บทความ: เกษียณ
เทคนิคลงทุนหลังเกษียณ
วริศรา แสงอุไรพร นักวางแผนการเงิน CFP®
เผยแพร่วันที่ 29 ต.ค. 2567
หลังเก็บเงินเกษียณมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ก็ถึงช่วงเวลาเกษียณที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้ใช้เงินตามที่ต้องการ ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องทำงานเต็มเวลาอีกต่อไป แต่ก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของใครบางคนที่ไม่ได้เก็บเงินไว้มากพอ
ด้วยเหตุนี้ ก่อนเกษียณอาจมีคำถามกับตัวเองว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไรเพื่อมีเงินเพียงพอสำหรับยามเกษียณ? แต่หลังเกษียณอาจตั้งคำถามว่า ต้องจัดพอร์ตลงทุนอย่างไร เพื่อให้มีเงินใช้ได้เพียงพอตลอดชีวิต
ปัจจัยสำคัญที่วัยเกษียณควรคำนึงก่อนแบ่งเงินไปลงทุน
- ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ วัยเกษียณความสามารถในการรับความเสี่ยงจะลดลง ควรเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้คุณภาพดี หรือตราสารหนี้
- การสร้างรายได้ประจำ ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น หุ้นปันผล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือประกันบำนาญ ที่ให้ผลตอบแทนที่แน่นอนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว
- การปกป้องเงินต้น ลงทุนในสินทรัพย์ที่รักษาเงินต้น มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทที่เชื่อถือได้ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน
- การเติบโตระยะยาว เพื่อชนะเงินเฟ้อ ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มการเติบโตดีในระยะยาว เพื่อให้เงินโตชนะเงินเฟ้อ เช่น ลงทุนในหุ้นเติบโต หรือกองทุนรวมหุ้น
- สภาพคล่องของการลงทุน ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็วโดยที่มูลค่าไม่เปลี่ยนแปลง เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง สำหรับเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในกรณีฉุกเฉิน
- ระยะเวลาในการใช้เงิน เงินที่ใช้เกษียณในช่วง 1 - 2 ปี ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น พันธบัตรรัฐบาล ส่วนเงินที่ใช้ในการเกษียณอีก 10 ปีข้างหน้า ยังสามารถลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ เช่น ลงทุนในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ
- การกระจายการลงทุน กระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน และได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ควรมีการลงทุนทั้งในเงินฝาก กองทุนรวมตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้น และสินทรัพย์อื่น ๆ
ข้อควรระวังก่อนนำเงินไปลงทุนของวัยเกษียณ
- ขาดความรู้ในการลงทุน ไม่ลงทุนในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้หรือไม่มีประสบการณ์ เพราะอาจทำให้ลงทุนผิดพลาดและขาดทุนได้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
- การหลอกลวงให้ลงทุน ไม่ลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงหรือในบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น ต้องลงทุนผ่านบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เท่านั้น
- ความเสี่ยงในการสูญเสียเงินต้น ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงเกินไป เช่น คริปโตเคอร์เรนซี ตราสารอนุพันธ์ เก็งกำไรในหุ้นที่มีความผันผวน หรือลงทุนตามกระแส เพราะมีโอกาสสูญเสียเงินลงทุนสูงมาก
- ตัดสินใจลงทุนโดยไม่มีแผนล่วงหน้า ควรมีแผนการลงทุนระยะยาว และปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเงินและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
- ขาดการกระจายการลงทุน และจัดสรรสินทรัพย์ ไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดไปในสินทรัพย์เดียว ควรมีการกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์อย่างเหมาะสม เพื่อลดความผันผวนในการลงทุน และได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว
จัดพอร์ตลงทุนของวัยเกษียณ
- เงินที่ได้รับแน่นอนอย่างสม่ำเสมอทุกเดือนที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร เดินทาง ค่ายา ที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ โดยเตรียมจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกันบำนาญ เงินบำนาญชราภาพ ค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ หรือดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาล เพื่อมีความสงบทางใจว่าคุณจะมีเงินที่แน่นอนให้ใช้ยาวนานตลอดชีวิต
- เงินที่ได้รับจากการลงทุน เพื่อให้ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดี เงินที่นำไปลงทุนยังคงเติบโต ได้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ โดยมีการกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน
ตัวอย่าง การจัดพอร์ตลงทุน
- สินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เงินฝากประจำ กองทุนรวมตลาดเงินประมาณ 80% ของเงินลงทุนทั้งหมด
- สินทรัพย์เสี่ยงปานกลาง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ประมาณ 15% ของเงินลงทุนทั้งหมด
- สินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นประมาณ 5 % ของเงินลงทุนทั้งหมด
นอกจากนี้ วัยเกษียณสามารถจัดพอร์ตลงทุนด้วยกลยุทธ์ 3 ถัง
- ถังที่ 1 สำหรับใช้ใน 2 ปีแรก ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน หรือเงินฝาก
- ถังที่ 2 สำหรับใช้ในปีที่ 3 - 10 ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอ เช่น หุ้นกู้ REITs หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เมื่อได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลนำไปใส่เพิ่มในถังที่ 1
- ถังที่ 3 สำหรับใช้ตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงในระยะยาว เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ โดยนำเงินปันผลที่ได้ หรือผลตอบแทนส่วนเพิ่มไปใส่เพิ่มในถังที่ 1
ในช่วง 10 ปีแรกที่เกษียณควรลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง ทำให้มีเงินใช้ได้อย่างสบายใจ และช่วงหลัง 10 ปี ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินเฟ้อในระยะยาว
การลงทุนหลังเกษียณจะต้องมีการจัดสรรสินทรัพย์ให้มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถรักษาเงินต้น สร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ และสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่ดีพอชนะเงินเฟ้อ โดยไม่เสี่ยงมากเกินไป ทั้งนี้ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยให้ผู้เกษียณสามารถจัดพอร์ตการลงทุนได้อย่างเหมาะสมและมีเงินเพียงพอให้ใช้ตลอดชีวิต