บทความ: ภาษีและมรดก
เคล็ดลับวางแผนภาษีให้ได้ประโยชน์สูงสุด
สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่ 12 พ.ย. 2567
“ในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากความตายและภาษี” — เบนจามิน แฟรงคลิน เป็นคำคมเกี่ยวกับภาษีที่เราได้ยินกันบ่อยมาก แปลได้ง่าย ๆ ว่า “ความตาย” และ “ภาษี” ไม่มีใครหนีพ้น และหลายคนก็รู้กับตัวเองว่า “จริง”
ตัวอย่าง
เจ้าของร้านยำชื่อดัง ฟร้องซ์ ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ที่ตนเองโดนภาษีย้อนหลัง 6 ปี จำนวนเงิน 2.5 ล้านบาท โดยอธิบายว่า เมื่อก่อนตนขายของออนไลน์ เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์หนึ่ง รับสินค้ามาในราคา 78 บาท ขายให้ตัวแทนอีกรายในราคา 79 บาท และสินค้าอีกตัวได้รับมา 105 บาท ขายต่อในราคา 110 บาท ซึ่งก็ไม่ได้มีกำไรเยอะ แต่เมื่อปี 2565 ตนรวบรวมเงินจากตัวแทนหลายคนส่งให้เจ้าของแบรนด์เป็นก้อน จึงอาจดูว่าบัญชีมีรายได้เยอะ ซึ่งสรรพากรมีข้อมูลพวกนี้ทั้งหมด
หลังพูดคุยกับสรรพากรได้ข้อสรุปแล้วจากเดิมที่ต้องจ่ายเกือบ 2.5 ล้าน ตนได้เข้าอธิบายที่มาของเงิน จึงได้ข้อสรุปว่าจะต้องจ่ายเงินจริงไม่สูงเท่าตอนแรก แบ่งเป็นค่าปรับประมาณ 1 ล้าน และค่า Vat 7% + เงินเพิ่ม กับดอกเบี้ย 1.5% เป็นกรณีที่ตนมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ในปี 2565 ซึ่งตนทำอะไรไม่ได้ นอกจากเดินหน้าสู้ต่อไป
ทำไมต้องวางแผนภาษี
“ไม่มีใครชอบจ่ายภาษี แต่ทุกคนชอบใช้เงินภาษี”
เรื่องภาษีเป็นหน้าที่ของผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ส่วนจะได้ประโยชน์จากภาษีนั้นหรือไม่ ก็แล้วแต่กรณี ส่วนใครจะเสียภาษีมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับ “เงินได้สุทธิ” ตามสูตรคิดภาษีเงินได้ของสรรพากร ดังนี้
ภาษีเงินได้ = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หมายความว่า ถ้า “เงินได้สุทธิสูง” หรือ “อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูง” จะยิ่งเสียภาษีแพง
“ที่ใดภาษีแพง ที่นั่นต้องวางแผนภาษี”
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย เป็นอัตราภาษีก้าวหน้า คือ เงินได้สุทธิยิ่งสูง อัตราภาษีเงินได้ยิ่งแพง
ขั้นเงินได้สุทธิตั้งแต่ (บาท) | เงินได้สุทธิจำนวนสูงสุดของขั้น (บาท) | อัตราภาษี (%) | ภาษีสูงสุดในแต่ละขั้นเงินได้ (บาท) | ภาษีสะสมสูงสุดของขั้น (บาท) |
0 – 150,000 | 150,000 | 5 | ยกเว้น | 0 |
เกิน 150,000 – 300,000 | 150,000 | 5 | 7,500 | 7,500 |
เกิน 300,000 – 500,000 | 200,000 | 10 | 20,000 | 27,500 |
เกิน 500,000 – 750,000 | 250,000 | 15 | 37,000 | 65,000 |
เกิน 750,000 – 1,000,000 | 250,000 | 20 | 50,000 | 115,000 |
เกิน 1,000,000 – 2,000,000 | 1,000,000 | 25 | 250,000 | 365,000 |
เกิน 2,000,000 – 5,000,000 | 3,000,000 | 30 | 900,000 | 1,265,000 |
เกิน 3,000,000 | 35 |
จากตาราง พบว่าประเทศไทยมีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 35% หมายความว่า หากมีเงินได้สุทธิอยู่ในอัตรา 35% แปลว่า ทุก 100 บาทที่หาได้ ต้องเสียภาษีให้สรรพากร 35 บาท หรือ เงินที่เราหาตลอด 12 เดือน ต้องเสียภาษีให้สรรพากร 35% ของ 12 เดือน เท่ากับ 4.2 เดือน จึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน ระหว่าง “Lose it” or “Use it” คือ “ยอมเสียเงินเพื่อจ่ายภาษี” หรือ “ประหยัดภาษีเพื่อนำเงินมาใช้” ซึ่งหากต้องการประหยัดภาษีอย่าง “ถูกภาษี และ ถูกกฎหมาย” ต้องวางแผนภาษี
ใครบ้างควรวางแผนภาษี
- บุคคลธรรมดา
- ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
- ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
- กองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
โดยบุคคลธรรมดาทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่ หรือ เสียชีวิตไปแล้ว หรือจะเป็นเด็ก สตรี ภิกษุ คนชรา หากมีเงินได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ตามเกณฑ์ของสรรพากร โดยเงินได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษี มีดังนี้
- เงิน
- ทรัพย์สินที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
- ประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
- เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายหรือผู้อื่นออกแทนให้
- เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด (ม.47ทวิ)
จะเห็นได้ว่าสรรพากำหนดครอบจักรวาลมาก เงินที่เป็นเงินต้องเสียภาษี เงินที่ไม่ใช่เงิน เช่น ทรัพย์สินที่จับต้องได้ หรือ ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (ประโยชน์) ก็ต้องเสียภาษีทั้งหมด โดยเกณฑ์การพิจารณาเงินได้ของบุคคลธรรมดา ใช้เกณฑ์เงินสด คือ ได้รับเงินสดปีไหน เสียภาษีปีนั้น
“ทำลายเงินได้สุทธิ” คำตอบของการวางแผนภาษี
วิธีคิดภาษีเงินได้ของสรรพากร = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยเงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ประเภทเงินได้ | ยอดรายรับ | วิธีการหักค่าใช้จ่าย | |
เหมาอัตราค่าใช้จ่าย | ตามที่จ่ายจริง | ||
เงินได้ 40(1) เงินเดือน | 672,000.00 | -100,000.00 | |
เงินได้ 40(2) ค่านายหน้า เงินประจำตำแหน่ง | |||
เงินได้ 40(3) ลิขสิทธิ์ | |||
เงินได้ 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล | |||
เงินได้ 40(5) รายได้ค่าเช่าทรัพย์สิน | |||
เงินได้ 40(6) วิชาชีพอิสระ | |||
เงินได้ 40(7) รับเหมาก่อสร้าง | 0.00 | ||
เงินได้ 40(8) อื่น ๆ เช่น ขายของออนไลน์ | 0.00 | ||
รวม | 672,000.00 | -100,000.00 | 0.00 |
รวมเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย | 572,000.00 | ||
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000.00 | ||
เหลือเงินได้สุทธิ | 512,000.00 |
Range of Net Income | Net Income | Tax Rate | Tax Amount |
1 – 150,000 | 150,000.00 | 0% | - |
150,001 – 300,000 | 150,000.00 | 5% | 7,500.00 |
300,001 – 500,000 | 200,000.00 | 10% | 20,000.00 |
500,001 – 750,000 | 12,000.00 | 15% | 1,800.00 |
75,0001 – 1,000,000 | - | 20% | - |
1,000,001 – 2,000,000 | - | 25% | - |
2,000,001 – 5,000,000 | - | 30% | - |
5,000,001 | - | 35% | - |
512,000.00 | 29,300.00 |
ดังนั้น หากต้องการประหยัดภาษี ต้องทำลาย “เงินได้สุทธิ” ให้เหลือให้น้อยที่สุด ซึ่งทำได้ 3 วิธีหลัก ๆ คือ
- ทำลายเงินได้พึงประเมิน คือ หาเงินได้ที่ไม่ใช่เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี เช่น เลือกออมเงินในประกันชีวิต เพราะผลประโยชน์จากประกันชีวิตไม่ต้องเสียภาษี แทนการฝากเงินธนาคารที่ดอกเบี้ยต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
- เพิ่มค่าใช้จ่าย ด้วยการย้ายเงินได้ไปอยู่เงินได้ประเภทที่หักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เช่น หากสามารถย้ายเงินได้บางส่วนไปเป็นค่าเช่าทรัพย์สินที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้สูงถึง 30% ของเงินได้
ประเภทเงินได้ | ยอดรายรับ | วิธีการหักค่าใช้จ่าย | |
เหมาอัตราค่าใช้จ่าย | ตามที่จ่ายจริง | ||
เงินได้ 40(1) เงินเดือน | 240,000.00 | -100,000.00 | |
เงินได้ 40(2) ค่านายหน้า เงินประจำตำแหน่ง | |||
เงินได้ 40(3) ลิขสิทธิ์ | |||
เงินได้ 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล | |||
เงินได้ 40(5) รายได้ค่าเช่าทรัพย์สิน | 432,000.00 | -129,600.00 | |
เงินได้ 40(6) วิชาชีพอิสระ | |||
เงินได้ 40(7) รับเหมาก่อสร้าง | 0.00 | ||
เงินได้ 40(8) อื่น ๆ เช่น ขายของออนไลน์ | 0.00 | ||
รวม | 672,000.00 | -229,600.00 | 0.00 |
รวมเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย | 442,400.00 | ||
หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว | 60,000.00 | ||
เหลือเงินได้สุทธิ | 382,000.00 |
Range of Net Income | Net Income | Tax Rate | Tax Amount |
1 – 150,000 | 150,000.00 | 0% | - |
150,001 – 300,000 | 150,000.00 | 5% | 7,500.00 |
300,001 – 500,000 | 82,400.00 | 10% | 8,240.00 |
500,001 – 750,000 | - | 15% | - |
75,0001 – 1,000,000 | - | 20% | - |
1,000,001 – 2,000,000 | - | 25% | - |
2,000,001 – 5,000,000 | - | 30% | - |
5,000,001 | - | 35% | - |
382,400.00 | 15,740.00 |
ทำให้เงินได้สุทธิเราลดน้อยลงจาก 512,000 บาท เหลือ 382,400 บาท เสียภาษีน้อยลงจาก 29,300 บาท เหลือ 15,740 บาท แต่ทั้งนี้ การย้ายประเภทเงินได้เพื่อหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น เราต้องมีกิจกรรมหาเงินได้ที่ตรงตามเงินได้ประเภทนั้นๆ
- เพิ่มค่าลดหย่อน คือ ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สรรพากรให้
อย่างเช่น ซื้อประกันชีวิต, RMF, SSF, Thai ESG เช่น เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาท หากซื้อ RMF, SSG, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ รวมกัน 600,000 บาท สามารถประหยัดภาษีได้ 150,000 บาท ที่สำคัญ คือ เงินที่ซื้อ RMF, SSF, TESG, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ เป็นเงินเก็บออม
เงินได้ | 2,000,000.00 | 2,000,000.00 |
ลดหย่อนส่วนตัว | 60,000.00 | 60,000.00 |
RMF | 200,000.00 | |
SSF | 100,000.00 | |
ประกันบำนาญ | 200,000.00 | |
ประกันชีวิต | 100,000.00 | |
เงินได้สุทธิ | 1,940,000.00 | 1,340,000.00 |
1.5 แสนบาทแรกไม่เสียภาษี | - | - |
1.5 แสนบาทถัดมา เสียภาษี 5% | 7,500.00 | 7,500.00 |
2 แสนบาทถัดมา เสียภาษี 10% | 20,000.00 | 20,000.00 |
2.5 แสนบาทถัดมา เสียภาษี 15% | 37,000.00 | 37,000.00 |
2.5 แสนบาทถัดมา เสียภาษี 20% | 50,000.00 | 50,000.00 |
ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษี 25% | 235,000.00 | 85,000.00 |
รวมภาษีที่ต้องชำระ | 350,000.00 | 200,000.00 |
ภาษีได้คืน | 150,000.00 |
การวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างประโยชน์มากมาย เช่น ช่วยประหยัดเงินภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐให้การสนับสนุน สร้างวินัยทางการเงิน ผ่านการลงทุนระยะยาว เช่น RMF SSF หรือประกันชีวิต ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงินในอนาคต เพราะเงินที่ประหยัดได้สามารถนำไปต่อยอดการลงทุน และยังช่วยลดความเครียดและความกังวลเรื่องการเงิน ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วย