logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

ชีวิตสุขไม่สะดุด ต้องวางแผนการเงินหลังเกษียณให้สุดปัง

โดย ธชธร สมใจวงษ์ นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่วันที่ 30 ต.ค. 2567

 

หากให้นึกถึงภาพการใช้ชีวิตหลังการเกษียณ เห็นภาพเป็นอย่างไร เมื่อจินตนาการรายละเอียดในด้านต่าง ๆ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ สังคมรอบข้าง การทำงานหรือทำธุรกิจ ทำงานต่อ ลดการทำงานลง ทำงานอดิเรก เดินทางท่องเที่ยว สุขภาพร่างกายและจิตใจ ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะต่าง ๆ ที่ใช้ แม้ว่าคำตอบจะแตกต่างกันไป แต่หลายสิ่งจะมีเงินเป็นส่วนประกอบ

 

การวางแผนการเงินหลังเกษียณ สำคัญไม่แพ้วางแผนการเงินก่อนเกษียณ

การวางแผนการเงินก่อนเกษียณเน้นเรื่องของการเก็บออม สะสมความมั่งคั่งเพื่อให้มีเงินทุนเป็นก้อนสำหรับการเกษียณ ในขณะที่หลังเกษียณสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญจะตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คือ การวางแผนการใช้จ่าย เนื่องจากช่วงหลังเกษียณโดยส่วนใหญ่แล้วจะมีรายได้จากการทำงานหลักที่ลดน้อยลง (หรือไม่มีเลย) และต้องเป็นการทยอยนำเงินทุนเกษียณออกมาใช้เป็นหลัก จึงมีความจำเป็นต้องหาจุดสมดุลให้ใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามรูปแบบที่ตัวเองต้องการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เกินฐานะทางการเงินจนอาจทำให้เกิดภาระตามมา ดังนั้น การวางแผนการเงินหลังเกษียณจึงมีความสำคัญมาก โดยมีเทคนิคเบื้องต้น ดังนี้

  1. คำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือน เริ่มจากการสำรวจภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทั้งรายจ่ายแบบคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่มีภาระผูกพันในการจ่ายชำระ เช่น ภาระหนี้สิน ค่าเบี้ยประกัน และค่าใช้จ่ายแบบผันแปร เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ค่าปรับปรุงที่อยู่อาศัย ค่าอุปการะเลี้ยงดู เงินทำบุญ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อให้ทราบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สะท้อนความเป็นจริงในการใช้ชีวิตได้มากที่สุด โดยสามารถเริ่มพิจารณารายจ่ายบางตัวที่สามารถปรับลดได้ และเริ่มลงมือควบคุมและจัดการรายจ่ายเหล่านั้น
  2. ประเมินแหล่งรายได้ต่าง ๆ เช่น รายได้จากค่าเช่า เบี้ยชราภาพ เงินบำนาญ ดอกเบี้ยจากเงินออม รายได้จากการลงทุน รายได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับ ภาระค่าใช้จ่ายในข้อแรก ประเมินความสอดคล้องของปริมาณเงินที่เตรียมไว้เพื่อให้ทราบกระแสเงินสดสุทธิที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นบวกหรือลบ ซึ่งจะทำให้วางแผนเตรียมการรับมือได้อย่างเหมาะสม
  3. จัดทำรายการสินทรัพย์และหนี้สิน ตรวจสอบรายการสินทรัพย์เพื่อบริหารจัดการ รวมถึงเพื่อทราบต้นทุนในการจัดการที่เกี่ยวข้อง เช่น อาจพิจารณาขายอสังหาริมทรัพย์ สิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มที่ เพื่อลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้อง และนำเงินสดที่ได้มาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น หรืออาจเป็นการโอนสินทรัพย์เหล่านั้นให้ทายาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนจัดการภาษีมรดก สำหรับรายการหนี้สิน ก็วางแผนจัดการผ่อนชำระตามลำดับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว
  4. แบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ และบริหารจัดการอย่างอิสระแยกจากกัน โดยใช้กลยุทธ์ Bucket Strategy โดยแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ (แต่ละ Bucket) และบริหารจัดการแต่ละส่วนแตกต่างกันตามระยะเวลาที่จะต้องใช้เงินแต่ละก้อนนั้น
  • Bucket ที่ 1 เก็บในรูปแบบเงินสด หรือทรัพย์สินความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงินที่มีสภาพคล่องใกล้เคียงเงินสดโดยเก็บสำรองไว้สำหรับถอนออกมาใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นจำนวนเงินที่พอใช้สำหรับระยะเวลา 2 - 3 ปีแรก เช่น หากมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท และสำรองไว้ใช้สำหรับ 2 ปี ก็แบ่งเงินไว้ส่วนนี้ ทั้งหมด 720,000 บาท และทยอยถอนเงินออกมาใช้จาก Bucket ที่ 1 ในแต่ละเดือนตามที่วางแผนไว้
  • Bucket ที่ 2 เก็บเงินส่วนที่เหลือ สำหรับการใช้ชีวิตในปีที่ 3 - 7 โดยเก็บในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ที่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น และสร้างกระแสเงินสดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า กองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้นปันผล กองทุนผสมที่มีนโยบายการสร้างกระแสเงินสด และเมื่อได้รับผลตอบแทนจากเงินส่วนนี้ ก็นำไปเติมเก็บไว้ใน Bucket ที่ 1 สำหรับการใช้จ่าย
  • Bucket ที่ 3 สำรองไว้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว เพื่อการใช้จ่ายในปีที่ 7 เป็นต้นไป สามารถเก็บในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น คาดหวังอัตราผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น เช่น หุ้นสามัญของบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโต และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี หรือกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก โดยต้องยอมรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างทางได้ โดยเงินส่วนนี้ มุ่งเน้นการลงทุนในระยะยาว เน้นให้มีการเติบโตเพื่อรักษาคุณภาพการใช้ชีวิต และสำหรับเป็นรายการใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูง เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยโรคร้ายแรง ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพต่าง ๆ

ในกรณีที่มีรายได้พิเศษ หรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุนจากเงินใน Bucket ที่ 2 และ 3 ก็สามารถนำเงินเหล่านั้นมาเติม Bucket ที่ 1 ให้มีจำนวนเงินที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายอยู่ตลอด โดยหากเกิดความผันผวนในการลงทุน สินทรัพย์ต่าง ๆ ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และทำให้มูลค่าของสินทรัพย์การลงทุนใน Bucket ที่ 2 และ ที่ 3 ปรับตัวลดลง จะยังสามารถใช้เงินที่อยู่ใน Bucket ที่ 1 สำหรับการใช้จ่ายประจำวัน โดยไม่ต้องขายสินทรัพย์ใน Bucket อื่นออกมาซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงการรับรู้การขาดทุน และสามารถถือครองสินทรัพย์ต่างๆ รอให้มูลค่าสินทรัพย์กลับมา หรือสูงขึ้นกว่าเดิมเมื่อวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือความผันผวนเหล่านั้นผ่านพ้นไป

  1. ติดตามดูแลสินทรัพย์การลงทุน สภาพเศรษฐกิจ และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเงินก้อนที่เตรียมไว้สำหรับการเกษียณ รวมถึงหมั่นทบทวนและปรับสัดส่วนเงินลงทุนใน Bucket ต่าง ๆ ให้เหมาะสมอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยแสวงหาโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ช่วยยืดระยะเวลาการใช้เงินได้นานขึ้น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ลงทุนอย่างระมัดระวังในสิ่งที่ตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับการรักษาเงินทุนสำหรับการเกษียณ และอย่าให้ความโลภในการได้ผลตอบแทนสูง ๆ หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับเงินก้อนที่เตรียมไว้สำหรับการเกษียณ

การวางแผนการเงินหลังเกษียณล่วงหน้าที่ดี จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เรามีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต และรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในรูปแบบที่ต้องการ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th