logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: ลงทุน

5 กับดักการลงทุนที่ First Jobbers ต้องระวัง

เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2567

 

การเริ่มการลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน เป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่จะทำให้เงินเติบโตเพิ่มมากขึ้น สร้างความมั่งคั่งและช่วยให้มีโอกาสได้รับอิสรภาพทางการเงินเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเริ่มต้นลงทุนเร็วจะมีข้อได้เปรียบ แต่มีกับดักที่ชาว First Jobbers มักเจอบ่อย ๆ และควรต้องระวังดังนี้

 

ไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน

ชาว First Jobbers หลายคนมีความตั้งใจจะออมเงิน แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนกลับพบว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น

ช็อปปิงออนไลน์จนลืมตัว ซึ่งปัญหาของการไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน

สำหรับการตั้งเป้าหมายทางการเงิน อาจใช้เทคนิคเรียกว่า บอร์ดภาพเป้าหมาย (Vision Board) ทำได้โดยรวบรวมภาพ คำคม หรือสัญลักษณ์ที่แทนเป้าหมายของตัวเอง แล้วจัดวางบนบอร์ดหรือในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งงานวิจัยของ Dr.Gail Matthews แห่ง Dominican University พบว่า การเขียนเป้าหมายและแสดงภาพประกอบเพิ่มโอกาสความสำเร็จถึง 42% โดยเทคนิคนี้สามารถช่วยพัฒนาเป้าหมายทางการเงินได้หลายวิธี

  • สร้างความชัดเจน การสร้างภาพของเป้าหมายทางการเงิน เช่น บ้านในฝัน การเกษียณอย่างสบาย ช่วยให้เห็นภาพเป้าหมายชัดเจนขึ้น ทำให้การวางแผนทำได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้น
  • เพิ่มแรงจูงใจ การเห็นภาพเป้าหมายทุกวันช่วยกระตุ้นแรงจูงใจ ทำให้มีกำลังใจในการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญความท้าทาย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยเตือนใจเกี่ยวกับเป้าหมายระยะยาว ทำให้ตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น เช่น ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อเก็บเงินลงทุน
  • จัดลำดับความสำคัญ การเห็นภาพรวมของเป้าหมายทางการเงินทั้งหมดช่วยให้จัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น ทำให้การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่สำคัญควรทบทวนเป้าหมายเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายก็อาจต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้มีทิศทางในการจัดการเงิน และทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ลงทุนโดยไม่มีความรู้เพียงพอ

ชาว First Jobbers อาจตื่นเต้นกับการมีรายได้เป็นของตัวเองครั้งแรก และอยากลองลงทุนบ้าง แต่การลงทุนโดยไม่ระมัดวังอาจเกิดความผิดพลาดและอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจพื้นฐานการลงทุน เช่น ความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภท การกระจายความเสี่ยง และการลงทุนแบบสม่ำเสมอต้นทุนเฉลี่ย (DCA)

นอกจากนี้ การเข้าใจจิตวิทยาการลงทุนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้เข้าใจกลไกการตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมถึงการติดตามข่าวสารเศรษฐกิจอยู่เสมอ ที่สำคัญ ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องรีบร้อนลงทุน สามารถเริ่มต้นด้วยการออมในบัญชีเงินฝาก ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ สะสมความรู้ไป เมื่อพร้อมแล้วค่อยเริ่มลงทุนจริงก็ไม่สาย

 

ไม่กระจายความเสี่ยง

“อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” ถือเป็นหัวใจของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่ชาว First Jobbers อาจมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้

หากลงทุนโดยไม่กระจายความเสี่ยงอาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด เช่น นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นตัวเดียว แล้วบริษัทประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจหลายปี ราคาหุ้นก็จะปรับลดลง ถ้ายังถือหุ้นต่อไปก็จะขาดทุน ดังนั้น ควรกระจายความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเงินลงทุน

  • กระจายประเภทสินทรัพย์ แบ่งเงินลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น กองทุนรวม พันธบัตร ทองคำ เพราะแต่ละประเภทมีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างกัน การผสมผสานจะช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตลงทุน
  • กระจายภูมิภาค ลงทุนในหลายประเทศหรือภูมิภาค เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ กองทุน ETFs หุ้นทั่วโลก
  • กระจายอุตสาหกรรม ลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีวงจรธุรกิจต่างกัน บางช่วงอุตสาหกรรมหนึ่งเติบโต ในขณะที่อีกอุตสาหกรรมซบเซา ซึ่งการกระจายการลงทุนจะช่วยรักษาสมดุลให้พอร์ตลงทุน
  • กระจายระยะเวลา ใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA โดยทยอยลงทุนสม่ำเสมอ แทนที่จะลงทุนครั้งเดียวทั้งก้อน วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาดผิดพลาด

สำหรับชาว First Jobbers ที่ลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก การเริ่มต้นด้วยกองทุนรวมที่มีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น กองทุนรวมดัชนี หรือกองทุน ETFs ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขาดทุน แต่เป็นวิธีช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้ดี

ที่สำคัญ ควรทบทวนและปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalancing) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้พอร์ตลงทุนยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

ใจร้อนและตัดสินใจด้วยอารมณ์

เมื่อชาว First Jobbers เห็นราคาหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ตัดสินใจเข้าซื้อทันทีด้วยความตื่นเต้น หรือชาว First Jobbers ซื้อหุ้น 2 ตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรวดเร็วก็รีบขายออกทั้งหมดด้วยความกลัว โดยสองกรณีดังกล่าวเป็นการตัดสินใจลงทุนด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อย ๆ

ผลลัพธ์ของการลงทุนด้วยอารมณ์มักจะมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนได้สูง หรือพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น การลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้

  • มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน กำหนดเป้าหมาย ระยะเวลา และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดความผันผวน จะได้มีหลักยึดและไม่ตัดสินใจผิดพลาดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
  • ใช้หลักการ DCA ทยอยลงทุนสม่ำเสมอ ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง วิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันจากการจับจังหวะตลาด และลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดเพราะอารมณ์
  • เข้าใจ Behavioral Finance ศึกษาเรื่องจิตวิทยาการลงทุน เช่น กลัวการขาดทุนมากกว่าความดีใจเมื่อได้กำไร หรือ การทำตามคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล เพราะเมื่อเข้าใจว่าสมองมีอคติแบบไหน ก็จะระวังตัวได้มากขึ้น
  • ใช้เครื่องมือช่วยตัดสินใจ เช่น การตั้ง Stop Loss หรือ Take Profit ไว้ล่วงหน้า เพื่อจำกัดการขาดทุนหรือล็อกกำไร โดยไม่ต้องใช้อารมณ์ตัดสินใจในช่วงที่ตลาดผันผวน
  • พักสักครู่ก่อนตัดสินใจ เมื่อรู้สึกว่ากำลังจะตัดสินใจด้วยความกลัวหรือความโลภ ลองหยุดพัก นับ 1 ถึง 10 หรือเดินออกไปดื่มน้ำสักแก้ว แล้วกลับมาทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งด้วยเหตุและผล
  • จดบันทึกการลงทุน บันทึกเหตุผลที่ตัดสินใจลงทุนหรือขายในแต่ละครั้ง รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก เมื่อกลับมาอ่านภายหลัง จะเห็นรูปแบบการตัดสินใจของตัวเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ดีขึ้น
  • มองภาพใหญ่ เมื่อตลาดผันผวน ลองถอยออกมามองภาพใหญ่ อาจพบว่าความผันผวนระยะสั้นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนเส้นทางการเติบโตระยะยาว

อย่าลืมว่าการลงทุนต้องอาศัยทั้งความรู้และการควบคุมอารมณ์ การฝึกฝนและสร้างวินัยในการลงทุนอาจต้องใช้เวลา ถ้าทำได้จะเกิดความคุ้มค่า เพราะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการลงทุน แต่ยังช่วยให้ตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ ของชีวิตได้ดีขึ้นด้วย

 

ละเลยการวางแผนภาษีและประกัน

ชาว First Jobbers ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีและประกันควบคู่ไปกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปกป้องความมั่งคั่งที่ตัวเองสร้างขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการเงิน

การวางแผนภาษี

  • รู้จักสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ที่ช่วยลดหย่อนภาษี แต่ต้องระวังเงื่อนไขการถือครองด้วย
  • ลดหย่อนด้วยเงินบริจาคกรณีต่าง ๆ การทำบุญนอกจากจะได้บุญกุศลแล้ว ใบอนุโมทนาหรือใบเสร็จเงินบริจาคยังสามารถนำมาช่วยให้ผู้มีเงินได้จ่ายภาษีน้อยลงอีกด้วย
  • ศึกษาสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีกรณีพิเศษจากภาครัฐ ถึงแม้การลดหย่อนกรณีพิเศษอาจเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่หากภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษี กรมสรรพากรก็จะเข้ามาจัดรายการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยการลดหย่อนภาษีให้หรือขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษี
  • ติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี กฎหมายภาษีมักมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ควรติดตามข่าวสารและปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ๆ

การวางแผนประกัน

  • ประกันชีวิต ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตัวเอง ก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
  • ประกันสุขภาพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหากเจ็บป่วย ซึ่งอาจกระทบกับแผนการลงทุนของตัวเองได้
  • ประกันอุบัติเหตุ เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงานหรือการเดินทาง
  • ประกันทรัพย์สิน หากมีทรัพย์สินมีค่า เช่น บ้าน รถยนต์ การทำประกันจะช่วยป้องกันความเสียหายทางการเงินหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th