logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

PVD ถอนเมื่อพร้อม ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างที่ฝัน

โดย วิภา  เจริญกิจสุพัฒน CFP®

เผยแพร่วันที่ 22 ต.ค. 2567

 

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจึงทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก ข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคม 2567 จากเว็บไซต์ “สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร” แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประชากรวัยใกล้เกษียณมีจำนวนมากขึ้นและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น สถานการณ์นี้ส่งผลให้แหล่งเงินหลังเกษียณที่พึ่งพาภาษีหรือเงินออมจากวัยทำงานอาจไม่เพียงพอในอนาคต ดังนั้น การบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมั่นคงและเป็นไปตามที่ฝันไว้

 

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำคัญต่อวัยเกษียณอย่างไร

แหล่งเงินได้ที่ให้ความมั่นใจได้ ไม่ว่าจำนวนประชากรทำงานจะลดลงเท่าไรก็ตาม คือ แหล่งเงินได้ที่มาจากการออมจากเงินของตัวเองในวัยทำงาน และเป็นเงินออมที่ไม่ขึ้นกับจำนวนประชากรวัยทำงาน เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ ฯลฯ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  (Provident Fund: PVD) คือ กองทุนภาคสมัครใจที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเก็บออมเงินให้ลูกจ้างไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุงานแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่นายจ้างมีให้ลูกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิเลือกที่จะเป็นสมาชิกกองทุนหรือไม่ก็ได้

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเงินที่พนักงานหัก “เงินสะสม” 2 - 15% ของเงินเดือน และนายจ้างเติมเงิน “สมทบ” 2%-15% ของเงินเดือน นำไปบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)

จุดเด่นของการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  1. นายจ้างช่วยเติมเงิน ถ้าลูกจ้างสะสม 15% ของเงินเดือน และนายจ้างเติมเงิน สมทบให้ 5% ของเงินเดือน เท่ากับได้ออมเพิ่มขึ้นทันที 33.33% (5% หาร 15%)
  2. เงินออมเพิ่มตามรายได้ เพียงกำหนดอัตราเงินสะสม จำนวนเงินออมเพิ่มตามรายได้
  3. ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ได้สิทธิ์ส่วนที่เป็นเงินสะสม 15% ของรายได้ ไม่เกิน 500,000 บาท รวมกับ RMF (Retirement Mutual Fund) ประกันบำนาญ และ SSF ไม่เกิน 500,000 บาท
  4. มีความปลอดภัยสูง เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่ละกองจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เงินปลอดภัยโดยโครงสร้างการบริหารจัดการที่ประกอบด้วยคณะกรรรมการกองทุนที่มีฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง, บลจ.ผู้นำเงินไปลงทุน, มีผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) เป็นบุคคลที่ 3 แยกจากผู้นำเงินไปลงทุน และมีผู้สอบบัญชีอนุญาตตรวจสอบรับรองงบการเงินของกองทุน
  5. เพิ่มโอกาสลงทุนได้ผลตอบแทนสูง การลงทุนระยะยาวและทยอยลงทุนสม่ำเสมอทุกเดือน ช่วยลดโอกาสขาดทุนและเพิ่มโอกาสได้ตอบแทนสูง เมื่อเลือกลงทุนในนโยบายที่มี หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ อยู่ในพอร์ต

 

ตัวอย่าง นายตื่นรู้ พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 25 ปี ต้องการเตรียมค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ตั้งแต่อายุ 60 – 85 ปี เดือนละ 20,000 บาท อัตราเงินเฟ้อ 3% ลงทุนในพอร์ตหลังเกษียณผลตอบแทนหลังหักภาษีแล้ว 2% เป้าหมายเงินเกษียณ ที่ต้องมีคือ19,888,984 บาท

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ (ค่าเงินปัจจุบัน)

240,000

อัตราเงินเฟ้อ

3%

เงินเกษียณปีแรก

675,327

ถอนจากพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

332,633

ผลตอบแทนคาดหวังหลังเกษียณ

2%

เป้าหมายเกษียณ

19,888,984

 

นายตื่นรู้เริ่มเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเงินเดือน 25,000 บาท อัตราการเพิ่มของเงินเดือนเฉลี่ย 5% ต่อปี สะสม 15% ของเงินเดือน ถึงอายุ 60 ปี นายจ้างสมทบ 5% เลือกนโยบายความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี

เงินสะสมหักจากเงินเดือนนายตื่นรู้ถึงอายุ 60 ปี เป็นเงิน 4,064,414 บาท และเงินสมทบนายจ้างเป็นเงิน 1,354,804 บาท รวมเป็นเงินต้นทั้งหมด 5,419,218 บาท

เงินสะสม สมทบและผลประโยชน์จากการลงทุนได้เงินประมาณ 9,737,001 บาท ขาดอีก 10 ล้านบาท สามารถออมเพิ่ม 20% ของรายได้ ในประกันบำนาญ RMF หรือแหล่งออมอื่น ๆ (ออม 35% ของรายได้ เท่ากับอัตราค่างวดผ่อนบ้านต่อรายได้ ที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อบ้าน ถ้าเชื่อว่าผ่อนบ้านอัตรานี้ได้ ก็สามารถออมได้)

 

เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถอนได้โดยไม่ติดเงื่อนไขเมื่อไร

เป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะถอนโดยไม่ติดเงื่อนไขภาษี กรณีถอนก่อน มี 2 ลักษณะคือ  เป็นสมาชิกไม่ถึง 5 ปี หรือเป็นสมาชิกเกิน 5 ปี และถอนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์

จำนวนเงินที่นำมาคำนวณภาษี คือ ส่วนนายจ้างสมทบและผลประโยชน์ทั้งหมด

  1. ถอนก่อนเป็นสมาชิกครบ 5 ปี ต้องนำไปรวมกับรายได้ปกติยื่นภาษีต้นปี
  2. เป็นสมาชิกเกิน 5 ปี และถอนก่อนอายุ 55 ปี บริบูรณ์ สามารถเลือกแยกยื่นเป็นใบแนบ ภงด.90/91 ได้ โดยแยกคำนวณจากเงินได้ปกติ

หากมีความจำเป็นต้องออกจากการเป็นสมาชิกก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เช่น ออกจากงาน ไม่ต้องการผิดเงื่อนไข มีทางเลือก 2 วิธี

  1. ขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำงานเดิม รอโอนไปไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทำงานใหม่
  2. โอนย้ายมาออมลงทุนต่อกับกองทุนรวม RMF for PVD

 

ทางเลือกวัยเกษียณในการถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้

หลังเกษียณจำเป็นต้องจดค่าใช้จ่าย และทำงบประมาณรายรับรายจ่ายใหม่ เนื่องจากโครงสร้างรายจ่ายเปลี่ยน และยังคงต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ ทยอยถอนต้นปีเท่ากับค่าใช้จ่ายในปีนั้น คงเงินไว้ในพอร์ตลงทุนมีวิธีบริหารจัดการหลายวิธี เช่น

  1. คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีค่าใช้จ่าย 500 บาทต่อปี ขอให้ผู้จัดการกองทุนจ่ายเป็นรายงวด ปรับสัดส่วนการลงทุนตราสารความเสี่ยงต่ำ 80 - 90% ตราสารความเสี่ยงสูง 10 - 20%
  2. ถอนทั้งก้อนบริหารแยกเงินเป็น 3 พอร์ต พอร์ต 1 ความเสี่ยงต่ำ, พอร์ต 2 ความเสี่ยงปานกลาง และ พอร์ต 3ความเสี่ยงสูง

ช่วงที่ 1 หลังเกษียณเริ่มถอนเงินจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำก่อน

ช่วงที่ 2 ปรับพอร์ต 2 เป็นความเสี่ยงต่ำ และพอร์ตที่ 2  3 เป็นความเสี่ยงปานกลาง ถอนเงินจากพอร์ตที่ 2

ช่วงที่ 3 ปรับพอร์ต 3 เป็นความเสี่ยงต่ำ ถอนเงินจากพอร์ตที่ 3

  1. ถอนทั้งก้อนไว้พอร์ตลงทุนจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 3.5 - 4% ของเงินต้น และเติบโต 2 - 3% ต่อปี

หลายคนที่มีประสบการณ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเห็นว่าเงินออมก้อนนี้เป็นเงินออมก้อนใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับเงินอ้อมก้อนอื่น ๆ เพราะเก็บอย่างเป็นระบบ เก็บแล้วเก็บเลย เก็บเพื่อเก็บ

การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือการออมที่มีประสิทธิผล สะดวก ง่าย และปลอดภัย นายจ้างช่วยเติมเงินสมทบ เงินออมเพิ่มตามรายได้ มีบลจ.ช่วยบริหารเงินให้เติบโต ปลอดภัยโดยโครงสร้างการบริหารจัดการ ช่วยให้ผู้มีรายได้ให้เวลากับการทำงานและครอบครัวได้อย่างสบายใจ และสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างที่ฝัน

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th