logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ภาษีและมรดก

เคล็ดลับวางแผนภาษีชาวฟรีแลนซ์

 

ในโลกของการทำงานอาชีพอิสระ หรือที่รู้จักกันดีว่าชาวฟรีแลนซ์ ซึ่งเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาส ทำให้การวางแผนภาษีเป็นเสมือนเข็มทิศที่ช่วยนำทางสู่ความสำเร็จทางการเงิน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการประหยัดเงิน แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญที่ไขสู่ความมั่นคงและการเติบโตในอาชีพ

เมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพฟรีแลนซ์ จะพบว่ารายได้จะไม่มีความแน่นอน บางเดือนอาจมีรายได้สูง บางเดือนมีรายได้น้อย แต่การวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้รับมือกับความไม่แน่นอนนี้ได้ เพราะไม่เพียงช่วยให้รักษาสภาพคล่องทางการเงิน แต่ยังเป็นเกราะป้องกันจากการลืมจ่ายภาษีได้

ในฐานะฟรีแลนซ์ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับผู้มีรายได้ประจำทั่วไป โดยเงินได้จะจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 2 หรือเงินได้มาตรา 40(2) และเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้มาตรา 40(8)

 

เงินได้ประเภทที่ 2 เป็นรายได้รูปแบบรับทำงานให้เป็นครั้งคราวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์เป็นเจ้านายลูกน้อง เช่น ค่าจ้างฟรีแลนซ์ ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ตัวแทนประกันภัย นายหน้าหาพื้นที่เช่า นายหน้าหางาน นายหน้านำเรือเข้าท่า ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตรกรรม การอุตสาหกรรม การขนส่ง วิทยากร การรับรีวิวสินค้า ออกแบบกราฟิก งานเขียนและแปลภาษา ค่าตอบแทนของพริตตี้ พิธีกร MC ผู้ประกาศข่าว พิธีกร นักจัดรายการวิทยุ ผู้จัดการส่วนตัวของนักแสดงอิสระ ผู้กำกับการแสดง

โดยในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทที่ 2 จะหักค่าใช้จ่าย ได้วิธีเดียว คือ หักแบบเหมา 50% ของเงินได้ แต่ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหากผู้มีเงินได้มีทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 ให้นำเงินได้ทั้ง 2 ประเภทรวมกัน แต่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท

ตัวอย่าง นาย ก. อาชีพฟรีแลนซ์ ปี 2567 ได้รับเงินจากการออกแบบปกนิตยสาร 400,000 บาท ก็จะหักค่าใช้แบบเหมา เท่ากับ 400,000 x 50% = 200,000 บาท แต่เนื่องจากกฎหมายหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทำให้ นาย ก. หักค่าใช้จ่ายปี 2567 ได้สูงสุดจำนวน 100,000 บาท จึงเหลือรายได้ 300,000 บาท

เมื่อได้จำนวนการหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ต้องนำไปหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท แสดงว่า นาย ก. มีเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีปี 2567 เท่ากับ 240,000 บาท (300,000 – 60,000)

จากอัตราภาษีแบบขั้นบันใด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้นาย ก. ได้รับการยกเว้น 150,000 บาทแรก ดังนั้น เหลือเงิน 90,000 บาท ในการเสียภาษี ทำให้ปี 2567 เสียภาษีเงินได้ 4,500 บาท (90,000 x 5%)

 

เงินได้ประเภทที่ 8 เป็นเงินได้จากธุรกิจการ พาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว ภัตตาคาร โรงพิมพ์ สีข้าว ตัดเย็บเสื้อผ้า ตัดผมเสริมสวย นักร้องนักแสดง ส่วนฟรีแลนซ์ที่มีรายได้และอยู่ในเงินได้ประเภทนี้เป็นที่นิยม คือ รายได้จากการเปิดร้านขายของออนไลน์

สำหรับการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทที่ 8 สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย 60% หรือตามจริง และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท แต่หากเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่าง นาย ข. เปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ ปี 2567 มีรายได้ 700,000 บาท เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่าย 60% ทำให้หักค่าใช้จ่ายได้ 420,000 บาท (700,000 x 60%) จึงเหลือรายได้ 280,000 บาท และเมื่อหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 60,000 บาท ทำให้มีเงินได้สุทธิ 220,000 บาท (280,000 – 60,000)  

จากอัตราภาษีแบบขั้นบันใด ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้นาย ข. ได้รับการยกเว้น 150,000 บาทแรก ดังนั้น เหลือเงิน 70,000 บาท ในการเสียภาษี ทำให้ปี 2567 เสียภาษีเงินได้ 3,500 บาท (70,000 x 5%)  

 

ขั้นตอนการวางแผนภาษีสำหรับชาวฟรีแลนซ์

  • รวบรวมรายได้ทั้งหมด จดบันทึกรายได้ทุกประเภทตลอดปีภาษี (มกราคม - ธันวาคม) แยกตามแหล่งที่มาและวิธีการคำนวณภาษี
  • เก็บหลักฐานค่าใช้จ่าย รวบรวมใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานตลอดปี เช่น ค่าสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าอุปกรณ์ ค่าโฆษณา เพื่อใช้เป็นหลักฐานหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงสำหรับรายได้ประเภท 40(8)
  • รวบรวมค่าลดหย่อน เก็บหลักฐานค่าลดหย่อนส่วนตัวและเงินบริจาคตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าเลี้ยงดูบุตร เบี้ยประกัน ดอกเบี้ยบ้าน เงินสะสมกองทุน SSF และ RMF
  • คำนวณภาษี นำรายได้ทั้งหมดมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน แล้วคำนวณภาษีตามอัตราแบบขั้นบันได 5 - 35% ของเงินได้สุทธิ
  • ยื่นแบบแสดงรายการ กรอกแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ 91 ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันกรมสรรพากร พร้อมแนบเอกสารประกอบ เช่น หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ใบเสร็จค่าลดหย่อน หลักฐานค่าใช้จ่าย
  • ชำระภาษี จ่ายภาษีที่คำนวณได้ภายในกำหนด หากมียอดภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม สามารถขอผ่อนชำระได้ 3 งวด

 

ประโยชน์การวางแผนภาษีของชาวฟรีแลนซ์ เมื่อมีรายได้หลายทาง

  • ช่วยให้ประหยัดเงินได้อย่างถูกกฎหมาย โดยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เช่น การลงทุนในกองทุน SSF RMF หรือ Thai ESG ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการทำงานหลายอย่างที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าเช่าพื้นที่ทำงาน หรือค่าพัฒนาทักษะวิชาชีพ
  • ช่วยจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น เมื่อทราบภาระภาษีที่ต้องจ่ายล่วงหน้า ก็สามารถวางแผนการเงินได้แม่นยำขึ้น ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเงินขาดมือเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายภาษี
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร เมื่อมีระบบบัญชีที่เป็นระเบียบ มีเอกสารครบถ้วน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีอย่างถูกต้อง จะมีความมั่นใจมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ
  • ช่วยให้มองเห็นภาพรวมทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น โดยจะเข้าใจว่ารายได้จากแต่ละช่องทางมีผลต่อภาษีอย่างไร ช่วยให้ตัดสินใจเรื่องการรับงานหรือการลงทุนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
  • ช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ เมื่อประหยัดภาษีได้อย่างถูกต้อง ก็จะมีเงินทุนมากขึ้นสำหรับการพัฒนาทักษะ การลงทุนในอุปกรณ์ใหม่ ๆ หรือการขยายธุรกิจได้
ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th