บทความ: ภาษีและมรดก
เรื่องภาษี ดาราไม่ควรมองข้าม
สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่ 15 ธ.ค. 2567
อาชีพดารา เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีรายได้สูง ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการเป็นนักร้อง นักแสดง หรือพรีเซนเตอร์ แนะนำสินค้าต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อดารามีรายได้มากมาย อาจสงสัยว่าเสียภาษีมากแค่ไหน
ดาราเสียภาษีอย่างไร
เมื่อดาราจะทำงานไม่ว่าจะเล่นหนัง ร้องเพลง หรือ โชว์ตัว ก็ต้องเซ็นสัญญาจ้างกับผู้ว่าจ้างก่อน เมื่อทำงานตามสัญญาเสร็จเรียบร้อยจึงค่อยได้รับค่าจ้าง หากมองเพียงเท่านี้ เงินได้ของดารา นักร้อง นักแสดง ก็น่าจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือ ตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ คือ ต้องทำงานเสร็จถึงได้เงิน โดยงานที่ทำต้องเป็นงานที่ใช้ความสามารถของตัวเองเป็นหลักในการหารายได้
ตัวอย่างของเงินได้ลักษณะดังกล่าว เช่น ค่าจ้างที่จ่ายให้วิทยากรเมื่อบรรยายเสร็จตามสัญญาจ้าง ค่าคอมมิชชั่นที่ตัวแทนประกันชีวิตได้รับเมื่อขายประกันได้ ฯลฯ เงินได้ตามมาตรา 40(2) นี้ หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาชีพดารา นักร้อง นักแสดง เป็นอาชีพที่มีค่าใช้จ่ายในการหารายได้สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเสื้อผ้า ค่าแต่งหน้า ค่าผู้จัดการส่วนตัว มีค่าใช้จ่ายเยอะ สรรพากรจึงพิจารณาว่าเป็นเงินได้ในรูปของกิจการที่ทำ ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบ
- หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือ
- หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังนี้
- สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60
- สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท
ดังนั้น ผู้ที่หารายได้ด้วยการทำงาน เช่น ร้องเพลง ก็เลือกระบุเงินได้ตนเองเป็น 40(8) เพราะหักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เช่น มีเงินได้ทั้งปี 1 ล้านบาท ถ้าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท เท่ากับหักได้ 100,000 บาทเท่านั้น เหลือเงินได้ที่ต้องไปคำนวณภาษีต่อ 900,000 บาท แต่ถ้าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) หักค่าใช้จ่ายได้ 600,000 บาท เหลือเงินได้ที่ต้องไปคำนวณภาษีต่อเพียง 400,000 บาท
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและป้องกันการอ้างเงินได้ผิดประเภท สรรพากรจึงออก คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 102/2544 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ของนักแสดงสาธารณะ ผู้จัดให้มีการแสดงของนักแสดงสาธารณะ และคู่สัญญาที่จัดหานักแสดงสาธารณะมาแสดง
ข้อ 1 คำว่า “นักแสดงสาธารณะ” หมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว เป็นหมู่หรือคณะ หรือแข่งขันเป็นทีม เช่น นักแสดงละครเวที นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครวิทยุ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้ดำเนินรายการทางโทรทัศน์ นักแสดงตลก นายแบบ นางแบบ นักพูดรายการทอล์คโชว์ นักมวยอาชีพ นักฟุตบอลอาชีพ เป็นต้น
นักแสดงสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการในสถานบันเทิงใด ๆ ผู้บรรยายหรือนักพากย์ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงสาธารณะ ผู้กำกับการแสดง ผู้จัดการทีมกีฬา ผู้ฝึกสอน นักกีฬาหรือบุคคลผู้กระทำการในลักษณะทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการให้นิยามที่ชัดเจนมากขนาดนี้ ก็เกิดปัญหาจนขึ้นโรงขึ้นศาล
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2548 ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีที่ น.ส.ญาสุมินทร์ สีดาตระกูล หรือ “จ๋า-ญาสุมินทร์” พิธีกรและนักแสดง ชื่อดัง เป็นโจทก์ฟ้องกรมสรรพากร โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมิน ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังจากที่ยื่นฟ้องไว้เมื่อปี 2547 ว่า โจทก์มีอาชีพเป็นนักแสดงอิสระ มีเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ประเภท นักแสดงสาธารณะ มีรายได้ต่อปี เป็นเงิน 1,680,358 บาท (หักค่าลดหย่อนภาษีได้ ไม่เกินปีละ 6 แสนบาท) และ ได้ชำระภาษีไป เป็นเงิน 103,414 บาท
ต่อมากรมสรรพกร ให้ชำระภาษีเพิ่มอีก 153,122 บาท โดยอ้างเหตุผลว่า “จ๋า-ญาสุมินทร์” ไม่ได้เป็นนักแสดงแต่เป็นพิธีกร ถือเป็นเงินได้ ประเภทมาตรา 40 (2) หรือประเภทค่าจ้างแรงงาน เพื่อการงานที่ทำให้ (หักค่าลดหย่อนภาษีได้ ปีละไม่เกิน 6 หมื่นบาท) ได้นำสืบว่า “จ๋า-ญาสุมินทร์”เมื่อปี 2540-2541 ได้รับงานเป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการตามสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ คือ รายการ “มาส-เตอร์คีย์” รายการ “คอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทย” และรายการ “พากินพาเที่ยว”
การทำงานในลักษณะนี้ ต้องอาศัยความเป็นนักแสดง รูปร่างหน้าตาเป็นส่วนสำคัญ ทั้งยังต้องบำรุงผิวพรรณ รวมถึงต้องเตรียมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ทำผมแต่งหน้า เสียค่าใช้จ่ายรวมกันสูงมาก อีกทั้งยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการพูด ไหวพริบ ความสามารถ ในการแสดงและต้องมีอารมณ์ขัน เพื่อสร้างความสนุกสนาน ถือว่าเป็นนักแสดงสาธารณะ ตามมาตรา 40 (8)
ขณะที่กรมสรรพากรที่ตกเป็นจำเลยต่อสู้ว่า “จ๋า-ญาสุมินทร์” ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง เพราะคำนวณเงินได้พึงประเมินมาผิดประเภท จึงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น เนื่องจาก “งานพิธีกรรายการ” คือ พิธีกร ทั่วไป ตามหลักเกณฑ์คำสั่งสรรพากรที่ ป. 102/44 ข้อ 1 ดังนั้น จะนำเงินได้จากงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีหรือหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 40 (8) ไม่ได้
ศาลพิพากษาว่า คู่ความยอมรับว่า “จ๋า-ญาสุมินทร์” เป็นนักแสดง มีรายได้จากงานแสดงเป็นหลัก มีประเด็นว่าจ่ายภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ ในทางพิจารณาพบว่า รายการมาสเตอร์คีย์ ช่วงแรก ผู้ดำเนินรายการ จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เน้นความสนุกสนาน ช่วงที่สอง เป็นละครเพื่อนำเข้าไปสู่คำถาม ช่วงที่สาม เป็นโบนัสนำผู้ชนะนำกุญแจไปไขตู้เพื่อรับทองคำ ส่วนรายการอื่น “จ๋า-ญาสุมินทร์” ต้องร้องเพลง การทำงานของ “จ๋า-ญาสุมินทร์” จึงไม่ใช่งานพิธีกร แต่เป็นงานเพื่อความบันเทิง รายได้ของโจทก์จึงถือว่า เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ที่นำมาหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ เมื่อขึ้นสู่ศาลฎีกา ได้มีการพิจารณารายละเอียดว่า กิจกรรมที่คุณจ๋า-ญาสุมินทร์ทำนั้นถึงระดับเทียบเท่าบทบาทการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆหรือไม่ เมื่อพิจารณาภาพรวมของรายการพบว่า สัดส่วนของกิจกรรมนักแสดงมีน้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมาของการเป็นพิธีกร และบทบาทหลักของคุณจ๋า-ญาสุมินทร์ก็ไม่ต่างจากพิธีกรทั่วไป ศาลฎีกาจึงพิจารณาตัดสิน “ยกฟ้อง” สรรพากรชนะครับ
สรุป การประเมินว่าเงินได้ของเราจะเป็นเงินได้ประเภทไหนขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำเพื่อก่อให้เกิดเงินได้นั้น
ในทางกลับกัน แม้จะเป็นนักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียง หากกิจกรรมหารายได้ที่ทำไม่ใช่การร้อง การแสดง ก็ไม่สามารถยื่นเงินได้เราเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) ในฐานะนักร้อง นักแสดงได้
ถูกหักภาษี ณ จ่ายไปแล้ว ใช่ว่าจบ
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดาราหลายคนมีปัญหาภาษีต้องถูกสรรพากรปรับและเสียภาษีเพิ่ม ก็คือ ความเข้าใจผิดที่ว่า “ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ถือว่า เสียภาษีถูกต้อง ครบถ้วน” ไม่ต้องไปเสียภาษีเงินได้ตอนยื่นแบบภาษีอีก ความจริงแล้ว ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าเพียงบางส่วนที่สรรพากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีจากเงินที่จ่ายให้แก่ผู้รับทุกครั้งที่จ่าย เพื่อแบ่งเบาภาระภาษีที่ต้องเสียตอนปลายปีเท่านั้น แปลว่า เมื่อถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว ยังต้องนำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณภาษีตอนปลายปีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเสียภาษีในส่วนที่ยังเสียไม่ครบ
ดาราควรวางแผนภาษีอย่างไร
เนื่องจากอาชีพดารานักร้องและนักแสดงมีรายได้ที่ไม่แน่นอน นอกจากการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนการเงินแล้ว การวางแผนภาษี เพื่อช่วยลดภาระภาษีอย่างถูกกฎหมายก็มีความสำคัญ
- การตั้งบริษัทเพื่อรับรายได้ เนื่องจากอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยังสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานได้
- เลือกการหักค่าใช้จ่ายที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะดารานักแสดงสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ เช่น ค่าเสื้อผ้า การแต่งหน้า ค่าการเดินทาง หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงานได้ตามค่าใช้จ่ายจริง หรือ เลือกหักแบบเหมาจ่ายสูงสุด 600,000 บาทดังที่กล่าวแล้ว
- ถ้าหักค่าใช้จ่ายตามจริงหักได้มากกว่าแบบเหมา ก็ควรเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง
- ถ้าหักค่าใช้จ่ายตามจริงหักได้น้อยกว่าแบบเหมา ก็ควรเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา
- การลงทุนในกองทุนหรือสินทรัพย์ที่ลดหย่อนภาษีได้ เช่น RMF, SSF, TESG, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ ฯลฯนอกจากจะช่วยประหยัดภาษี ยังเป็นการออมเงินเพื่ออนาคตอีกด้วย
- วางแผนจัดสรรเงินได้ให้เหมาะกับปีภาษี เลือกรับรู้รายได้ในปีที่เงินได้สุทธิอยู่ในระดับต่ำ เพื่อจะได้เสียภาษีน้อยลง หรือ การกระจายรายได้ในช่วงหลายปี แทนที่จะรับรายได้ในปีเดียว
- การใช้สิทธิทางภาษีที่รัฐให้การสนับสนุน อย่างปีนี้ ก็เช่น เที่ยวเมืองรอง โครงการ “Easy E-Receipt” เป็นต้น
การวางแผนภาษีไม่ใช่เพียงเรื่องของการยื่นแบบแสดงรายการเท่านั้น แต่เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ดารา นักแสดงสามารถรักษาความมั่งคั่งและสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ด้วยลักษณะรายได้ที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอน การวางแผนภาษีที่รอบคอบจึงเป็นเกราะป้องกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพ เพราะจะสามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพอย่างยั่งยืน