
ตัวอย่างดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่สอนให้รู้ว่า ราคาถูกที่สุดไม่ได้หมายถึงคุ้มค่าที่สุดเสมอไป ดังนั้น ควรคำนึงถึงต้นทุนระยะยาว ทั้งค่าซ่อมแซม ค่าอะไหล่ การรับประกัน และเวลาที่ต้องเสียไปกับการแก้ปัญหาต่าง ๆ
วิธีแก้ไข
คำนวณต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน
- ราคาซื้อ + ค่าบำรุงรักษา
- ค่าพลังงานที่ใช้ ค่าเสียโอกาส
พิจารณาปัจจัยอื่นนอกจากราคา
- คุณภาพและความทนทาน ความน่าเชื่อถือของแบรนด์
- การรับประกันและบริการหลังการขาย
การเปรียบเทียบทางสังคม: เมื่อการชอปปิงกลายเป็นการแข่งขัน
ทุกวันนี้จะสังเกตพบว่าเมื่อเห็นเพื่อน ๆ ที่ทำงานถือกระเป๋ารุ่นใหม่ ก็ต้องการมีกระเป๋าเหมือนเพื่อน หรือเห็นเพื่อนซื้อกระเป๋าใบใหม่ ก็รู้สึกต้องตาม จนกลายเป็นวงจรที่หยุด (ชอปปิงตาม) ไม่ได้
กรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นผลกระทบของการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นในสังคม โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียที่เห็นไลฟ์สไตล์ของคนอื่นตลอดเวลา การชอปปิงจึงไม่ใช่แค่การซื้อของใช้ แต่กลายเป็นการแข่งขันเพื่อสร้างตัวตนและการยอมรับ จนนำไปสู่ปัญหาทั้งด้านการเงินและสุขภาพจิต ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล และความรู้สึกด้อยค่าเมื่อไม่สามารถตามเทรนด์ได้ทัน
วิธีแก้ไข
กำหนดตัวตนและสไตล์ของตัวเอง
- เลือกซื้อสิ่งที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ไม่ตามกระแสโดยไม่จำเป็น
- สร้างความภูมิใจจากการใช้เงินอย่างมีวินัย
- เห็นความสำคัญของการวางแผนการเงิน
การขาดการวางแผน: รากเหง้าของปัญหาทั้งหมด
หลายคนเมื่อถึงสิ้นปีก็คำนวณค่าใช้จ่ายการชอปปิงย้อนหลัง พบว่า 1 ปีที่ผ่านมาเสียเงินไปกับของที่ไม่จำเป็นเป็นจำนวนหลักหมื่นบาท ทั้ง ๆ ที่ของหลายอย่างก็มีอยู่แล้ว บางอย่างก็ยังไม่ได้แกะใช้เลย ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการไม่วางแผน ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน ทั้งการซื้อของที่มีอยู่แล้วเพราะลืมว่าเคยซื้อ การซื้อของใช้มากเกินความจำเป็นจนใช้ไม่หมด
ที่สำคัญ หลายคนมักจะรีบซื้อทันทีที่เห็น เลยพลาดโอกาสการประหยัดเงิน ทั้งคูปองส่วนลด โปรโมชันพิเศษ บางครั้งก็ต้องจ่ายค่าส่งครั้งละเล็กน้อย ทั้ง ๆ ที่หากรวมออเดอร์ก็ประหยัดได้พอสมควร
วิธีแก้ไข
จัดทำรายการความต้องการ
- แยกหมวดหมู่สินค้า จัดลำดับความสำคัญ
- กำหนดงบประมาณสำหรับแต่ละรายการ
วางแผนการชอปปิงตามเทศกาล
- สร้างปฏิทินโปรโมชัน
- เตรียมงบประมาณล่วงหน้า รวบรวมคูปองและส่วนลด
เปลี่ยนข้อผิดพลาดให้เป็นบทเรียน
การชอปปิงออนไลน์เป็นดาบสองคม ที่ให้ทั้งความสะดวกสบายและความเสี่ยงทางการเงิน แต่ข้อผิดพลาดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากแต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง โดยพบว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการชอปปิง มักเริ่มต้นจากการยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเอง แล้วค่อย ๆ พัฒนานิสัยการใช้จ่ายที่ดีขึ้น จนสามารถสร้างสมดุลระหว่างความสุขในการชอปปิงและสุขภาพทางการเงินได้อย่างลงตัว