logo
  • หน้าหลัก
  • เกี่ยวกับสมาคม
  • ประเภท/สิทธิประโยชน์ของสมาชิก
  • เอกสารดาวน์โหลด
  • แหล่งข้อมูล
  • FAQ
  • ติดต่อเรา
Previous Next
แหล่งข้อมูล
  • ประกาศสมาคม
  • ข่าวสมาคม
  • กิจกรรมสมาคม
  • เอกสารเผยแพร่
  • วิดีโอ
  • หน่วยงานพันธมิตร
บทความ: เกษียณ

Steps ค้นหาเงิน 3 ก้อนเพื่อเกษียณสุข

กชจุฑา เพียรวนิช นักวางแผนการเงิน CFP®

เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2567

 

คำว่าเกษียณอาจฟังดูไกลตัวสำหรับคน GEN Z (เกิด พ.ศ.2540-2565) หรือ GEN Y (เกิด พ.ศ. 2523-2540)  แต่อาจใกล้ตัวสำหรับคน GEN X (เกิด พ.ศ. 2508-2522) จนหลายๆ คนลืมให้ความสำคัญในการวางแผนเกษียณ เกษียณไม่จำเป็นต้องเป็นคนแก่หรือคนอายุ 60 ปี แต่จริงๆ แล้ว การเกษียณ หมายถึง “วันที่คุณเป็นอิสระ” อิสระจากความกังวลเรื่องเงิน อิสระจากการทำงานประจำ อิสระที่จะเลือกใช้ชีวิตในแบบที่คุณต้องการ อิสระในการเลือกมีช่วงเวลาดีดีให้กับครอบครัวและเพื่อน ดังนั้นถ้าคุณมองเรื่องอิสระที่จะควบคุมชีวิตตัวเองได้ คุณควรเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่ตอนนี้เพราะการวางแผนเกษียณต้องใช้เวลาใช้ความสม่ำเสมอในการเก็บเงินและลงทุนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างกระแสเงินสดหรือรายได้ในอนาคตให้กับคุณ

 

คุณสามารถเริ่มวางแผนเกษียณด้วยหลักการง่ายๆที่คุณสามารถจัดสรรเงินได้เอง ด้วยวิธีหาเงิน 3 ก้อน คือ อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต

 

ก้อนที่ 1: เงินในอดีตคือเงินเก็บที่ผ่านมา

รวบรวมเงินออม เงินลงทุน ทรัพย์สินทั้งหมดที่คุณมี เช่น เงินฝากธนาคาร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวม สลากออมสิน ทองคำ บ้าน ที่ดิน เป็นต้น เพื่อเตรียมไปคำนวณเงินในอนาคตสำหรับเกษียณ

 

ก้อนที่ 2: เงินในอนาคตคือเงินก้อนที่ใช้หลังเกษียณ

ตอบคำถามตัวเอง 3 ข้อนี้ให้ได้ก่อน

  1. ต้องการเกษียณ (อิสระ) อายุเท่าไร
  2. คุณอยากมีเงินใช้หลังเกษียณต่อเดือนเท่าไร? และ
  3. อายุที่คุณคาดว่าจะจากโลกนี้ไป

การประเมินเงินใช้หลังเกษียณมี 2 วิธี 1. ประเมินจากรายได้ในปัจจุบัน หรือ 2. ประเมินจากค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตามถ้าคุณอายุน้อยหรืออยู่ในวัย GEN Z  การใช้รายได้ในปัจจุบันประเมินอาจไม่สมเหตุสมผล เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตอีกยาวไกล รายได้เพิ่มมากขึ้นน้อยลง ดังนั้นผู้เขียนแนะนำให้คาดการณ์เงินใช้หลังเกษียณ จากระดับค่าใช้จ่ายในปัจจุบันจะเหมาะสมกว่า

ประเมินจากค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น อาหาร เดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าซ่อมรถ ซ่อมบ้าน และประกันสุขภาพ เป็นต้น รวมกับค่าใช้จ่ายผันแปร เช่น ค่าช็อปปิง ท่องเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ของคุณ เป็นต้น

 

ก้อนที่ 3: เงินปัจจุบันคือ ความสามารถในการเก็บออมจากรายได้ของคุณในปัจจุบัน

เงินที่คุณสามารถแบ่งมาวางแผนเกษียณอย่างน้อย 15% ของรายได้ก่อนเสียภาษี เพื่อให้ถึงเป้าหมายตามก้อนที่ 2

 

ตัวอย่าง  คุณโฟกัส สาวโสดอายุ 40 ปี ทำธุรกิจส่วนตัวรายได้เฉลี่ยประมาณ 120,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายปัจจุบัน 70,000 บาทต่อเดือน คุณโฟกัสต้องเกษียณอายุตอน 55 ปี และต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาทจนถึงอายุ 90 ปี

เริ่มต้นหาเงินก้อนที่ 1: เงินเก็บในอดีต คุณโฟกัส มีเงินเก็บฉุกเฉิน 600,000 บาท เงินเก็บในกองทุนรวมและสลากออมสิน 1,500,000 บาท

ก้อนที่ 2: เงินก้อนที่ใช้หลังเกษียณ

คำนวณหาเงินก้อนที่ต้องมี ณ วันเกษียณ ปัจจุบันอายุ 40 ปี เกษียณ 55 ปี มีเวลาเก็บเงิน 15 ปี รายได้ที่ต้องการ 50,000 บาท/เดือนหรือ 600,000 บาท/ปี และใช้เงินก้อนนี้เป็นเวลา 35 ปี (อายุ 55 – 90 ปี)

คำนวณหารายได้หลังเกษียณ

เงินก้อนที่คุณโฟกัสต้องมี ณ อายุ 55 ปี

คือ 600,000 บาท x 35 ปี = 21 ล้านบาท เงินก้อนนี้ไม่ได้คำนวณเงินเฟ้อเข้าไปด้วย

ถ้าคำนวณเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี จำนวนเงินที่โฟกัสต้องเก็บเท่ากับ 27,771,992 บาท

ก้อนที่ 3: เงินปัจจุบันใช้สำหรับวางแผนเกษียณ

คุณโฟกัสคำนวณเงินเกษียณที่ต้องมีคือ 21 ล้านบาท ต้องวางแผนเก็บเงินให้ได้ตามนี้ ลำดับแรกดูเงินที่เตรียมเก็บไว้อยู่แล้ว เงินก้อนที่ 1 = 1,500,000 บาท (ไม่รวมเงินฉุกเฉิน) นำเงิน 1.5 ล้านบาทไปลงทุนในกองทุนได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ลงทุนเป็นเวลา 15 ปี เงินลงทุนเติบโตเท่ากับ 3.1 ล้านโดยประมาณ

ดังนั้นเงินที่ต้องคำนวณเก็บเพิ่ม = เงินก้อนที่ 2 (อนาคต) – เงินก้อนที่ 1(อดีต)

= 21 ล้านบาท หัก 3.1 ล้านบาท  เท่ากับประมาณ 17.8 ล้านบาท

(ขอประมาณตัวเลขกลมๆ ที่ 18 ล้านบาท เพื่อง่ายต่อการคำนวณ)

 

ดังนั้นคุณโฟกัสต้องเก็บเงินเพิ่มปีละ 1ล้าน 2 แสนบาทโดยประมาณหรือ เดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี (อายุ 40-55 ปี) เพื่อจะมีเงินก้อนเกษียณ 18 ล้านบาท จากตัวเลขเก็บเงิน 100,000 บาท/เดือน (เท่ากับ 83% ของรายได้) เป็นตัวเลขที่สูงเกินกว่าที่คุณโฟกัสจะสามารถเก็บออมได้ คุณโฟกัสสามารถปรับเปลี่ยนแผนเกษียณใหม่ ได้ 3 ทางเลือก คือ

1. เลื่อนอายุเกษียณออกไป หรือ

2. นำเงินเก็บไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มมากกว่าเดิม

3. เลื่อนอายุเกษียณออกไปและหาผลตอบแทนการลงทุนเพิ่มด้วย

 

ทางเลือก 1: เลื่อนอายุเกษียณจาก 55 ปีเป็น 60 ปี

เงินก้อนที่ต้องใช้หลังเกษียณ เท่ากับ 600,000 x 30 = 18,000,000 บาท

หักเงินออมที่มี (1,500,000 บาทลงทุน 5% ต่อปี ระยะเวลา 20 ปี) เท่ากับ 3.9 ล้านบาท

เหลือเงินที่ต้องออมเพิ่ม เท่ากับประมาณ 14 ล้านบาท ดังนั้นคุณโฟกัสต้องเก็บเงินเพิ่มประมาณ 7 แสนบาท/ปี หรือเดือนละ58,416 บาท เป็นเวลา 20 ปี (อายุ 40-60 ปี) เพื่อจะมีเงินก้อนเกษียณ 14,020,054 บาท

 

ทางเลือก 2: เกษียณอายุ 55 ปีเหมือนเดิม แต่ต้องนำเงินเก็บไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเพิ่ม

เงินออมที่ต้องเก็บเพิ่ม 18 ล้านบาท เก็บเงินเป็นเวลา 15 ปี (อายุ 40-55 ปี) นำเงินออมไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี คุณโฟกัสจะต้องเก็บเงินปีละประมาณ  6 แสนบาท/ปี หรือเดือนละ 55,786 บาท

จะเห็นว่ายิ่งหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้มากขึ้น จะทำให้เก็บเงินต่อเดือนน้อยลง ในทางตรงกันข้ามถ้าหาผลตอบแทนได้น้อยก็ต้องเก็บเงินต่อเดือนมากขึ้น

 

ทางเลือกที่ 3: เลื่อนอายุเกษียณเป็น 60 ปีและนำเงินเก็บไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเพิ่ม

เงินออมที่ต้องเก็บเพิ่มประมาณ 14 ล้านบาท เก็บเงินเป็นเวลา 20 ปี (อายุ 40-60 ปี) นำเงินออมไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี คุณโฟกัสจะต้องเก็บเงิน ปีละสามแสนบาทโดยประมาณ หรือเดือนละ 26,634 บาท

 

จากแผนเกษียณของนางสาวโฟกัสจะทำให้คุณพบว่าปัจจัยสำคัญในการวางแผนเกษียณมี 3 อย่างคือ

  1. จำนวณเงินเก็บรายเดือนหรือรายปี (เงินต้น)
  2. ระยะเวลาการลงทุน
  3. ผลตอบแทนจากการลงทุน

ปัจจัยทั้ง 3 มีผลต่อเงินก้อนสำหรับการเกษียณทั้งสิ้น เช่น ถ้าจำนวนเงินเก็บเท่ากัน การลงทุนระยะเวลานานกว่าและหาผลตอบแทนได้มากกว่าเงินเติบโตมากกว่า  หรือ ระยะเวลาลงทุนเท่ากัน จำนวนเงินเก็บและผลตอบแทนสูงจะทำให้เงินเติบโตมากกว่า เป็นต้น

 

ดังนั้นไม่ว่าตอนนี้คุณจะอายุเท่าไหร่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นวางแผนเกษียณ ขอให้คุณเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพราะความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต ไม่แน่ว่า งานที่คุณทำวันนี้อาจจะหายไปในวันพรุ่งนี้หรือคุณอาจเจ็บป่วยกะทันหัน ดังนั้นวางแผนเกษียณตามที่คุณต้องการ ดีกว่าเกษียณด้วยความจำเป็นเพราะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดบังคับให้คุณต้องเกษียณ

ติดตามข่าวสารของสมาคมได้ทาง

   ประกาศความเป็นส่วนตัวการใช้งานคุ๊กกี้        ประกาศความเป็นส่วนตัว        แผนผังเว็บไซต์
สงวนลิขสิทธิ์ 2560 สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
CFP®,CERTIFIED FINANCIAL PLANNER™, and are trademarks owned outside the U.S. by Financial Planning Standards Board Ltd.
Thai Financial Planners Association is the marks licensing authority for the CFP marks in Thailand, through agreement with FPSB.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ชั้น 6 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
93 ถนนรัชดาภิเษก แขวงดินแดง เขตดินแดง
กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์: 0 2009 9393
Website: www.tfpa.or.th