บทความ: ภาษีและมรดก
ก้าวแรกสู่การวางแผนภาษี ฉบับชาว First Jobber
เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ชาว First Jobbers อาจรู้สึกตื่นเต้นกับรายได้ก้อนแรกและความรับผิดชอบใหม่ ๆ ที่เข้ามา แต่อาจมองข้ามการวางแผนภาษี เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวหรือซับซ้อนเกินไป แต่ความจริงแล้วถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการวางแผนทางการเงิน โดยการวางแผนภาษีไม่เพียงแต่ช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงิน ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ผ่านการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเหมาะสม
จุดเริ่มต้นของการเสียภาษี รู้ไว้ไม่พลาด
การเริ่มต้นทำงานเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ขณะเดียวกันการเข้าใจเรื่องภาษีก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษีที่ผู้มีรายได้ต้องจ่ายจากรายได้ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส หรือรายได้อื่น ๆ ดังนั้น การรู้จักและเข้าใจภาษีจะช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเงินในอนาคต
การเตรียมตัวและวางแผนภาษีตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน จะช่วยให้สามารถจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ เช่น การลดหย่อนภาษีจากการลงทุนหรือการบริจาค การเข้าใจเรื่องภาษีจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยเหตุผลหลัก ๆ ที่ต้องวางแผนภาษี มีดังนี้
- ลดภาระภาษี การวางแผนภาษีช่วยให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ เช่น การลดหย่อนภาษีจากการลงทุน การบริจาค หรือการซื้อประกันชีวิต ซึ่งจะช่วยลดจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย
- การจัดการการเงินที่ดีขึ้น การวางแผนภาษีช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้ว่าควรเก็บเงินเท่าไร และควรใช้จ่ายอย่างไรเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
- หลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมาย การวางแผนภาษีช่วยให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายภาษีได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางกฎหมายหรือการถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร
- สร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว การวางแผนภาษีช่วยให้สามารถวางแผนการเงินในระยะยาวได้ดีขึ้น เช่น การลงทุนเพื่ออนาคต เก็บเงินเพื่อการเกษียณ หรือการวางแผนการเงินสำหรับครอบครัว
ชาว First Jobbers ยื่นภาษีทุกคนหรือไม่
กรมสรรพากร ได้กำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปี ต้องมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ ต่อเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด โดยการยื่นภาษี ไม่ได้หมายความว่าจะต้องจ่ายภาษีเสมอไป โดยมีเหตุผลดังนี้
- กรณีการยื่นภาษี เป็นเพียงการแสดงรายได้ที่ได้รับมาตลอดทั้งปี โดยการยื่นภาษีจะอยู่ในช่วงเดือนมกราคม -มีนาคม ของทุกปี หากเป็นผู้ที่มีรายได้จากงานประจำอย่างเดียว และเป็นผู้มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี โดยมีการกำหนดขอบเขตของรายได้ที่ต้องยื่นภาษีและต้องเสียภาษี ไว้ดังนี้
- เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
- เงินเดือนมากกว่า 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี และต้องเสียภาษี
- กรณีที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833.33 บาท และไม่ได้จ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีแต่ไม่ต้องเสียภาษี
- กรณีที่มีเงินเดือนเกิน 25,833.33 บาท และจ่ายเงินสมทบประกันสังคม ต้องยื่นภาษีและเสียภาษี
- กรณีการเสียภาษี เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาท เท่านั้น
สำหรับการคำนวณภาษี เริ่มต้นด้วยการคำนวณหาเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษี โดยนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี หักด้วยค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
สูตร เงินได้สุทธิตลอดทั้งปี
เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
ในการคำนวณภาระภาษีประจำปี ต้องพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน เริ่มจากการรวมรายได้ทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินเดือนที่ได้รับจากนายจ้าง จากนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และยังมีค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท อีกทั้ง ยังมีโอกาสลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวม การทำประกันชีวิต หรือการเข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว ก็จะได้ “เงินได้สุทธิ” ซึ่งเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกินกว่านั้น จะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5% ไปจนถึง 35% ตามระดับรายได้
ลดภาษี เพิ่มเงินออม
การลดหย่อนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญต่อการบริหารการเงิน โดยไม่เพียงแต่ส่งผลดีในระยะสั้นด้วยการช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายภาษี เงินที่ประหยัดได้จากการลดหย่อนภาษีสามารถนำไปลงทุน ซึ่งก่อให้เกิดผลตอบแทนและการเติบโตของเงินทุนในอนาคตด้วย โดยรายการลดหย่อนภาษี มีดังนี้
ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ลดหย่อนได้ 60,000 บาท คนไทยใช้ได้หมดไม่ว่าจะอยู่ในสถานะโสด แต่งงานแบบจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม
- ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส ลดหย่อนได้ 60,000 บาท โดยต้องเป็นคู่สมรสและจดทะเบียนสมรส และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ถึงจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนนี้
- ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร ให้สิทธิภรรยาผู้มีเงินได้ใช้ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท กรณีเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย สามารถหักลดหย่อนได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ถ้าเป็นบุตรบุญธรรม สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- อายุไม่เกิน 20 ปี
- ถ้าอายุ 21 – 25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
- บุตรมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี
- กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป จะสามารถลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนสำหรับเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเองและของคู่สมรส ถ้าต้องดูแลพ่อแม่ที่อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30,000 ต่อคน และสิทธินี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย หมายความว่า ถ้าดูแลพ่อแม่ตัวเอง และพ่อแม่แฟนด้วย จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีกรณีอุปการะผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ถ้าต้องดูแลผู้พิการที่บ้านไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ บุตร สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท แต่ผู้พิการหรือทุพพลภาพจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000บาท ด้วย และต้องมีหลักฐานว่าคุณเป็นผู้อุปการะจริง ๆ ผ่านใบรับรองแพทย์ หรือว่าบัตรประจำตัวคนพิการ
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
- ประกัน
- ประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท
- ประกันชีวิตทั่วไป ประกันสะสมทรัพย์ ไม่เกิน 100,000 บาท
เมื่อรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
- กลุ่มการลงทุน และประกันชีวิตเพื่อการเกษียณอายุ
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครู ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
จำนวนเงินลงทุนในหมวดหมู่นี้เมื่อรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา ถ้าทำประกันให้พ่อแม่ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และบิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วย
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท เป็นวงเงินแยกต่างหาก โดยไม่ต้องนับรวมกับเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ซึ่งเกณฑ์การถือครองหน่วยลงทุน ต้องถือหน่วยลงทุนเกินกว่า 5 ปีขึ้นไป (นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุน)
- เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม ถ้าทำธุรกิจเพื่อสังคมหรือซื้อหุ้นกลุ่มดังกล่าวตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป สามารถนำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป เช่น บริจาคให้วัดหรือมูลนิธิ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา การกีฬา การพัฒนาสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ และบริจาคเพื่อสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนภาษี
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงถึง 10,000 บาท
- ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ถ้ารัฐบาลมีโครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ หรือดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
ชาว First Jobbers อย่าเพิ่งคิดว่าเพราะเพิ่งเริ่มทำงานและอาจจะมีรายได้ไม่สูงนัก การวางแผนภาษีจึงไม่สำคัญ แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้เงินเดือนอาจจะยังไม่มาก แต่การเริ่มต้นวางแผนภาษีตั้งแต่วันนี้จะสร้างผลประโยชน์มหาศาลในระยะยาว ที่สำคัญการละเลยเรื่องภาษีอาจนำมาซึ่งผลเสียที่คาดไม่ถึง
- บทลงโทษทางการเงิน ถ้าไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามกำหนด มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท พร้อมเสียเบี้ยปรับ ไม่เกิน 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ ถ้ามีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ และถ้าหนีภาษี มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี พร้อมเสียเบี้ยปรับ 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย และ เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ
- ผลกระทบต่อประวัติทางการเงิน การมีประวัติการไม่ชำระภาษีอาจส่งผลเสียต่อการขอสินเชื่อในอนาคต เช่น การขอสินเชื่อบ้านหรือรถยนต์
- พลาดโอกาสประหยัดเงิน การไม่วางแผนภาษีทำให้คุณพลาดโอกาสในการใช้สิทธิลดหย่อนต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ต้องเสียเงินมากกว่าที่ควรจะเป็น
- ความเครียดและความกังวล การเพิกเฉยต่อภาษีอาจนำไปสู่ความเครียดและความกังวลในอนาคต เมื่อปัญหาสะสมมากขึ้น
การเริ่มต้นวางแผนภาษี ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง แต่ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับความมั่นคงทางการเงินในอนาคต เริ่มต้นวางแผนภาษีตั้งแต่วันนี้ เพื่ออนาคตที่สดใสกว่าในวันข้างหน้า